กินสุกๆดิบๆ..อันตรายเสี่ยงสารพัดโรค!!
advertisement
การกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นวิธีการกินแบบหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากนิยมกินกัน โดยเฉพาะอาหารพื้นถิ่นทางภาคอีสานหรือเหนือที่คุ้นเคยกันดี เช่นอาหารประเภทลาบ ก้อย น้ำตก กุ้งเต้น อาหารจำพวกนี้ต้องยังไม่สุกเสียทีเดียวจึงจะอร่อย ถ้าทำให้สุกกล่าวว่าจะเสียรสชาติไป แต่การกินอาหารดิบๆ สุกๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิทั้งนั้น บางคนกินเพราะความอร่อยอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางคนทั้งๆ ที่รู้ก็ยังกินยอมเสี่ยงไม่ยอมอด กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ดิบๆ สุกๆ เป็นอันตรายเสี่ยงได้สารพัดโรค!!
advertisement
พฤติกรรมการกินดิบ เป็นสาเหตุของโรคร้ายได้อีกมากมาย ทั้งจากเชื้อโรคที่มองไม่เห็น และจากพยาธิที่อยู่ในเนื้อสัตว์ และเนื้อปลา ที่กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายจะป้องกันและควบคุมโรคในกลุ่มเสี่ยงชัดเจน ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก เด็กนักเรียน และประชาชนทั่วไป ให้ป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารมีทั้งหมด 7 โรค ได้แก่
1.โรคอุจจาระร่วง อาการที่ปรากฏจะคล้าย กันคือ ปวดท้อง มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ส่วนใหญ่เชื้อพวกนี้มักจะหายเองได้ใน 2-3 วัน เว้นคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำอาจจะเสียน้ำ เสียเกลือแร่ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. โรคอหิวาตกโรค (Cholera) อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผู้ป่วยถ่ายเหลวเป็นน้ำ คล้ายน้ำซาวข้าว หากอาการไม่รุนแรงมักหายได้เองภายใน 1-5 วัน แต่หากถ่ายเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีมูกเลือด จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ทำให้ช็อคและอาจเสียชีวิตได้
3. บิด (Dysentery) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารดิบๆ สุกๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิด อาจหายได้เองภายใน 5-7 วัน บางรายก็อาจมีอาการกลับมาเป็นใหม่ได้อีก
4. โรคเอ็นเทอริก (Enteric) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเขาในกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทําให้เกิด อาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะและหนาวส่ัน ออนเพลีย เบื่ออาหาร ทองอืด ปวดท้องหลายวันจึงจะถายอุจจาระ เหลว มีกลิ่นเหม็น ม้ามโต ชีพจรเต้นช้า เมื่อเทียบกับอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นจากไข้ อาจมีภาวะที่เลือดแข็งตัวกระจายไปทั่วรางกาย ในระยะท้ายของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีไข้ เหงื่อออก ชีพจรเต้นช้า ซึม ความไวของประสาทรับเสียงลดลง ต่อมน้ําลายหนา และหูอาจเกิดการอักเสบ
5. ไทฟอยด์(Thyphoid) การติดต่อเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
6. อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เกิดจากสารพิษ (Toxin) ของแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุกๆ ดิบๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดท้องเสีย หากเป็นไม่มากถ่ายเป็นน้ำแต่ไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ ส่วนใหญ่หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง
7.โรคตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A) ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทั้งจากการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และการทานอาหารร่วมกับผู้ที่กำลังป่วยโรคนี้อยู่ อาหารที่มักมีการปนเปื้อนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะหอยดิบ หอยมีกาบ เมื่อเชื้อโรคชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวราว 2-4 สัปดาห์ อาการป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ต่อมาพอไข้ลด จะเริ่มปรากฏอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
[ads]
นอกจากนั้นยังมีโรคที่ควรเฝ้าระวัง พบว่าเกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ได้แก่โรคไข้หูดับและโรคพยาธิ
advertisement
>>> โรคไข้หูดับ
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ให้ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 161 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป (33.5%) รองลงมา คือ 45-54 ปี (28%) และ 55-64 ปี (21.7%) จังหวัดที่อัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ น่าน อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พะเยา และอุทัยธานี ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับในภาคเหนือสูงถึง 114 ราย คิดเป็น 70.8% ของผู้ป่วยทั้งหมด
อันตรายของโรคไข้หูดับ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1) การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2) การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวกได้
สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อสเตร็บโตค็อกคัส ซูอิส เข้าไปในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
>>> โรคพยาธิ
พบว่าคนไทยเป็นโรคพยาธิกันมาก โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมอนามัยเคยทำการสำรวจโรคพยาธิใบไม้ในตับ พบว่าประชาชนในบางท้องที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และอุดรธานี เป็นพยาธิใบไม้ในตับถึงร้อยละ 70 ถึง 90
อันตรายของโรคพยาธิ
ชนิดของพยาธิมีหลายอย่าง และมีอาการแตกต่างกันมาก แล้วแต่ชนิดของพยาธิ โดยพยาธิที่ยังเป็นปัญหาอยู่เนืองๆ อีก 3 ชนิด ได้แก่ พยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า ทริคิโนซีส (Tricinosis) พยาธิตัวตืด และพยาธิใบไม้ตับ พยาธิบางชนิดเพียงแต่ถ่ายยาก็หายได้ บางชนิดก็ไม่มียารักษาและมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้!!!
โรคพยาธิไม่ใช่โรคที่จะรักษาให้หายขาดได้ง่ายนัก คนที่เป็นโรคพยาธิจะมีสุขภาพเสื่อมโทรม มีอาการอ่อนเพลีย มึนงง สติปัญญาเสื่อม และเป็นโรคขาดอาหารได้อีกด้วย ผู้ที่ชอบกินอาหารดิบ ๆ สุก ๆ หลายคนอาจจะกำลังเป็นโรคพยาธิแต่ยังไม่รู้ตัว บางคนอาจยังโชคดีเผอิญไม่ได้กินอาหารชิ้นที่มีพยาธิจึงยังไม่เป็น แต่ถ้ายังกินอาหารดิบๆ สุกๆ นี้ต่อไป คงจะต้องเป็นโรคพยาธิในไม่ช้า
[ads]
advertisement
ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองจากโรคร้าย และความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
1. เลือกทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ส่วนพวกผักผลไม้ ควรล้างให้น้ำไหลผ่านชะล้างเชื้อโรค ล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆ ให้สะอาดทั่วถึง
2. ปรุงอาหารทานเองให้มากว่าซื้อจากร้านค้าหรืออาหารสำเร็จรูป และปรุงให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน
3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากค้างคืนต้องอุ่นก่อน
4. หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็น อาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ
5. การรับประทานก็ควรนำมาอุ่นก่อน ซึ่งขณะการอุ่นอาหารควรทำให้เดือดไม่ใช่แค่ทำให้ร้อน
6. ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้
7. ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ ทุกครั้งก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ
8. ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง
9. เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ
10. ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารสำหรับเด็กทารก
11. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองสุกๆ ดิบๆ
12. ผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู วัว ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อ สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับสัตว์ทุกครั้ง
13 รักษาอนามัยที่ดีในการขับถ่าย ขับถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ขับถ่าย หรือปัสสาวะและเทสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง
ข้อควรคำนึง
หากพบว่าตนหรือคนในครอบครัวมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง หรือป่วยหลังสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและต้องบอกประวัติการกินให้ทราบด้วย เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้
สุขภาพที่ดี สมบูรณ์และแข็งแรงจะอยู่คู่กับเราไปนานๆ หากเรารู้จักดูแลตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน หมั่นรักษาอนามัยที่ดีในการเป็นอยู่ คำขวัญจำง่ายๆ ที่ควรจำขึ้นใจกันก็คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ นั่นเองค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com