ดูแลไตอย่างไร..ให้อยู่กับเรานานๆ

advertisement
อวัยวะภายในที่มีความสำคัญมากๆ อย่าง “ไต” หากว่าเราไม่ดูแลรักษาและป้องกันโรคที่อาจเกิดกับไตให้ดีแล้วล่ะก็ ย่อมส่งผลให้เกิดความเสื่อม และเป็นโรคไตได้ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลในผู้คนจำนวนไม่น้อยพบว่ายังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงให้ไตถูกทำร้าย หรือส่งเสริมให้ไตทำงานผิดปกติกันอยู่ไม่น้อย โดยไม่รู้ตัว โดยโรคไตนั้นนับเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างความทุกข์ทรมาน บั่นทอนคุณภาพชีวิตและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนสูงมาก ดังนั้นแล้วมาหาวิธีการดูแลไต ให้อยู่กับเราได้นานๆ กันค่ะ
advertisement

ไตมีหน้าที่สำคัญอยู่ 5 ประการคือ
1) ปรับสมดุลของน้ำในร่างกาย
2) ปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
3) ขับกรดออกจากร่างกาย
4) ขับของเสียออกจากร่างกาย
5) ผลิตและรับฮอร์โมนเพื่อปรับระดับความดันโลหิต
ร่างกายได้รับประทานอาหารเข้าไป อาหารส่วนหนึ่งจะเข้าไปสร้างเสริมสุขภาพและชดเชยส่วนที่สึกหรอของร่างกาย อีกส่วนหนึ่งจะกลายเป็นของเสีย กรด หรือ เกลือ หรือน้ำที่มากเกินไป ซึ่งไตก็จะต้องทำหน้าที่ทั้ง 5 ประการ โดยไตนับเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักที่สุดของร่างกาย และมีความบอบบางมาก เพราะถึงแม้ว่าไตจะมีหลอดเลือดไปเลี้ยง แต่หากป่วยเป็นโรคที่ส่งผลให้หลอดเลือดเสียหรือแข็ง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง แล้วเลือดไม่ไปเลี้ยงไต ในระยะยาวไตก็จะมีความเสื่อมได้ กลายเป็นไตฝ่อ และเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด [ads]
สาเหตุสำคัญที่ทำทำให้ไตเสื่อมลง มี 3 ประการคือ
1) โรคติดเชื้อ เช่น มาลาเรีย โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
2) โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง หรือ โรค SLE
3) โรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในโลหิตสูง
นอกจากนั้นการได้รับมลพิษ การรับประทานยาบางชนิด เช่นยาแก้ปวดข้อ และการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ก็จะส่งผลเสียต่อไตได้ด้วยเช่นกัน
สัญญานเตือน…เมื่อโรคไตมาเยือน
1) ปัสสาวะมีฟอง และเมื่อราดน้ำล้างแล้วฟองนั้นไม่แตก
2) ปัสสาวะกลางคืนบ่อยๆ มีกลิ่น และมีมดตอม
3) ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้
4) มีอาการบวม สังเกตว่ากดดูแล้วจะเป็นรอยบุ๋ม
หากมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจวัดความดันโลหิต ก็จะช่วยคัดกรองโรคไตในเบื้องต้นได้
อาการแสดงของโรคไต
คนเรามีไต 2 ข้าง และธรรมชาติได้สร้างเครื่องกรองย่อยในไตเผื่อไว้มาก จึงทำให้ไตทำหน้าที่ได้ราบรื่น แม้จะเหลือไตที่สมบูรณ์อยู่เพียงข้างเดียวก็ตาม เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย แต่ถ้าเครื่องกรองเสียไปเหลือเพียง 25% ไตจะเริ่มแสดงความบกพร่องให้เห็น โดยจะปรากฏอาการให้ทราบว่า สภาพไม่ดีสมบูรณ์แล้ว อาการแสดงที่พบได้คือ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด ปัสสาวะสีเข้มแบบสีน้ำล้างเนื้อ บวมที่หน้า เท้า ปวดหลัง ปวดเอว เบื่ออาหาร คลื่นไส้และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
หากตรวจปัสสาวะก็จะพบสารโปรตีน หรือสารไข่ขาวในปัสสาวะที่รั่วออกมา ตรวจเลือดก็จะพบสารของเสียคั่ง เช่น สาร creatinine, blood urea nitrogen (BUN) ซึ่งไตไม่สามารถกรองออกมาได้ตามปกติ
หากไตเสื่อมลงไปอีก จนเหลือไม่ถึง 10-15% ก็จะเริ่มเกิดอาการไตวายระยะสุดท้าย และหากแพทย์ไม่เข้าไปช่วยเหลือโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียผ่านทางช่องท้องตลอดชีวิต หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว ผู้ป่วยก็มักลงเอยด้วยการเสียชีวิตในที่สุด
วิธีการดูแลและป้องกันสุขภาพไต
1. ไม่ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ เพราะการทำกิจกรรมใดๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องและไม่ได้พักผ่อน หรือใช้ชีวิตแบบสมบุกสมบัน เที่ยวหามรุ่งหามค่ำ ไตจะทำงานหนักมาก และเมื่อผ่านเวลาไปนานๆ ไตจะค่อยๆ ทำงานเสื่อมลง ยิ่งร่วมกับการนอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้ไตเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น และจะลุกลามไปในระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
2. ขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนเป็นช่วงเวลาในการบำรุงและส่งเสริมให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ ฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเอง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทุกระบบ ไตก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบดังกล่าวด้วย ดังนั้นเมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อน ก็ไม่มีโอกาสได้ซ่อมแซมตัวเอง และทำงานด้อยประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ จนเสื่อมได้ในที่สุด [ads]
3. คลายความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายมักกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัว หรือหายใจไม่เต็มปอด ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ ไตก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบเช่นกัน จึงได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นจึงควรลดความเครียด และหากิจกรรมสบายๆ ทำ ให้หายใจเต็มปอดในทุกๆ วันนะคะ
4. ดื่มน้ำให้พอดี ไม่น้อยหรือมากเกินไป เนื่องจากไตทำงานโดยตรงกับการฟอกของเสียในร่างกาย และขับออกมาพร้อมปัสสาวะ การดื่มน้ำมากไปจะทำให้ไตทำงานหนัก ขณะที่การดื่มน้ำน้อยเกินไปก็ทำให้ปัสสาวะสีเข้ม ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเช่นกัน ทางที่ดีคือการดื่มน้ำอย่างพอดี วันละ 1.5 – 2 ลิตรเป็นประจำทุกวัน
5. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ เครื่องดื่มบางชนิดยิ่งดื่มยิ่งทำให้เสียน้ำในร่างกาย เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีนจะกระตุ้นการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียน้ำบ่อยขึ้น หากเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้ไตเสื่อมสภาพได้
6. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีผลทำให้ร่างกายร้อนขึ้น และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น นานวันเข้าไตก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลงได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะยิ่งทำให้ร่างกายร้อน และขับประจำเดือนมากขึ้น ทำให้ตัวซีดง่าย และไตทำงานหนักเพิ่มขึ้นอีกด้วย
7. ไม่กินยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางกลุ่ม (ทั้งในการสั่งยาจากแพทย์แผนจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน) อาจส่งผลต่อการทำงานของไตและสมรรถภาพทางเพศด้วย นอกจากนี้ ยาระงับในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ก็กระทบต่อไตด้วยเช่นกัน
8. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ในทางแพทย์แผนจีนเชื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ทำให้พลังชีวิตที่เก็บกักอยู่ที่ไตลดลง และส่งผลต่อการทำงานของไตด้วย ทำให้แก่เร็ว และผิวหนังเหี่ยวย่นได้
9. งดกินอาหารรสจัด โดยอาหารรสเค็มเกินไปหรือเผ็ดมากๆ จะทำให้ร่างกายดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อทำละลายเกลือที่กินเข้าไป ส่งผลให้ไตทำงานหนัก ขณะที่อาหารเผ็ดจัด ก็ทำให้ร่างกายต้องการน้ำเช่นกัน ทั้งเผื่อดับรสเผ็ด และดับอุณหภูมิร่างกายที่ร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อไตมาก
10. หลีกเลี่ยงการใช้งานไตโดยไม่จำเป็น จากการล้างพิษตับไต การกินอาหารเสริม น้ำสมุนไพรต่างๆ ที่อ้างว่าล้างพิษตับไตและบำรุงอวัยวะต่างๆ ได้นั้น ควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว การไม่รู้แหล่งผลิต แหล่งที่มา ไม่รู้รายละเอียดหรือส่วนประกอบที่แน่ชัด กลับจะส่งผลให้เป็นพิษต่อตับ ต่อไต ต่ออวัยวะของร่างกายด้วย
อย่างที่ทราบกันแล้วนะคะ ว่าไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากๆ ไตที่มีสุขภาพดีสมบูรณ์ย่อมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อทราบว่าพฤติกรรมใดทำร้ายไตบ้าง ก็ควรเลี่ยงได้แล้วนะคะ แนะนำให้ดูแลและบำรุงสุขภาพไตกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีได้ในทุกๆ วันค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com