กระตุ้นประชาชนกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ลดเสี่ยงโรคเรื้อรัง!!
advertisement
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขานรับนโยบาย “ปี 2560 ปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย” ให้อสม. 1 ล้าน 4 หมื่นคนทั่วประเทศ เป็นต้นแบบเกษตรกรปลูกผักปลอดสารเคมี เฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหารในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรณรงค์ประชาชนเพิ่มการกินผักผลไม้ให้ได้คนละ 400 กรัมต่อวันตามมาตรฐานสากล เนื่องจากในผักผลไม้มีสารอาหาร เส้นใยอาหาร สารพฤกษเคมี ที่มีคุณสมบัติป้องกันโรค ลดความเสี่ยงป่วยโรคเรื้อรังได้ เช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง
advertisement
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และนายแพทย์ชัยวัฒน์ ทองไหม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ นำสื่อมวลชนและคณะเจ้าหน้าที่กรม สบส. ชมการดำเนินงานของสหกรณ์ผักปลอดภัย ภูทับเบิก จำกัด ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ในโครงการกรีนมาร์เก็ต เพชรบูรณ์[ads]
ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทำการเพาะปลูกผักปลอดสารพิษตามมาตรฐานจีเอพี (Good Agriculture Practices:GAP) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผักอินทรีย์ (Organic) เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ.2557 และ2558 จ.เพชรบูรณ์ มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากปี พ.ศ.2556 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีสาเหตุจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษ และสร้างรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
นายแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า โครงการกรีนมาร์เก็ต ถือเป็นโครงการแบบอย่างที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพประชาชน ปลอดภัยทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค ซึ่งศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2560 เป็นปีแห่งการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย เพื่อสร้างสุขภาพดี โดยกรม สบส. ได้ขานรับนโยบายส่งเสริมให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรืออสม.ทั่วประเทศ ที่มี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว และเป็นแกนนำสุขภาพภาคประชาชนในชุมชน โดยให้ดำเนินการ 3 ส่วน
advertisement
ประการที่ 1 คือเป็นแบบอย่างการทำเกษตรปลูกผักผลไม้ปลอดสารเคมีปนเปื้อนตามมาตรฐานจีเอพี ซึ่งที่หมู่บ้านทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ มีจำนวน 43 คน
ประการที่ 2 ส่งเสริมให้ อสม.ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังสารปนเปื้อนในอาหารในหมู่บ้านร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อสร้างความปลอดภัยประชาชน โดยเฉพาะในตลาดนัดและรถเร่ขายผัก
ประการที่ 3. ให้ อสม.เป็นแบบอย่างผู้ที่มีพฤติกรรมสุขภาพดีในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการบริโภคผักผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัมต่อคนต่อวันตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เนื่องจากในผักผลไม้จะมีสารอาหาร มีเส้นใยอาหารช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น มีสารพฤกษเคมี (Phytochemical หรือ Phytonutrients) ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพ และคุณสมบัติป้องกันโรค และความเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณดี ผลการวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารลงได้ ร้อยละ 50 ลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงร้อยละ 30
advertisement
ทั้งนี้ รายงานผลจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยล่าสุดครั้งที่ 5 ในปี 2557 โดยการตรวจร่างกาย ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป รับประทานผักผลไม้ได้เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานสากลคือ 400 กรัมต่อคนต่อวัน หรือเท่ากับ 5 ส่วนมาตรฐานต่อวัน เพียงร้อยละ 25.9 ซึ่งดีขึ้นกว่าช่วงการสำรวจครั้งที่ 4 ในปี 2552 ที่มีเพียงร้อยละ 16.9 โดยภาคกลางกินเพียงพอมากที่สุด ร้อยละ 32 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 29 ภาคใต้ร้อยละ 28 กรุงเทพฯร้อยละ 22 และภาคเหนือร้อยละ 13 จึงเชื่อว่าหากมีปริมาณผักไม้ปลอดภัยมากขึ้น และการรณรงค์ในระดับหมู่บ้านโดยอสม. สร้างค่านิยมกินผักผลไม้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ประชาชนหันมาบริโภคกันมากขึ้น[ads]
สำหรับ ที่ ต.ภูทับเบิก มีเกษตรกรปลูกผักอินทรีย์และเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผักปลอดภัยฯ จำนวน 68 ครอบครัว มีผักกว่า 20 ชนิด เช่น กะหล่ำปลี ต้นหอมญี่ปุ่น ดอกหอม ผักสลัด ถั่วลันเตา และมะเขือเทศ เป็นต้น ก่อนส่งไปยังตลาดจะมีการตรวจสอบสารหายาฆ่าแมลงปนเปื้อนโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลภูทับเบิกทุกครั้งเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะได้รับผักที่ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน 100 เปอร์เซ็นต์ และมียอดผลิตผักสัปดาห์ละ 5 ตัน รายได้ประมาณ 2 แสนบาทต่อสัปดาห์ และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านต่อครอบครัวเดือนละประมาณ 13,000 บาท
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ