ตาบอดสี คืออะไรรักษาอย่างไร?
advertisement
ความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญอย่างดวงตา แม้เพียงเล็กน้อยก็นับว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง เพราะชีวิตของคนเราจำเป็นที่จะต้องมองเห็น และควรเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นปกติเสมอ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็มักสร้างปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้มากมาย อีกทั้งดวงตาก็เป็นอวัยวะที่บอบบาง หากเกิดโรคร้ายก็จะนำมาซึ่งความเจ็บปวดไม่น้อย และอาการที่ผิดปกติที่พบได้บ่อยๆ อย่างตาบอดสีก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราควรใส่ใจดูแล หากเกิดขึ้นแล้วควรดูแลรักษาอย่างไร? Kaijeaw.com มีคำตอบค่ะ
โรคตาบอดสี (Color Blindness) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะเกิดปัญหาในการแยกแยะสีของวัตถุบางอย่าง อาจมีความเข้าใจผิดว่าผู้ที่เป็นโรคตาบอดสีจะไม่สามารถรับรู้สีใดๆ ได้เลย แต่ในความเป็นจริงผู้ที่มีภาวะตาบอดสีอย่างรุนแรงจนกระทั่งเห็นภาพต่างๆ เป็นเพียงสีขาวดำนั้นสามารถพบได้น้อยมากๆ โดยมากแล้วคนที่ตาบอดสีจะรับรู้สีได้ แต่สามารถแยกสีมีความคล้ายกันได้น้อย อย่างไรก็ตาม คนที่ตาบอดสีที่สามารถบอกสีได้ถูกต้อง เช่น ตาบอดสีแดง จะสามารถบอกชื่อสีแดงได้ถูกต้อง ซึ่งในความเป็นจริง มองเห็นสีแดงแตกต่างไปจากคนปกติ เพราะได้รับการสอนให้เรียกสีที่เค้ามองเห็นจากวัตถุนั้นๆ ว่า นี่คือสีแดง จึงมักจะบอกสีได้ถูกต้อง
[ads]
กระบวนการรับรู้และแยกความแตกต่างของสีที่ปกติ
ความสามารถในการรับรู้และแยกความแตกต่างระหว่างสีต่างๆ นั้นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ เพราะตั้งแต่เด็กเราได้รับการสั่งสอนให้เรียกชื่อสีต่างๆ ที่เราเห็นตามผู้สอน หากแต่สีที่แต่ละบุคคลรับรู้นั้นอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซลล์รับแสงสี (cone photoreceptor) ที่จอประสาทตาโดยสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกสอนมา ดังนั้นเราอาจเห็นสีผิดปกติตั้งแต่เกิด แต่สามารถเรียกชื่อสีได้ถูกต้องตามผู้สอนก็เป็นไปได้ หรือเกิดจากโรคร้ายต่างๆ ที่มีผลโดยตรงกับจอประสาทตา, เส้นประสาทตาและสมอง
สาเหตุของโรคตาบอดสี
เกิดขึ้นจากเซลล์ประสาทชนิดหนึ่งในม่านตาซึ่งมีความไวต่อสีต่าง มีความบกพร่องหรือพิการ เป็นเหตุทำให้ดวงตาไม่สามารถที่จะมองเห็นสีบางสีได้ ซึ่งตาบอดสีมีอยู่หลายชนิด ชนิดที่ทุกคนรู้จักโดยทั่วไป ได้แก่ ตาบอดสีที่มองสีเขียว กับสีแดงไม่เห็น (Red – Green blindness) ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถแยกสีแดงกับสีเขียวจากสีอื่นๆ ได้ ดังนั้นคนตาบอดสีชนิดนี้จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกเป็นสีน้ำเงิน สีเหลือง สีขาว สีดำ สีเทา และส่วนผสมของสีเหล่านั้นทั้งหมด การพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและมักเป็นกับแบบ แดง-เขียวแทบทั้งหมด เนื่องจากว่ายีนส์ ที่ควบคุมการสร้างรงควัตถุรับสีชนิดสีแดง และสีเขียวนั้น (red-pigment gene, green-pigment gene) อยู่บนโครโมโซม X เมื่อยีนส์นี้ขาดตกบกพร่องไปในคนใดคนหนึ่งก็จะทำให้คนนั้นสามารถรับรู้สีเหล่านั้นได้ลดลงกว่าคนปกติแน่นอนว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นน้อยกว่าเนื่องจากในผู้หญิงมีโครโมโซม X ถึงสองตัว ถ้าเพียงแต่ X ตัวใดตัวหนึ่งมียีนเหล่านี้อยู่ ก็สามารถรับรู้สีได้แล้วในขณะที่ผู้ชาย มีโครโมโซม X เพียงตัวเดียว อีกตัวเป็น Y ซึ่งไม่ได้มีแพคเกจบรรจุยีนนี้แถมมาด้วย ก็จะแสดงอาการได้เมื่อ X ตัวเดียวเท่าที่มีอยู่นั้นบกพร่องไป
อาการตาบอดสีมีหลายชนิด
– ชนิดที่พบบ่อยที่สุด เรียกว่า red/green colour blindness โดยจะแยกสีแดงและสีเขียวค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะเวลาที่แสงไม่สว่างนัก ส่วน
– น้อยลงมาของคนที่มีตาบอดสีคือพวกที่ไม่สามารถแยกสีน้ำเงินกับสีเหลืองจะมีบ้างเหมือนกันที่เป็นโรคตาบอดสีทุกสีเลยแต่เป็นส่วนน้อยมาก อาการตาบอดสีชนิดนี้มักเกิดจากการถูกทำลายของจอประสาทตาเส้นประสาทตาหรือส่วนรับรู้ในสมองจากสาเหตุต่างๆ เช่น การอักเสบ ภาวะขาดเลือด อุบัติเหตุ เกิดเนื้องอก การเสื่อมลงของจอประสาทตาหรือผลข้างเคียงจากยาหรือสารเคมี ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรียกชื่อสีหรือเห็นสีผิดไปจากเดิม
คนที่บอดสี แดง-เขียวมักจะบอดสีน้ำเงิน-เหลืองด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นตาบอดสีชนิดใด ก็ล้วนจะมีสายตาหรือการมองเห็น (vision) ที่เป็นปกติ เพียงแต่ความสามารถในการแยกสี ไม่ปกติเท่านั้นเอง
โดยมากพบความผิดปกติของการมอง สีน้ำเงิน เหลือง มากกว่าแดงเขียว ความผิดปกติของตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน อาจเป็นตาเดียวหรือทั้ง 2 ตา มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นหรือลดลงได้ รวมทั้งมีความผิดปกติของสายตาด้านอื่นๆ เช่น การมองเห็นและลานสายตาลดลงได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของโรค
การรักษาตนเมื่อเป็นโรคตาบอดสี
– ในรายที่เป็นไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการอะไรเลย ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ ถ้าเป็นแล้วจะเป็นตลอดชีวิต โดยเฉพาะแบบที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ยังไม่พบวิธีรักษาที่ได้ผล
– ประเภทที่เกิดจากโรคต่างๆ ที่มีผลต่อจอประสาทและเส้นประสาทตา เมื่อเกิดอาการมองเห็นสีผิดปกติไป ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติถาวรได้
หากมีความสงสัยว่าตนจะมีอาการของโรคตาบอดสี สามารถเข้ารับการตรวจและปรึกษาจากจักษุแพทย์ ซึ่งเครื่องมือที่นิยมใช้ในการตรวจโรคตาบอดสี ได้แก่ แผ่นภาพ Ishihara Chart ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะเคยรู้จักลักษณะของแผ่นภาพชนิดนี้จะมีจุดวงกลมวงใหญ่และมีจุดวงกลมเล็กๆ ข้างใน ซึ่งจะซ่อนตัวเลขไว้และใช้สีที่แตกต่างกันเพื่อใช้ทดสอบการมองเห็น ซึ่งหากเป็นคนตาบอดสีจะทำให้เกิดความสับสนไม่สามารถแยกสีและอ่านตัวเลขได้ถูกต้อง แต่หากอ่านได้ถูกต้องก็ถือว่ามีอาการปกติ
[yengo]
ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยตาบอดสี
– คนที่มีภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำถึงโอกาสการถ่ายทอด ทางพันธุกรรม และโอกาสหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะตาบอดสีในหมู่ผู้สืบพันธุ์
– ภาวะตาบอดสีภายหลัง ควรรับการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุเพื่อแพทย์จะได้วางแผนการรักษาที่เหมาะสมและได้ผลดี
– คนที่มีภาวะการตาบอดสีนั้นยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ เพียงแต่การแปรผลผิดไปบ้างจากความจริง เท่านั้น ถ้าตาบอดสีไม่มากนักสามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา ทั้งนี้ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะตรวจเช็คสายตาและให้คำแนะนำในการปรับตัว ตลอดจน แนวทางในการรักษาต่อไป
– คนที่ตาบอดสีส่วนใหญ่เรียกสีถูก บอกความแตกต่างของไฟจราจรได้ และก็ทำงานส่วนใหญ่ได้เหมือนคนปกติ เว้นเสียแต่จะมีสีในบางแถบสีที่ทำให้เกิดความสับสน
– ในแบบทดสอบอาจจะมีการออกแบบสีในช่วงของแถบสีที่ทำให้คน ตาบอดสีดูสับสน ซึ่งโดยปกติในชีวิตประจำวันคนตาบอดสีจะพบสีดังกล่าวน้อยมาก
– อาชีพที่คนตาบอดสีไม่ควรทำคืออาชีพต้องใช้ความแม่นยำของสี ได้แก่ นักเคมีที่ต้องทำงานกับสี จิตรกร อาชีพที่ต้องมีการใช้สีเป็นตัวแสดงถึงสิ่งต่างๆ เช่น ในอุปกรณ์อิเลคโทรนิค ห้องนักบิน เป็นต้น
เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญช่วยในการมองเห็น อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตประจำวันที่เป็นปรกติสุข คุณจึงควรหมั่นดูแลเอาใจใส่สุขภาพของดวงตาให้ปลอดภัย และมีสุขภาพดีเสมอ พร้อมแก่การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ และเข้ารับการตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อว่าหากพบความผิดปกติหรือโรคร้ายจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com