กินหวานมาก เสี่ยงสารพัดโรค
advertisement
เครื่องปรุงรสอาหารที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างน้ำตาลนั้น ไม่เพียงแค่ให้รสหวานเท่านั้นแต่ยังมาพร้อมๆ กับพลังงานอีกด้วย น้ำตาลมีประโยชน์ในการช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งเราก็ควรทานแต่พอดีเท่านั้น หากทานในปริมาณที่มากๆ จะมีผลทำให้ได้รับพลังงานส่วนเกินสะสมในร่างกาย ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้อ้วนและฟันผุ ที่แย่มากไปกว่านั้นก็คือมีผลเสียต่อสุขภาพ กินนำตาลมากๆ ให้รสหวานๆ กินมาก เป็นสาเหตุของโรคร้ายหลายๆ ชนิดด้วยกัน
advertisement
1. โรคหัวใจ
ปริมาณน้ำตาลมากๆ ไม่ดีต่อหัวใจ เนื่องจากน้ำตาลมีผลต่อกระบวนการสูบฉีดของหัวใจ ทำให้อ้วนลงพุง เพิ่มระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันเลว กลูโคส และอินซูลินในกระแสเลือด รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว ทั้งยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า คนที่ได้รับพลังงานจากน้ำตาลเกิน 17.5% ของพลังงานทั้งหมด จะมีไขมันเลวในกระแสเลือดสูงกว่าคนทั่วไป 20-30% และหากพลังงานจากน้ำตาลเกิน 25% ก็มีโอกาสที่ไขมันดีจะต่ำมากกว่าคนที่ทานน้ำตาลน้อยถึง 3 เท่า ทำให้คุณมีโอกาสเป็นหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหัวใจวายได้ค่อนข้างสูง
2. อ้วน
น้ำตาลเป็นอาหารที่ให้พลังงานได้รวดเร็ว โดยไม่ค่อยมีสารอาหารที่มีประโยชน์อื่นใดเท่าใดนัก และเมื่อร่างกายใช้พลังงานที่รับเข้าไม่หมด ตับก็จะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันไปสะสมทั่วร่างกาย และแทนที่มันจะทำให้รู้สึกอิ่ม แต่กลับรู้สึกหิวได้บ่อยๆ ดังนั้นคุณจึงต้องรับประทานเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้ไขมันก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และก็ตามมาด้วยโรคจากความอ้วนต่างๆ อีกมากมาย
3. ฟันผุ
น้ำตาลนั้นย่อยได้ง่ายมากๆ แบคทีเรียตัวร้ายในช่องปากจึงกินน้ำตาลเป็นอาหาร และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาดในช่องปากที่ดีพอ แบคทีเรียเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของปัญหาฟันต่างๆ อาทิ ฟันผุ เคลือบฟันกัดกร่อน โรคเหงือก เป็นต้น
4. ตับทำงานหนัก
เมื่อเรารับประทานน้ำตาลเข้าไป ผ่านกระบวนการดูดซึมสารอาหาร น้ำตาลจะเข้าสู่กระแสเลือด มันจะผ่านไปที่ตับก่อน ซึ่งจะย่อยสลายให้เป็นกลูโคส หรือฟรุกโตส อย่างใดอย่างหนึ่ง การบริโภคฟรุกโตสจำนวนเล็กน้อย เช่นที่อยู่ในผลไม้ต่างๆ นั้นไม่เป็นไร เนื่องจากตับจะสังเคราะห์ให้กลายเป็นไกลโคเจน และเก็บไว้จนกว่าจะถูกดึงมาใช้ เพื่อให้พลังงานแก่ร่างกาย ยิ่งหากว่าเราบริโภคน้ำตาลเป็นจำนวนมากเท่าใด ตับต้องทำงานเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น เพื่อสังเคราะห์และเก็บไกลโคเจน และเปลี่ยนฟรุกโตสที่เหลือให้กลายเป็นไขมัน ซึ่งในระยะยาว กระบวนการดังกล่าวทำให้ตับทำงานหนักจนเกินไป
5. ไขมันพอกตับ
เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ตับสังเคราะห์ฟรุกโตสให้กลายเป็นไขมันแล้ว มันจะถูกเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่างไรก็ดี ไขมันบางส่วนจะถูกเก็บไว้ที่ตับ และกลายเป็นเม็ดไขมันในเวลาต่อมา การสะสมของเม็ดไขมันเหล่านี้ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ชนิดที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์
6. เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง
อินซูลินเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต นักวิจัยบางคนเชื่อว่าน้ำตาลเป็นตัวเร่งการเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้นการมีระดับอินซูลินสูงอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่โรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่คอนเฟิร์มว่า การทานหวานจัดๆ จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งให้สูงขึ้นได้
advertisement
7. เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การรับประทานน้ำตาลมากเกินไป อาจทำให้อินซูลินทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เซลล์เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การผลิตเบต้าเซลล์ในตับอ่อนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการสะสมของกลูโคสในกระแสเลือด อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ภาวะต้านอินซูลินรุนแรงขึ้น ตับอ่อนไม่สามารถรับมือกับความต้องการอินซูลิน เพื่อใช้รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำลงได้ ผลก็คือ ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น นำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2
8. เสพติดรสหวาน
มีการเปรียบเทียบไว้ว่าน้ำตาลเป็นเช่นยาเสพติด เพราะมันจะไปกระตุ้นการหลั่งโดพามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้เกิดอาการเสพติดได้เหมือนติดโคเคน ผลก็คือ คุณจะรู้สึกอยากรสหวาน อยากกินหวานต่อเนื่อง และหยุดไม่ได้
9. แก่ก่อนวัย
การบริโภคน้ำตาลทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานหนัก ยิ่งทานต่อเนื่องก็ยิ่งส่งผลให้แก่ก่อนวัยอันควร เป็นเหตุให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยและเหี่ยวย่น ไปจนถึงเกิดโรคเรื้อรัง และความจำเสื่อมได้เร็วขึ้น
10. โรคภูมิแพ้
การรับประทานอาหารรสหวานบ่อยๆ ทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่ ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างโรคภูมิแพ้ อาการของโรคภูมิแพ้จะมีความรุนแรงเป็น 2 เท่า หรือทำให้อาการของโรคติดเชื้อต่างๆ ที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคทุกชนิดจะใช้น้ำตาลเป็นอาหาร และน้ำตาลยังเป็นแหล่งอาหารของเซลล์มะเร็ง เป็นอาหารของยีสต์ในลำไส้ ทำให้ยีสต์เพิ่มจำนวนมากขึ้นและทำให้เกิดภาวะไส้รั่วได้
advertisement
การกินหวานให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ข้อแนะนำในการรับประทานน้ำตาลที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ คือ จำกัดไว้ที่ประมาณ 5-10% ต่อวันของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งตามหลักโภชนาการแล้วจะแนะนำให้รับประทานน้ำตาลในปริมาณน้อยเช่นเดียวกับเกลือและไขมัน โดยปริมาณของน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวันไม่ควรจะเกิน 50 กรัม หรือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
วิธีคำนวณปริมาณน้ำตาล จากกรัมเป็นช้อนชา
อ่านฉลากบนอาหารสำเร็จรูป ที่แสดงถึงปริมาณน้ำตาลทั้งหมดเป็นกรัม แล้วหารด้วย 4 ก็จะได้จำนวนช้อนชาของน้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไป
เคล็ดลับการหยุดทานหวาน
– ไม่อดอาหารมื้อเช้า เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มใช้แรงงานและสมองก่อนที่อาหารจะตกถึงท้อง ระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงจะทำให้คุณหิว และอาจคว้าของที่เพิ่มพลังงานให้ร่างกายได้เร็ว อย่างอาหารที่อุดมด้วยน้ำตาลเข้าปากได้ง่าย ทำให้ 90% ของคนที่อดมื้อเช้า “ติดหวาน”
– เลือกทานผลไม้รสไม่หวานจัด น้ำตาลต่ำ ป้องกันความโหยของหวานระหว่างวันด้วยผลไม้อย่างฝรั่ง แอปเปิ้ล ชมพู่ พุทรา เป็นต้น
– เลี่ยงเครื่องดื่มหวานๆ เป็นต้น น้ำอัดลม, ชาต่างๆ ที่ใส่นม น้ำตาล, เครื่องดื่มชูกำลัง, ชาเขียว (ขวดชนิดแช่เย็น) จำไว้ว่าเครื่องดื่มดับกระหายที่ดีที่สุดก็คือน้ำเปล่า หากต้องการคาเฟอีนก็ควรเลือกดื่มชาดำ หรือกาแฟดำ
– ดีท็อกซ์ความหวานบ้าง คือให้อดรสหวานสัก 2-3 วันหากทนไม่ไหว ก็ค่อยๆ ทานหวานให้น้อยลง ไม่นานคุณก็จะไม่ทานหวานไปได้เอง
จะเห็นได้ว่าการกินอาหารหวานๆ ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลมาก เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มากมาย เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ดังนั้นก็ควรปรับเปลี่ยนวิธีการกินกันได้แล้วนะคะ ลดการกินหวานลง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดความหวานออกจากชีวิตประจำวัน แต่ต้องรู้จักทานน้ำตาลในปริมาณที่พอดี เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดโรคได้แล้วล่ะค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com