กรมควบคุมโรค เผยตลอดปี 2559 ไทยใช้มาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเข้มข้นต่อเนื่อง ส่วนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ คลอดแล้ว 40 ราย ทารกทุกรายปกติ
advertisement
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในปี 2559 อย่างเต็มที่สูงสุดและต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่แต่ละสัปดาห์ 30-40 ราย และในปี 2560 ยังคงดำเนินการแบบเข้มข้นต่อไป โดยเฉพาะการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ปัจจุบันคลอดแล้ว 40 ราย นอกจากนี้ มาตรการที่เข้มข้นดังกล่าว ยังส่งผลให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงตามไปด้วย
advertisement
วันนี้ (20 ธันวาคม 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค (EOC) ว่า ในปี 2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร สถานศึกษา ผู้นำชุมชุน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในทุกพื้นที่ ดำเนินมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่สูงสุดและต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[ads]
ซึ่งในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาครั้งแรกเมื่อปี 2555 ถัดมาในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุข เริ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรค แต่ยังคงต้องส่งตัวอย่างเลือดส่งตรวจที่สหรัฐอเมริกา และมีการดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงต้นปี 2559 ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มพบผู้ป่วยจำนวนมาก ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการเตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อรับสถานการณ์กรณีพบผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งมีการดำเนินการ ดังนี้
1.เดือนมกราคม 2559 หารือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมการเฝ้าระวัง 4 ด้าน ได้แก่ ระบาดวิทยา กีฏวิทยา ทารกแรกเกิด และกลุ่มอาการทางระบบประสาท และออกคำเตือนพร้อมแนะนำหญิงตั้งครรภ์งดเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดหนัก
advertisement
2. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 (วันเดียวกันกับที่องค์การอนามัยโลก “WHO” ประกาศ PHEIC) กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความลำดับที่ 23 ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 โดยเดินหน้าเริ่มรณรงค์ตามมาตรการ “ประชารัฐร่วมใจ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
3.เดือนเมษายน 2559 ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย อบรมพัฒนาทีมพ่นยุงกว่า 17,000 ทีม เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการควบคุมโรค นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา Application “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” และซอฟแวร์ “ทันระบาด” เพื่อเป็นตัวช่วยในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 4.เดือนพฤษภาคม 2559 ร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนาและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 5.เดือนมิถุนายน 2559 ประกาศให้เป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง 1 ใน 57 โรค ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 6.เดือนสิงหาคม 2559 ปรับปรุงคู่มือการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับบุคลากร ปี 2559 และ 7.เดือนกันยายน 2559 ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อระดมสรรพกำลังบุคลากรในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า ในปี 2560 ที่จะมาถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังคงดำเนินมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่สูงสุดและต่อเนื่อง ทั้งการป้องกัน ตรวจจับเร็ว วินิจฉัยเร็ว เฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง การรักษา แยกผู้ป่วย รวมถึงจัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคให้ได้ทุกรายโดยเร็ว ซึ่งห้องปฏิบัติการ ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง และมีการตรวจที่แม่นยำ สามารถตรวจตัวอย่างได้มากขึ้น ทำให้การตรวจจับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่ยังไม่เคยพบผู้ป่วยด้วย
advertisement
สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ธ.ค. 2559) พบผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงและสามารถควบคุมโรคได้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2559 ถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการควบคุมโรค(28 วัน) จำนวน 17 จังหวัด ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนการเฝ้าระวังและติดตามในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น ในขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 80 ราย คลอดแล้ว 40 ราย ทารกทุกรายมีอาการปกติ และทุกรายจะมีการติดตามเฝ้าระวังต่อจนกว่าจะคลอด นอกจากการดำเนินที่เข้มข้นในมาตรการ“3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ที่ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่ลดลงเหลือสัปดาห์ละประมาณ 30-40 รายแล้ว ยังส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้วกว่า 2 เท่า[ads]
“สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในทุกพื้นที่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยป้องกันไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง หรือผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองไว้อย่างชัดเจนตลอดการตั้งครรภ์ ตรวจครรภ์ตามแพทย์นัด และหากมีอาการสงสัยป่วยให้รีบปรึกษาแพทย์ โดยอาการของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการจะทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค