กระทกรก..สมุนไพรใกล้ตัว มากคุณค่า!!
advertisement
“กระทกรก” พืชไม้เถาชนิดหนึ่ง ที่น้อยคนนักจะรู้จักนะคะ เพราะเป็นพืชที่ไม่ได้นิยมปลูกกันเลย ขึ้นเองตามป่าตามเขา สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ ส่วนผลเมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลืองอมส้มกินได้ เมล็ดมีเนื้อหุ้มลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลักแช่น้ำ รสหวานปะแล่มๆ กระทกรกถือเป็นพืชอีกชนิดที่มีสรรพคุณเป็นสมุนไพรด้วย ใครที่ยังไม่รู้จักกระทกรก ตาม Kaijeaw.com มากันเลย
ชื่ออื่นๆ เรียกตามท้องถิ่น : กระโปรงทอง (ภาคใต้), เคือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ), ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี), เถาสิงโต เถาเงาะ (ชัยนาท), ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ), หญ้ารกช้าง (พังงา), กะทกรก (ภาคกลาง), ผักขี้หิด (เลย), เยี่ยววัว (อุดรธานี), ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี), หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida L.
ชื่อวงศ์ : PASSIFLORACEAE
[ads]
ลักษณะของต้นกะทกรก : กะทกรก เป็นไม้เถาเนื้ออ่อน มีมือเกาะ ทุกส่วนของพืชนี้เมื่อขยี้หรือทำให้ช้ำจะมีกลิ่นเหม็นเขียว
ใบ : ลักษณะเป็นใบป้อม เรียงสลับ แผ่นใบเว้าเป็น 3 หยัก มีขน ใบประดับเป็นฝอย มีต่อมอยู่ที่ปลาย
ดอก : ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ กลีบดอกด้านนอกสีเขียวอ่อน ด้านในสีขาว มีกะบังรอบเป็นเส้นฝอย สีขาวโคนสีม่วงเรียงกันเป็นรัศมี
ผล : ผลค่อนข้างกลม มีใบประดับหุ้ม เมื่ออ่อนสีเขียว สุกแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม เมล็ดมีเนื้อหุ้มลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลักแช่น้ำ รสหวานแปลกๆ
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ต้นสด, ใบ, ดอก, ผล, ราก
สรรพคุณตามตำรายาไทย :
ต้นสด – มีสารพิษทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ต้มสุกแล้วใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้บวม
เนื้อไม้ – ใช้เป็นยาควบคุมธาตุในร่างกาย
เปลือก – ใช้เป็นยาชูกำลัง ใช้ตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าว ช่วยแก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยทำให้แผลเน่าเปื่อยแห้ง
ใบ – ใช้ตำพอกแผลเพื่อฆ่าเชื้อ พอกแก้สิว แก้โรคผิวหนัง หิด ไข้หวัด ใบใช้ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาเบื่อและขับพยาธิ
**** แพทย์ชาวเวียดนามมีการใช้ใบเพื่อให้สงบ ระงับความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 กรัม (ต่อวัน) นำมาต้มกับน้ำกิน
ดอก – แก้ไอ ขับเสมหะ
ผล – ผลสุกรับประทาน ใช้แก้ปวด บำรุงปอด ผลดิบมีรสเบื่อ
ราก – ใช้ต้มน้ำดื่มแก้เบาหวาน แก้ไข แก้กามโรค เป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น รากสดหรือรากตากแห้ง ใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา จะช่วยทำให้สดชื่น
[yengo]
ประโยชน์ของกะทกรก
1) ยอดอ่อน ผลอ่อน ผลสุก ผลแก่ รวมทั้งรกหุ้ม สามารถใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำมาต้มหรือลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก และแกงเลียง
2) ผลสามารถนำมาปั่นเพื่อทำเป็นเครื่องดื่มได้
3) ใช้เป็นยาฆ่าและป้องกันแมลงศัตรูพืชได้ โดยเฉพาะตัวด้วงถั่วเขียว ในด้านทางการเกษตร เนื่องจากต้นกะทกรกมีสารพิษชื่อว่า Cyanpgenetic glycosides สารพิษมีฤทธิ์ฆ่าแมลง
4) ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดินและทำปุ๋ยหมักได้ และช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์เข้ามาทำลายได้ เนื่องจากต้นกะทกรกมีกลิ่นเหม็นเขียว
ข้อควรระวัง
– ไม่รับประทานกะทกรก ทั้งต้นสดๆ เพราะมีรสเบื่อเมาและเป็นพิษ หากนำมากินอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่พิษจะสลายไปเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน
– ไม่ควรทานผลอ่อน เพราะมีพิษ สารไซยาโนจีนิก ไกลโคไซด์ (Cyanogenetic glucoside) เปลือกผล เมล็ด และใบมีสารที่ไม่คงตัว เมื่อสารดังกล่าวสลายตัวจะทำให้ Acetone และ Hydrocyanic acid (สารชนิดหลังเป็นพิษ) ทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการเจียน
พืชกะทกรก นับว่าเป็นสมุนไพรป่าชนิดหนึ่งที่หาได้ยากแล้วนะคะ ด้วยปัจจุบันมีความนิยมของพืชผักเศรษฐกิจทั่วไป หวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณได้รู้จักกะทกรกมากขึ้น หากมีโอกาสก็ลองหามาทานกันด้วยนะคะ แต่ต้องไม่ลืมว่าห้ามกินดิบต้องทำให้สุกก่อน ส่วนผลก็ห้ามผลอ่อนค่ะ เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com