ขนมจากธัญพืช..ดีต่อสุขภาพผู้สูงวัย
advertisement
เป็นอีกหนึ่งแหล่งสร้างพลังงานให้กับผู้อายุ สำหรับ "ขนมหวานกับผู้สูงอายุ" โดยเฉพาะคนสูงวัยที่มีปัญหา "เบื่ออาหาร" หรือ "กินข้าวไม่ได้" โดยเฉพาะเมนูขนมไทยๆ ที่ปรุงจากถั่ว ที่มีโปรตีนและกากใยอาหารสูงเป็นหลัก
[ads]
ดังนั้น เพื่อให้การบริโภคขนมหวานในผู้สูงอายุ ได้ประโยชน์ในแง่ของการสร้างเสริมสุขภาพมากกว่ากระตุ้นโรค อย่างโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีข้อมูลจาก ปวีณา วงศ์อัยรา นักกำหนดอาหาร มาบอกถึงเมนูขนมหวานไทยๆ ที่หากบริโภคอย่างพอเหมาะ จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้สูงวัย
advertisement
"ต้องบอกก่อนว่าเมนูขนมหวานจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงวัยนั้น ต้องเลือกบริโภคอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ไม่ควรเลือกบริโภคขนมที่ปรุงจากแป้งและน้ำตาล หรือกะทิ โดยที่ไม่ใส่วัตถุดิบอื่นๆ ร่วมเลย เช่น ขนมชั้น ฝอยทอง ทองหยิบทองหยอด ตรงนี้ถ้าหวานจัดมาก ก็ห้ามผู้สูงอายุบริโภคโดยเด็ดขาดค่ะ เพราะอาจกระตุ้นน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานให้สูง และส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ค่ะ"
ส่วนเมนูขนมหวานที่ผู้สูงอายุสามารถบริโภคได้นั้น หากเป็น "เมนูไทย" อาจจะเป็นเมนูที่ปรุงจากถั่วแดง-ถั่วเขียว หรือธัญพืชอย่างลูกเดือย ที่สำคัญต้องใส่น้ำตาลในปริมาณที่น้อยที่สุด ก็จะมีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากถั่วและลูกเดือยจะมีโปรตีนสูง และมีกากใยอาหารที่ช่วยย่อยได้ อาทิ "เมนูถั่วเขียว-แดงต้มน้ำตาล" ซึ่งการปรุงเมนูนี้นอกจากจะใส่น้ำตาลให้น้อยลงแล้ว การต้มให้เปื่อยจะช่วยเรื่องการบดเคี้ยวของผู้สูงอายุได้ดี และเมนูขนมจากถั่วนั้น ถือเป็นเมนูที่ช่วยเสริมสร้างพลังงานในร่างกายให้กับผู้สูงอายุที่มักเบื่ออาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้ "เมนูมันต้มขิง" ซึ่งเมนูนี้ขิงจะช่วยลดอาการท้องอืดให้กับผู้สูงอายุได้ดีค่ะ ที่สำคัญในมันเทศ ยังมีแร่ธาตุอย่างโปรแตสเซียม จะช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจ และระบบประสาทให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
advertisement
ที่ขาดไม่ได้คือเมนูขนมที่ปรุงจาก "กล้วยน้ำว้า" อย่าง "เมนูขนมกล้วย" ซึ่งหากต้องการให้เมนูนี้ดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ การใส่น้ำตาลให้น้อย และใส่กล้วยสุกอย่างเดียว เพราะในกล้วยสุกจะมีสาร "พรีไบไอติก" ที่ไม่เพียงเป็นยาระบาย แต่ยังช่วยเพิ่มอาหารของจุลินทรีย์ชนิดดี ให้กับลำไส้ของผู้สูงอายุ ช่วยให้ขับถ่ายง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ "พืชสมุนไพร" เป็นเมนูขนมหวานให้กับผู้สูงอายุรับประทานได้ เช่น "เมนูขนมครกใส่งาและถั่วคั่ว" (ผสมลงในเนื้อขนมครก) เพราะในงาดำจะมีสารต้านอนุมูลอิสระและมีไขมันตัวดี นอกจากนี้ในงาดำยังมีแคลเซียมที่ช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงได้เช่นกัน (ต้องบริโภคร่วมกับนมหรือผักสดที่มีแคลเซียมสูง) และเมนูที่ทำจากสมุนไพรจีน ที่รู้จักกันดีอย่าง "เมนูเฉาก๊วย" ซึ่งเมนูนี้หากปรุงรับประทานเองโดยใส่น้ำตาลให้น้อย แต่เพิ่มนมสดเข้าไปแทน ก็จะช่วยลดการ กระหายน้ำในผู้สูงอายุได้"
[ads]
นักกำหนดอาหารสาวกล่าวทิ้งท้ายว่า "เนื่องจากขนมที่รสไม่หวานจัด ถือเป็นเมนูอาหารทางเลือกในการเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย โดยการที่ผู้สูงอายุต้องเลือกบริโภคให้สอดคล้องกับสุขภาพร่างกายและโรคที่เป็นอยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้การบริโภคผลไม้อย่าง แก้วมังกร, กล้วยสุก และมะละกอ หรือกีวี ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการดูแลสุขภาพอย่างหนึ่งค่ะ"
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : thaihealth.or.th, saowalak pisitpaiboon, หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์