เตือน! 10 จุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน ที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก..ป้องกันไว้ก่อนจะสายเกินแก้!!
advertisement
สำหรับเด็กๆ แล้ว โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 เลยก็ว่าได้นะคะ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันเด็กๆ ต้องอยู่ที่โรงเรียน บางคนอยู่โรงเรียนมากกว่าอยู่บ้านเสียอีก โดยเฉพาะเด็กที่เรียนพิเศษอยู่ที่โรงเรียน ดังนั้นแล้วโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่ทุกคนจะต้องเอาใจใส่ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย บ่อยครั้งที่เรามักจะเคยได้ยินข่าวเด็กได้รับบาดเจ็บที่โรงเรียน นอกจากความซุกซนตามปกติของเด็กแล้ว สถานที่ๆ ในโรงเรียนหากไม่ได้มาตรฐานก็เพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ นำมาซึ่งอันตรายต่อเด็กได้ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารโรงเรียน ครู ภารโรง เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนรวมถึงตัวผู้ปกครองเองก็ควรร่วมด้วยช่วยกัน สอดส่องดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะสถานที่ในโรงเรียนที่เป็นจุดเสี่ยง ดังนั้นวันนี้ Kaijeaw.com จึงมีแนวทางในการจัดการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน มาฝากกันค่ะ
advertisement
1. ห้องเรียน
– บอร์ด กระดานหน้าชั้น ตู้ หรือชั้นวางของ จะต้องมีการยึดติดผนังอย่างแน่นหนา ไม่ให้หล่นหรือเอนล้มทับใครได้ และต้องห้ามให้นักเรียนมาปีนหรือโยกเล่นโดยเด็ดขาด
– เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม ทีวี เครื่องปรับอากาศ ต้องคอยตรวจตราเสมอว่ายังยึดแน่นอยู่หรือไม่ หากสนิมเขรอะ หรือชำรุดก็ควรรีบเปลี่ยนใหม่หรือแก้ไขทันที และที่สำคัญคือจะต้องมีระบบตัดไฟเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
– โต๊ะ เก้าอี้จะต้องไม่ทรุดโทรม ขาโยกเยก ต้องไม่มีตะปู ไม่มีเสี้ยนไม้ หรือเหล็กปริฉีกแหลมๆ คมๆ
2. ห้องน้ำ
– กระดานปูพื้นห้องน้ำต้องเป็นแบบไม่ลื่น บริเวณและภายในห้องน้ำต้องมีแสงสว่าง ไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ และมีความสะอาดไม่มีกลิ่น ไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
– ประตูห้องน้ำอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ตัวล๊อคต้องไม่เสียหาย กลอนประตูต้องไม่ฝืดหรือสนิมเขรอะ สำหรับห้องสุขาสำหรับเด็กเล็กไม่ต้องติดกลอน แต่จะต้องมีคุณครูคอยดูแลเด็กเล็กด้วย
– จะต้องตั้งอยู่ในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด และไม่ตั้งอยู่ในที่ลับหูลับตา (เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายจากผู้ประสงค์ร้าย) [ads]
3. ระบบไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายนโรงเรียน
– มีช่างผู้ชำนาญในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และมีการตรวจสอบตามระยะการใช้งาน หรืออย่างน้อย ทุก 6 เดือน
– อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดมีการติดตั้งสายดินและอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้า
– สำหรับตู้น้ำดื่มไฟฟ้า จะต้องมีพื้นฉนวนรองรับเพื่อป้องกันไฟรั่ว
– ทางโรงเรียนจะต้องมีการอบรมอันตรายและการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง เป็นประจำ
4. อุปกรณ์เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น
– สนามเด็กเล่นต้องเป็นพื้นเรียบและปูด้วยวัสดุอ่อน เช่น ทราย ยางสังเคราะห์ เป็นต้น จะช่วยรองรับแรงกระแทก หากเด็กพลัดตกจากเครื่องเล่น
– จัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นส่วน ทำรั้วรอบสนามเด็กเล่น ป้องกันไม่ให้เด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล
– ต้องมีการติดตั้งที่มั่นคง ฝังฐานรากติดตรึงอย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่ให้โยกคลอน พื้นที่บริเวณนั้นต้องไม่แตกร้าวหรือทรุดตัว
– เครื่องเล่นต้องได้มาตรฐานเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก เด็กก่อนวัยเรียน(เด็กอนุบาล) ไม่ควรเล่นเครื่องเล่นที่สูงเกิน 1.20 เมตร (วัดจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นนั้นๆ) ส่วนเด็กวัยเรียน (เด็กประถม) ไม่ควรเล่นที่สูงเกิน 1.80 เมตร
– เครื่องเล่นกระดานลื่นต้องมีราวจับและแผงกันการพลัดตก เครื่องเล่นที่มีลักษณะเป็นลูกกรง ควรมีช่องว่างมากกว่า 23 นิ้ว เพื่อป้องกันศีรษะเด็กเข้าไปติด
– หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องเล่น ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงอยู่เสมอ หากพบเครื่องเล่นชำรุดควรรีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที
– มีผู้ดูแลเด็กเสมอ ต้องมีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการเล่น การใช้เครื่องเล่น การระวังการบาดเจ็บและการปฐมพยาบาล สัดส่วนผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กเล็กเท่ากับ 1: 20 และผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กโตเท่ากับ 1 : 50 ซึ่งต้องมีการจัดหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่ติดตั้ง และตรวจสอบสนามเด็กเล่น และผู้ดูแลเด็กในขณะเล่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
5. สระน้ำหรือบ่อน้ำ
– มีการออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้มาตรฐานการใช้งานสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย
– มีการตรวจสอบการใช้งานเป็นปะจำ ทั้งอุปกรณ์สถานที่ และน้ำในสระต้องสะอาดและปลอดภัยสำหรับเด็ก
– ควรทำรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ และติดตั้งป้ายเตือนอันตรายจากการเล่นบริเวณริมน้ำไว้ด้วย เพื่อป้องกันเด็กลงไปเล่นน้ำ หรือพลัดตกน้ำเสียชีวิต
6. อาคารเรียน
– อาคารเรียนมีความสูงมากกว่า 2 ชั้น ควรจัดให้มีลูกกรงเหล็กปิดระเบียง ประตู หน้าต่าง เพื่อป้องกันเด็กปีนป่ายเล่นและพลัดตกลงมา
– ติดตั้งป้ายเตือนในจุดเสี่ยงอันตราย เช่น บริเวณไหนมีพื้นลื่น บันไดชัน สระน้ำลึก ฯลฯ
– จัดให้มีครูดูแลความปลอดภัยของเด็กในโรงเรียน พร้อมประสานเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางแก่เด็ก
advertisement
7. สนามกีฬา
สถานที่วิ่งเล่น ทำกินกรรมและเล่นกีฬาของเด็กๆ ไม่ควรมีหลุมมีบ่อ เป็นสาเหตุให้เด็กๆ สะดุดหกล้มจนบาดเจ็บได้ ดังนั้น ต้องคอยหมั่นตรวจสอบสภาพสนามอยู่เสมอ ไม่ให้มีเศษวัสดุของมีคมตกอยู่ในพื้นที่ พร้อมกับดูแลรักษาพื้นสนามไม่ให้หญ้าขึ้นรก เพราะหญ้ารกอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษได้ [ads]
8. อาคารที่กำลังก่อสร้าง
– จัดทำรั้วกั้นให้ห่างจากบริเวณก่อสร้างอย่างเหมาะสม หรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้างไว้ด้วย พร้อมกับติดตั้งป้ายเตือน
– ประกาศเตือนไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นในบริเวณดังกล่าว และย้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้าง เช่น กระจก กระเบื้อง ตะปู เป็นต้น
9. บันได
– ครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนต้องสอนเด็กไม่ให้วิ่งเล่นบริเวณบันได เพราะอาจเกิดอันตรายได้
– ดูแลและตรวจสอบสภาพการใช้งานของบันไดอย่างสม่ำเสมอ หากชำรุดต้องซ่อมแซมบันไดให้อยู่ในสภาพแข็งแรง โดยเฉพาะบันไดที่เป็นไม้ เพราะบันไดไม้อาจถูกปลวกกัดกินจนผุพัง ถ้าเด็กไปยืนพิง หรือกระโดดเล่นบนบันได อาจตกบันไดได้รับบาดเจ็บ
10. ประตูโรงเรียน
– ตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าประตูโรงเรียนอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ โดยเฉพาะรางและล้อเลื่อน มีน็อตยึดติดอย่างแน่นหนาหรือไม่
– หากชำรุด หรือผุกร่อน ต้องแจ้งให้ช่างผู้ชำนาญการมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที
– ทำเสาครอบประตู เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก
– ผู้ดูแลต้องดูแลเด็กไม่ให้ปีนป่ายประตูและกำแพงโรงเรียน เพื่อป้องกันการพลัดตกหรือถูกประตูและกำแพงล้มทับ
จะเห็นได้ว่าจุดเสี่ยงอันตรายอยู่รอบตัวเด็กๆ ทั้งนั้นเลยนะคะ เช่นนี้แล้วเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย แก้ไขจุดเสี่ยงทั้งหลาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้เด็กๆ นอกจากนั้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือการสอนเด็กๆ ให้รู้จักระมัดระวังอันตรายด้วย จะได้อยู่ในรั้วโรงเรียนอย่างปลอดภัย พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com