พิกุล ดอกไม้เป็นยาที่คุณคาดไม่ถึง!!
advertisement
คนไทยเรารู้จักกับต้นพิกุลเป็นอย่างดีกันนะคะ คนไทยนิยมปลูกตามความเชื่อโบราณที่ว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ส่วนดอกพิกุลมีความพิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมมากๆ นิยมนำมาอบขนมจะได้กลิ่นหอมอร่อย หรืออบน้ำทำน้ำอบไทยก็ได้ พิกุลนั้นยังมีสรรพคุณของยาสมุนไพรมากมาย อีกทั้งนำมาเป็นส่วนประกอบเข้าเครื่องยาตำรับต่างๆ น่าสนใจมากเลยทีเดียวค่ะ
วิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.
ชื่อสามัญ : Bullet wood
วงศ์ : SAPOTACEAE
ชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่น : ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล, พิกุลทอง เป็นต้น
[ads]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพิกุล
ลำต้น : ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8-15 ม. เรือนยอดแน่นทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีรอยแตกระแหงตามแนวยาว
ใบ : ลักษณะเป็นใบเดี่ยว เกิดเรียงกันแบบสลับ ลักษณะใบมนเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่แกมหอก มีขนาดกว้าง 2-5 ซม. ยาว 5-10 ซม. โคนใบสอบมอน ปลายใบเรียวหรือหยักเป็นติ่ง
ดอก : ดอกจะเกิดเป็นกระจุกตามง่ามใบและตามยอด มีสีขาวปนเหลือง กลีบรองดอกมี 8 กลีบ เรียงเป็น 2 วงๆ ละ 8 แฉก ดอกบานมีกลิ่นหอม ออกดอกตลอดปี
ผล : รูปไข่กลมถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็งสีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี
ส่วนที่ใช้ : ดอก เปลือก เมล็ด แก่นที่ราก ใบ
สรรพคุณ :
ดอกสด – เข้ายาหอม ทำเครื่องสำอาง แก้ท้องเสีย ฝาดสมาน
ดอกแห้ง – ใช้เข้ายาหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ ยานัตถุ์ ยาแก้ไข้ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอและแก้ร้อนใน แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้อ่อนเพลีย แก้หอบ บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้ลม บำรุงโลหิต ขับเสมหะ แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้ตัวพยาธิ แก้ตกโลหิต แก้ปวดตามร่างกาย แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ผลสุก – รับประทานแก้ปวดศีรษะและแก้โรคในลำคอและปาก
เปลือก – ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด
เมล็ด – ตำแล้วใส่ทวารเด็ก แก้โรคท้องผูก
ใบ – ฆ่าพยาธิ
แก่นที่ราก – เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม
กระพี้ – แก้เกลื้อน
ขอนดอก – (เนื้อไม้ที่ราลง มีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่า “ขอนดอก”) ใช้เป็นยาบำรุงตับ ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ช่วยบำรุงปอด ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี
– ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” “พิกัดเกสรทั้งเก้า” ตามตำรายาไทยนำดอกพิกุลมาเข้าเครื่องยาไทยใน “พิกัดเกสรทั้งห้า” ประกอบด้วย ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” มีส่วนประกอบเพิ่มเติมมามีดอกจำปาและดอกกระดังงา และ “พิกัดเกสรทั้งเก้า” มีส่วนประกอบเพิ่มเติมมาคือมีดอกลำดวน และดอกลำเจียก มีสรรพคุณ บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ แก้ลมกองละเอียด วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย บำรุงครรภ์
– ตำรายา “พิกัดจตุทิพยคันธา” ตำรับยาที่มีการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีกลิ่นหอมดังยาทิพย์ 4 อย่าง มีดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง สรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ แก้เสมหะ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก
– ตำรับยา “ยาหอมเทพจิตร” มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น
– ตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
– ตำรับยา “เขียวหอม” ยาแก้ไข้ปรากฎการใช้ดอกพิกุลร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ มีสรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษสุกใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส)
หมายเหตุ : ขอนดอก คือ เครื่องยาไทยที่อาจได้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกแก่ๆ ที่จะมีเชื้อราที่เจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ขอนดอกจะมีกลิ่นหอมและมีรสจืด และจากข้อมูลระบุว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพที่ดีกว่าที่ได้จากชนิดอื่น
[yengo]
ประโยชน์ของดอกพิกุล
– ให้กลิ่นหอมในขนมไทย ดอกพิกุลคือเป็นดอกไม้ที่บานและส่งกลิ่นหอมในช่วงเช้ามืด ราว ตีสี่ถึงแปดโมงเช้า ดังนั้นถ้าจะนำดอกพิกุลมาอบขนมต้องใช้ในตอนเช้าและเก็บออกในเวลาเย็น วิธีใช้ จัดวางขนมที่จะอบในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด วางดอกพิกุลลงไปแต่เบามืออย่าให้ช้ำจะเหม็นเขียว อาจวางบนตัวขนมหรือหาถ้วยจานใบน้อยๆ ใส่ดอกพิกุลวางลงไปอีกทีก็ได้ ปิดฝา แล้วเก็บออกในตอนเย็น
– การอบเปียกด้วยดอกพิกุล การอบเปียก คือ การอบน้ำเพื่อเอาไปทำขนมหรือทำน้ำอบน้ำปรุงแป้งร่ำต่อไป เนื่องจากดอกพิกุลเป็นดอกไม้ที่มีกลีบเล็กและมีเกสรละเอียด ดังนั้นจึงไม่ควรเอาลอยลงในน้ำโดยตรง แต่ควรใส่ในภาชนะเล็กๆ แล้วลอยลงไปเพื่อไม่ให้กลีบและเกสรฝอยๆ นั้นกระจายปนอยู่ในน้ำ วิธีลอยต้องเตรียมน้ำใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท วางจนน้ำนิ่งแล้วค่อยวางภาชนะใส่ดอกพิกุลลงไป ปิดฝา แล้วเก็บออกในตอนเย็น
– ชาดอกพิกุล โดยเอาดอกพิกุล ไปตากแห้ง แล้วมาชงน้ำดื่ม มีสรรพคุณทางยา คือบำรุงหัวใจ แก้ไอ แกไข้ แก้ร้อนใน แก้เจ็บคอ และแก้ปวดเมื่อย
– ผลพิกุลสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และยังช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกได้
– ดอกพิกุลมีกลิ่นหอมเย็น นิยมนำมาบูชาพระ
– เนื้อไม้พิกุล สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระคาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ และยังใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่น การนำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ เป็นต้น
– เปลือกต้นพิกุลใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้
ต้นไม้มงคลที่มีประวัติยาวนานคู่คนไทยอย่าง “พิกุล” เป็นต้นไม้ที่มากคุณค่าเลยทีเดียวค่ะ ปลูกคู่บ้านเป็นไม้มงคล ส่งเสริมความเป็นศิริมงคลให้แก่คนในบ้าน ดอกไม้สวยงามมีกลิ่นหอม ผลก็ทานได้ อีกทั้งนำมาใช้งานได้สารพัดประโยชน์ มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร บ้านไหนไม่มีต้นพิกุลปลูกไว้ ต้องรีบหามาปลูกกันแล้วล่ะค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com