กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังพบวัตถุออกฤทธิ์ตัวใหม่ ปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนัก
advertisement
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังการปนปลอมของ desoxy-D2PM วัตถุออกฤทธิ์ใหม่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคุมน้ำหนัก ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่ไม่เคยพบ ในประเทศไทยมาก่อน และพบครั้งแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากการตรวจพบการใช้สารดังกล่าว ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 4 ยี่ห้อ การใช้สารนี้เป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุม
advertisement
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ในรูปแบบของแคปซูล เม็ด ผง หรือของเหลว โดยจะต้องมีองค์ประกอบและปริมาณที่ปลอดภัยในการบริโภคระยะยาว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนักส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ มีคุณสมบัติเพิ่มการเผาผลาญในร่างกาย หรือทำให้อิ่มนาน ซึ่งจะต้องมีการแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบไว้ในฉลาก
advertisement
เมื่อเดือนกันยายน 2560 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ ที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน คือ desoxy-D2PM ปนปลอมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักยาและวัตถุเสพติดจึงได้เฝ้าระวังการปนปลอมของสารตัวนี้อย่างต่อเนื่อง และตรวจพบ desoxy-D2PM ปนปลอมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มอีก 4 ตัวอย่าง นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงยังตรวจพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นำเข้าจากประเทศไทย
advertisement
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า desoxy-D2PM เป็นสารสังเคราะห์ เป็นอนุพันธ์ของกลุ่ม Pipradrols มีสูตรโครงสร้างคล้ายกับสารในกลุ่มแอมเฟตามีนส์ ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้มสุข ลดความอยากอาหารโดยยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง ไม่พบประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อให้เกิดอาการวิตกกังวล หวาดระแวง นอนไม่หลับ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้ในปริมาณที่เกินขนาด อาจส่งผลต่อระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
advertisement
“สาร desoxy-D2PM นั้นถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดแล้วในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สวีเดน แต่ยังไม่มีการควบคุมสารนี้ทางกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้นำเสนอข้อมูลนี้ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการทางกฎหมาย กำหนดเป็น วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เนื่องจากไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และมีแนวโน้มการนำมาใช้ในทางที่ผิดสูง ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาควบคุมทางกฎหมาย” นายแพทย์สุขุมกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์