ฉลากยาสำคัญ อันตรายหากไม่อ่าน!!
advertisement
เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น หลายๆ คนมักนิยมซื้อยาที่ร้านขายยามากินมาใช้รักษาความเจ็บป่วย แต่การซื้อยามาใช้นั้น ต้องมีความรอบคอบให้มาก เพราะหากใช้งานผิดวิธี นอกจากจะไม่หายจากโรคภัยแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ สิ่งที่สำคัญคือการเข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สามารถทำได้โดยการอ่านฉลากยา ที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์ค่ะ ฉลากยามีความสำคัญอย่างไร อันตรายอย่างไรถ้าไม่อ่าน!! วันนี้ Kaijeaw.com มีคำตอบค่ะ
เอกสารกำกับยา ..คือ ?
เอกสารที่บรรจุอยู่ในขวดหรือในกล่องยา ซึ่งในส่วนของเอกสารกำกับยา จะระบุรายละเอียดเกี่ยวกับยาเอาไว้หลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่
– ชื่อยา ทั้งชื่อสามัญของตัวยาและชื่อทางการค้า ชื่อสามัญของยาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นการช่วยป้องกันการใช้ยาซ้ำซ้อน เวลาไปซื้อยาตัวอื่นๆ มาใช้ร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้รับประทานได้
– เลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งเป็นหลักฐานว่ายานั้นได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และยานั้นใช้ได้ผลแน่นอน
– ส่วนประกอบของยา ซึ่งจะระบุว่ายาที่ใช้มีตัวยาอะไรบ้าง แต่ละตัวมีคุณสมบัติอย่างไร
[ads]
สรรพคุณของยา ..ใช้ในการรักษาอาการใด ?
– ขนาดและวิธีการใช้ยา ซึ่งจะระบุถึงปริมาณการรับประทานยา วิธีใช้ และเวลาในการใช้ยา
– คำเตือนหรือข้อควรระวัง ซึ่งจะระบุถึงอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ของยานั้น เพื่อจะได้พิจารณาว่าตนสามารถรับได้เพียงใด เช่น ยาบางชนิดกินแล้วอาจจะง่วงนอน หากมีงานสำคัญต้องใช้สมาธิจึงไม่ควรใช้ หรือเป็นเรื่องของอาการที่พบในบางราย หรือการออกฤทธิ์ของยานั้น ว่าอาจจะมีการเสริมฤทธิ์กับยาตัวอื่นได้
– วิธีการเก็บรักษา ต้องมีการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ถ้าหากเก็บยาไม่ถูกต้อง ยาก็อาจจะเสื่อมสภาพ ไม่มีประสิทธิผลในการรักษา หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
ฉลากยา
ส่วนของเอกสารที่ติดอยู่กับกล่อง ซอง หรือขวดยา โดยจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับยาระบุอยู่ เช่น ชื่อทางการค้า เลขทะเบียน และวันหมดอายุ แต่จะมีรายละเอียดน้อยกว่าเอกสารกำกับยา
คำเตือนบนเอกสารกำกับยา
สำคัญมากที่คำเตือนบนฉลากยาหรือเอกสารกำกับยา เป็นข้อความที่ผู้ใช้ยาควรให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้ หากใช้อย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งหากผู้ใช้ยาอ่านคำเตือนแล้วไม่เข้าใจ ก็สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรได้
อันตรายจากการที่ไม่อ่านฉลากยาให้เข้าใจก่อนการใช้
เสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้ยา เนื่องจากการอ่านฉลากยาจะช่วยให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย หากไม่อ่านฉลากยาก็จะไม่ทราบว่ารับประทานถูกต้องหรือไม่ อาจเกิดผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกายหากใช้ยาอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม
หลักการใช้ยาให้ถูกต้องได้ประสิทธิภาพดีและปลอดภัย
ยามีอยู่หลายชนิดด้วยกัน บางชนิดเราอาจหาซื้อเองได้ แต่บางชนิด ต้องซื้อตามใบสั่งของแพทย์เท่านั้น เพราะยาเหล่านี้เป็นยาอันตรายหากใช้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นก่อนใช้ยา เราจึงควรทราบหลักการใช้ยาให้ถูกต้องดังนี้
1) ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจ อ่านให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากสงสัยควรถามเภสัชที่ขายยา
2) ใช้ยาให้ตรงกับโรค โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ เพราะจะทำให้
ไม่เป็นอันตราย
3) ใช้ยาให้ถูกวิธี เช่น ไม่แกะผงยาที่อยู่ในแคปซูลมาโรยแผล ยาชนิดที่ใช้ทา
ห้ามนำมารับประทาน เป็นต้น
4) ใช้ยาให้เหมาะกับบุคคล ควรใช้ยาให้ถูกกับสภาพของบุคคล เพราะร่างกายของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเด็ก หญิงมีครรภ์ และ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
5) ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรใช้ยาตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรกำหนดไว้
เพราะถ้าใช้เกินขนาด อาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือถ้าใช้น้อยไป อาจจะทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผลดี
6) ใช้ยาให้ถูกเวลา ยาแต่ละชนิดจะกำหนดระยะเวลาที่ใช้ไว้ ดังนี้
– ยาก่อนอาหาร ให้กินก่อนอาหาร 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี ยกเว้นยาบางชนิดที่มีข้อแนะนำพิเศษ
– ยาหลังอาหาร ให้กินหลังอาหารทันที หรือไม่เกิน 15 นาที
– ยาพร้อมอาหาร กินพร้อมอาหาร ในมื้อนั้นๆ
*** หากลืมกินยาในระยะเวลาที่กำหนด ให้กินทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าใกล้เวลากินยาครั้งต่อไปก็รอกินยาในมื้อต่อไปในขนาดปกติ
7) ยาผงผสมน้ำกินฆ่าเชื้อสำหรับเด็ก หลังจากผสมน้ำแล้วไม่ควรใช้เกิน 7 วัน ขณะที่ไม่ใช้ยา ควรเก็บยาในตู้เย็นชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง
8) ยาหยอดตา หลังเปิดใช้แล้ว จะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน โดยทั่วไปจะเก็บในตู้เย็นชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
9) ยาป้ายตา หลังเปิดใช้แล้วจะเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน ในอุณหภูมิห้องปกติ
10) ยาเก็บในตู้เย็น เก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส หรือชั้นใต้ช่องแข็งลงมา ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
11) การเก็บรักษายาทั่วไป ควรเก็บไว้ในที่แห้ง และพ้นจากแสงแดด
12) อาการแพ้ยา หากกินยาแล้ว มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีผื่นคันตามตัว มีจ้ำที่ผิวหนัง หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือใจสั่น ให้หยุดยา และรีบปรึกษาแพทย์ทันที
การใช้ยาอย่างถูกต้องได้ผลที่ดีและปลอดภัยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไรเลยนะคะ เพียงแค่คุณใส่ใจในการอ่านฉลากยา และเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดจนเข้าใจ ก่อนการใช้ยานั้นๆ เสมอ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ก็ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยา และหลีกเลี่ยงผลอันไม่พึงประสงค์ของยา เพื่อสุขภาพที่ดีได้ในทุกๆ วันนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com