เลือกใช้ยาให้ถูก..เมื่อท้องผูก
advertisement
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม ให้ข้อมูลว่า สาเหตุภาวะท้องผูกอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายความกังวล ยารักษาโรคจิตและอาการซึมเศร้า เป็นต้น หรือเกิดจากความผิดปกติทางกายหรือโรคทางลำไส้ เช่น รูทวาร ไขสันหลัง มีความผิดปกติของเส้นประสาทที่ควบคุมการถ่าย การอุดตันของสำไส้ มะเร็งลำไส้ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ภาวะท้องผูกเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุทางกาย มักพบบ่อยในผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารน้อย หรือไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมถึงผู้ที่ชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ยาระบายควรใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์ ควรเลือกชนิดของยาระบายให้เหมาะสม ซึ่งแยกตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ 6 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มยาที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ ยากลุ่มนี้เป็นสารประเภทไฟเบอร์ เช่น เม็ดแมงลัก ยาระบายไซเลียมสีด ซึ่งเมื่อถูกน้ำจะพองตัว แล้วไปเพิ่มปริมาณอุจจาระ รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัว อุจจาระจึงถูกขับถ่ายออกง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 12-72 ชั่วโมง
advertisement
2.กลุ่มยาที่กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ ยากลุ่มนี้จะทำให้ลำไส้บีบตัวเพิ่มมากขึ้น จึงกระตุ้นให้อุจจาระถูกขับถ่าย ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 6-10 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ยาไบซาโคดิล มะขามแขก น้ำมันละหุ่ง
3. กลุ่มยาที่หล่อลื่นอุจจาระ ยากลุ่มนี้มีความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง อุจจาระจึงถูกขับถ่ายออกง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 2-6 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ยาระบายน้ำมันแร่ ยาระบายอิมัลชันของน้ำมันแร่และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์
4.กลุ่มยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ยากลุ่มนี้ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกง่ายขึ้น ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 12-72 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น โดคูเสต
advertisement
5.ยาระบายประเภทเกลือ ยากลุ่มนี้มีความสามารถในการดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ทำให้มีแรงดันเพิ่มขึ้นในลำไส้และกระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ จึงเกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ
6.กลุ่มยาที่มีแรงดันออสโมติก ยากลุ่มนี้มีความสามารถในการดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ด้วย คล้ายยากลุ่มที่ 5 แต่ตัวยาไม่ใช่เกลือและการดูดน้ำทำได้ด้วยแรงดันออสโมติก น้ำจะทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง และยังช่วยเพิ่มแรงดันในลำไส้ กระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ และขับถ่ายอุจจาระออก ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 30 นาที-3 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น กลีเซอรีน แลคตูโลส
advertisement
รูปแบบของยาระบาย มีอยู่หลายรูปแบบ ได้แก่ ยาเม็ด ยาชง ยาน้ำแขวนตะกอน ยาน้ำแขวนละออง ยาเหน็บทวาร ยาสวนทวาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาระบายมีข้อจำกัด ต้องเลือกให้เหมาะกับแต่ละคน เช่น ยาระบายที่มีฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ จะไม่ใช้ในผู้สูงอายุที่มีอุจจาระแข็งจับเป็นก้อน หรือในสตรีมีครรภ์เพราะลำไส้จะบีบตัวมากและอาจกลายจากท้องผูกเป็นท้องเดินได้ ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่ค่อยรู้สึกตัวก็จะไม่ให้ใช้น้ำมันละหุ่ง เพราะถ้ามีการสำลัก จะสำลักน้ำมันละหุ่งเข้าปอดและทำให้เกิดปอดอักเสบขึ้นได้ นอกจากนี้การใช้ยาระบายน้ำมันแร่หากใช้บ่อยๆ ก็อาจทำให้ขาด วิตามินเอ ดี อี เคได้ สำคัญการใช้ยาระบายทุกชนิด ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ส่งผลให้ต้องใช้ยาระบายตลอด ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้เองตามปกติ
โดยสรุปหากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย ให้รับประทานผัก ผลไม้และอาหารที่มีกากใยอาหารสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้นและออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาระบาย ควรขอคำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้านก่อนเสมอ
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย gidanan ganghair ขอขอบคุณที่มาจาก : เว็บไซต์แนวหน้า