กระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน รักษาอย่างไร?
advertisement
คนเราเมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้นก็เริ่มมีความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้หญิง หนึ่งในปัญหาความเสื่อมของร่างกายนั้นก็คือภาวะกระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน ที่พบกันได้บ่อยๆ ปัญหาของภาวะนี้ไม่ถึงขนาดทำให้เสียชีวิตได้ เพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญ และบั่นทอนความมั่นใจได้ในเวลาทำกิจวัตรประจำวัน อย่างอาการควบคุมปัสสาวะไม่ได้ ปวดหน่วงๆ เป็นเช่นนี้จะมีแนวทางการดูแลรักษาอย่างไรบ้าง มาดูกันพร้อม Kaijeaw.com ค่ะ
กระบังลม คือ กล้ามเนื้อชุดหนึ่งคอยพยุงอวัยวะต่างๆ เอาไว้ เราเรียกกล้ามเนื้อนี้ว่า "กล้ามเนื้อกระบังลม" ซึ่งประกอบด้วย กล้ามเนื้อต่างๆ หลายสิบมัดยึดติดประสานกัน ที่มีลักษณะคล้ายเปลญวน ทำหน้าที่เหมือนพื้นรองของไม่ให้หล่นลงมา
สาเหตุกระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน
กล้ามเนื้อกระบังลมจะมีรูหรือช่องว่างเผื่อไว้ให้อวัยวะอย่างช่องคลอด ท่อปัสสาวะและรูทวารหนักผ่านออกมาเพื่อทำหน้าที่ตามปกติ ด้วยเหตุนี้กล้ามเนื้อกระบังลมจึงมีความแข็งแรงมาก แต่ความแข็งแรงนี้ก็ย่อมเสื่อม ย่อนคล้อยและขาดความแข็งแรงได้จากสาเหตุต่างๆ ที่สำคัญที่สุดที่คือหญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์และคลอดแบบธรรมชาติหลายครั้ง จะทำให้กล้ามเนื้อชุดนี้ถูกยืดขยายและหย่อนยานได้ ยิ่งคลอดมาก กล้ามเนื้อก็จะยิ่งหย่อนมาก นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นเช่น
– การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่แรกสาว
– การไอเรื้อรัง การเบ่งอุจจาระแรงๆ
– โรคอ้วน น้ำหนักเกิน
– ภาวะพร่องฮอร์โมนในวัยทอง
– เคยรับการผ่าตัดบริเวณอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอด
[ads]
อาการของกระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน
อาการของกระบังลมหย่อนมีได้มากมาย ขึ้นอยู่กับชนิดของอวัยวะที่หย่อน และความรุนแรงของการหย่อนที่พบบ่อยได้แก่
– อาการหน่วงในช่องคลอด มักพบในรายที่มีการหย่อนของผนังช่องคลอดหรือมดลูกเพียงเล็กน้อย หากสูตินรีแพทย์ไม่สังเกตหรือตรวจอย่างละเอียด อาจไม่พบความผิดปกตินี้ได้
– มีก้อนเนื้อโผล่มาตุงที่ปากช่องคลอด หรือหลุดออกมานอกช่องคลอด บางรายก็แค่คลำได้ในช่องคลอด บางรายมองเห็นที่ปากช่องคลอดเลยก็มี ก้อนเนื้อที่เห็นอาจเป็นผนังช่องคลอด หรือปากมดลูก หรือตัวมดลูกทั้งอันเลยก็ได้ แล้วแต่ความรุนแรงของภาวะกระบังลมหย่อน
– เจ็บ แสบ มีแผล หรือมีเลือดออกบริเวณปากช่องคลอด ส่วนมากมักจะพบในรายผนังช่องคลอด ปากมดลูกหรือมดลูกโผล่ออกมานอกช่องคลอดและถูกเสียดสีกับอวัยวะข้างเคียง เช่น ต้นขา ปากช่องคลอด ทำให้เกิดแผลถลอก มีเลือดออกตามมา บางรายทิ้งไว้นานอาจกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ลุกลามจนปวดทรมานมากได้ ซึ่งกรณีหลังนี้มักพบในสตรีที่มีโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว
– มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ ซึ่งมีได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหากระบังลมหย่อน อาการปัสสาวะบ่อย เวลา ไอ จามหรือออกแรง จะเกิดปัสสาวะเล็ดหรือบางรายถ่ายปัสสาวะไม่ออก เวลาจะถ่ายปัสสาวะสักครั้ง ต้องเอามือดันมดลูกเข้าไปก่อนจึงจะถ่ายได้ เป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานไม่น้อย
[yengo]
การดูแลรักษากระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน
1. ออกกำลังกายโดยการขมิบก้น นอกจากจะเป็นวิธีการรักษาแล้วยังเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดอีกด้วย เหมาะสำหรับรายที่เป็นไม่รุนแรง การบริหารกล้ามเนื้อกระบังลมด้วยวิธีง่ายนี้ จะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมต้องมีการหดรัดตัว ทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวมีการหนาตัว ตึงตัว และแข็งแรงขึ้น เหมือนกล้ามเนื้อแขนที่ใหญ่และแข็งแรงขึ้น
วิธีการขมิบก้นที่ได้ผล แนะนำว่าต้องขมิบให้แรงพอและนานพอ ซึ่งทดสอบได้ง่ายๆ โดยขณะที่ทำการถ่ายปัสสาวะให้ลองขมิบก้นให้แรง จนปัสสาวะหยุดไหล เวลาขมิบจริงให้ใช้ความแรงประมาณนั้น แต่ไม่ควรทำตอนถ่ายปัสสาวะ เพราะจะทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือถ่ายปัสสาวะลำบากในภายหลังได้ สามารถทำเวลาไหนก็ได้ เริ่มทำอย่างน้อยวันละ 30-50 ครั้งๆ ละ 5-10 วินาที จากนั้นค่อยๆ เพิ่มจำนวนที่ทำได้ไหววันละ 100 ครั้ง ทำไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ถึงจะเห็นผล
2. การผ่าตัดรักษา จะทำในรายที่เป็นรุนแรง มีการหย่อนของผนังช่องคลอดหรือมดลูกค่อนข้างมาก การผ่าตัดอาจทำเพียงแค่ตัดผนังช่องคลอด ส่วนที่หย่อนยานทิ้งแล้วเย็บซ่อมให้แข็งแรง หรืออาจต้องตัดมดลูกทิ้ง ร่วมไปด้วยในกรณีที่มดลูกหย่อนและยื่นลงมาค่อนข้างมาก
การป้องกันกะบังลมหย่อน มดลูกหย่อน
เป็นสิ่งที่สำคัญและดีที่สุด ยิ่งถ้ามีการป้องกันตั้งแต่อายุน้อย ความสำเร็จก็จะมากขึ้น
1. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
2. ฝึกการขับถ่าย ไม่ให้มีภาวะท้องผูก
3. ป้องกัน รักษา ควบคุม การไอเรื้อรัง
4. ฝึกขมิบช่องคลอดเป็นประจำ สามารถทำได้ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ต้องต้องรอให้อายุมากจึงมาฝึกขมิบ สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด และควรทำเป็นประจำไปเรื่อยๆ ตลอดไป
5. หลีกเลี่ยงการมีบุตรที่มากเกินไป
เพื่อสุขภาพที่ดีควรหมั่นสังเกตและหาวิธีป้องกัน หากว่าคุณมีความสงสัยว่าเข้าสู่ภาวะกระบังลมหย่อน มดลูกหย่อน เพื่อความมั่นใจควรเข้าพบสูตินรีแพทย์ เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด และชี้ชัดได้ว่าคุณมีอาการกระบังลมหย่อนและรุนแรงระดับใด จะได้ทำการรักษาและแนะนำการดูแลรักษาตนอย่างถูต้องค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com