หลัง 6 เดือน นมแม่คุณค่าลดลง! จริงหรือ?
advertisement
อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดก็คือน้ำนมจากอกแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยสัญชาตญาณของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกของนมแปรรูปบรรจุกระป๋องที่อ้างสรรพคุณดีอย่างไร และความเชื่อที่ว่าหลัง 6 เดือน นมแม่คุณค่าลดน้อยลงแล้ว ควรเสริมด้วยนมชนิดอื่น นมแม่จึงมีความสำคัญน้อยลง ทำให้แม่สมัยใหม่ไม่นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานๆ ด้วยความเชื่อเหล่านั้น แต่ความจริงเกี่ยวกับนมแม่เป็นอย่างไรนั้น Kaijeaw.com มีความรู้เรื่องนมแม่ค่ะ
advertisement
ลักษณะของนมแม่
– น้ำนม 1-4 วันแรก น้ำนมสีเหลือง มีลักษณะเป็นของเหลวสีใส เหนียวเล็กน้อย ในวันแรกๆ จะขาวและใสขึ้นในวันต่อๆ ไปเพราะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น สีเหลืองอมส้มใสเป็นสีของเบต้าแคโรทีน สารตัวนี้มีความสำคัญต่อการเติบโตของสมองและการมองเห็นของลูก
– น้ำนม 5-14 วัน น้ำนมสีขาวขุ่น มีลักษณะข้นเพราะมีปริมาณของน้ำและไขมันสูงขึ้น ทำให้นมช่วงเปลี่ยนแปลงมีน้ำตาลมากกว่านมสีเหลือง
– น้ำนม 10-14 วันเป็นต้นไป ช่วงนี้เป็นช่วงน้ำนมจริง เมื่อถึงเวลาที่แม่ลูกปรับการกินให้กินได้มากและอิ่มนานน้ำนมก็จะปรับให้มี ความเข้มข้นมากขึ้น สีจึงขาวขุ่นหรือดูเข้มข้นขึ้น
[ads]
ประโยชน์ของนมแม่
– โปรตีนคุณภาพ
โปรตีนในนมแม่มีอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองทารก และกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนในนมแม่นั้นสำคัญยิ่ง กรดอะมิโน “ทอรีน” พบได้มากในนมแม่ ช่วยในการสร้างสมองและจอตาของทารก การให้ทารกกินนมแม่จึงเป็นการช่วยพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองลูก
– ไขมันที่ย่อยสลายได้เอง
เอ็นไซม์ไลเปส (Lipase) ในนมแม่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นมแม่ย่อยง่าย ไลเปสจะช่วยในการย่อยสลายไขมันในนมแม่ ทำให้การดูดซึมของสารอาหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไลเปสจะช่วยแปลงไขมันในนมแม่ให้เป็นพลังงานกับทารก ทำให้ได้พลังงานสูงแต่ย่อยง่าย
– สารอาหารที่เปลี่ยน เมื่อความต้องการเปลี่ยน
ไขมันในนมแม่จะเปลี่ยนแปลงตลอดไม่เหมือนเดิม เมื่อลูกเริ่มต้นดูดนม น้ำนมส่วนหน้า (foremilk) จะมีไขมันต่ำแต่มีปริมาณน้ำสูง ช่วยดับกระหายได้ดี แต่น้ำนมส่วนหลัง (hind milk) จะมีไขมันสูง ทารกที่ได้ดูดนมบ่อยจะได้รับน้ำนมส่วนหลังมากกว่า ปริมาณแคลลอรี่ที่สูงในน้ำนมส่วนหลัง จะทำให้ร่างกายโตเร็วในช่วง growth spurt ดังนั้นตามหลักชีววิทยาแล้ว ทารกควรที่จะได้ดูดนมบ่อยๆเมื่อต้องการ
– ไขมันที่พิเศษ
ในนมแม่ช่วยเสริมสร้างสมองของลูก ในช่วงที่ทารกเติบโต เส้นประสาทที่ประกอบด้วย myelin จะรับส่งสัญญาณระหว่างสมองและร่างกาย myelin จะสมบูรณ์แข็งแรงเมื่อได้รับกรดไขมัน linoleic และ linolenic มีมากในนมแม่
– วิตามินและแร่ธาตุ
ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุที่ทารกสามารถดูดซึมได้ถึง 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแตกต่างจากแร่ธาตุสังเคราะห์ในนมผง ที่สามารถดูดซึมได้เพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะเดียวกัน นมแม่มี “ตัวช่วย” ที่จะเพิ่มความสามารถในการดูดซึม เช่น วิตามินซีในนมแม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุเหล็กและสังกะสี (Zinc) ทั้งนี้สารอาหารที่มีในนมแม่จะได้ถูกดูดซึมได้มาก แทนที่จะถูกขับถ่ายออกมาเสียเปล่า
– ฮอร์โมนและเอ็นไซม์
เอ็นไซม์อื่นๆ นอกจากไลเปส (lipase) ที่มีอยู่ในนมแม่จะช่วยให้ร่างกายของทารกย่อยอาหาร epidermal growth factor ยังสามารถช่วยให้การสร้างเนื้อเยื่อในระบบย่อยอาหารและในส่วนอื่นของร่างกาย อีกทั้งฮอร์โมนอื่นๆ ที่มีอยู่ในนมแม่จะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญ การเจริญเติบโต ของทารก
– นอกจากนั้นนมแม่ยังมีในนมแม่มีส่วนประกอบต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด มีภูมิต้านทานหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงไปตามวัยและสภาวะแวดล้อมของลูก
advertisement
จุดเด่นของนมแม่คือ
– มีภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ลูกไม่ป่วยบ่อย หรือถ้าป่วยก็มักจะเป็นไม่มาก และหายเร็ว
– ไม่ทำให้เกิดภูมิแพ้
– มีสารกระตุ้นพัฒนาการสำหรับอวัยวะต่างๆ และสมอง
– มีสารอาหารครบถ้วนที่เป็นมาตรฐานสำหรับลูก
นมแม่หลัง 6 เดือนไม่มีประโยชน์แล้ว จริงหรือเปล่า ?
เป็นความเชื่อที่ผิดๆ ที่ว่านมแม่หลัง 6 เดือนไม่มีประโยชน์แล้ว นมแม่ให้สารอาหาร ภูมิคุ้มกันโรค และสารที่ช่วยพัฒนาสมอง อย่างดีที่สุดและครบถ้วน แต่เมื่อเด็กทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ร่างกายต้องการเสริมสารอาหารจากอาหาร 5 หมู่ และต้องการเพิ่มขึ้นอีกเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป แต่น้ำนมแม่ยังมีประโยชน์เหมือนเดิม อาจลดหรือเพิ่มบางสารอาหารได้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่ไปกับอาหารตามวัยอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น และกระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศให้ใช้เกณฑ์นี้มาหลายปีแล้ว
advertisement
[yengo]
>> หลักการให้นมลูก
– อายุ 6 เดือน – 1 ปี นมแม่ยังเป็นอาหารหลัก อาหารอื่นเป็นอาหารเสริม
– หลัง 1 ปีขึ้นไป จึงให้ทานอาหารครบ 5 หมู่เป็นอาหารหลัก นมแม่เป็นอาหารเสริม
– ในช่วง 2 ปีแรก เป็นเวลาที่ร่างกายและสมองของลูกเติบโตอย่างรวดเร็ว และภูมิต้านทานยังน้อย จึงควรได้รับอาหารและภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมสำหรับลูกมากที่สุด สารอาหาร ปริมาณ และภูมิคุ้มกันโรคในน้ำนมแม่จะปรับเปลี่ยนไปตามวัย และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
ปัจจุบันมีการโฆษณาจากหลายๆ แหล่ง ให้เข้าใจว่านมผงมีสารอาหารครบถ้วนเหมือนหรือใกล้เคียง หรือมากกว่านมแม่ นมผงวันนี้อาจดีกว่านมผงในอดีต แต่ไม่มีทางเทียบเท่านมแม่ การแต่งเติมนมผงด้วยการเติมสารสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งร่างกายทารกดูดซึมได้น้อย เมื่อเทียบกับนมแม่แล้ว นมแม่มีสารอาหารเหล่านั้นอยู่อย่างครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะ ดูดซึมนำไปใช้ได้มาก ภูมิต้านทานในนมผงนั้น ก็เป็นเพียงการเติมภูมิต้านทานไม่กี่ชนิดลงไปเพื่อให้ได้ชื่อว่ามีอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบว่าร่างกายนำไปใช้ได้จริง
ความรู้เพิ่มเติม
– จากข้อมูลของ Iowa State University Extension Service พบว่า ในนมแม่ปริมาณ 1 ช้อนชา มีเซลส์ที่ฆ่าเชื้อโรคถึง 3,000,000 เซลส์ เพราะฉะนั้น แม้ลูกจะได้กินนมแม่แค่วันละ 1 ช้อนชา ก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี
– The American Academy of Family Physicians บอกว่า เด็กที่หย่านมแม่ก่อนสองปี มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น (AAFP 2001)
– พบว่าเด็กที่ยังกินนมแม่อยู่ในวัย 16-30 เดือน มีการเจ็บป่วยน้อยกว่า และระยะเวลาที่เจ็บป่วยนั้นน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ (Gulick 1986)
– มีภูมิคุ้มกันจำนวนมหาศาลในนมแม่ ตลอดระยะเวลาที่แม่ยังให้นมอยู่ ภูมิคุ้มกันบางชนิดในนมแม่ กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำในปีที่สอง หรือในช่วงของการหย่านม(Nutrition During Lactation 1991; p. 134) (Goldman 1983, Goldman & Goldblum 1983, Institute of Medicine 1991)
– องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า "อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้น สามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบได้ถึง 10% การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง และบางครั้งก็ได้รับการยอมรับน้อยเกินไปในแง่ของการรักษาและป้องกันการเจ็บป่วยของเด็ก"
advertisement
ส่วนคุณแม่คนไหนที่มีปัญหาน้ำนมน้อย ฟังทางนี้ค่ะ
น้ำนมแม่จะไหลเพียงพอสำหรับลูกน้อย ตราบที่ลูกยังดูดนมแม่อย่างสม่ำเสมอ น้ำนมแม่ก็จะไม่หมด อาจจะน้อยลงตามระยะเวลา แล้วก็ยังมีคุณค่าอยู่เช่นเดิมค่ะ หลังหนึ่งปีไปแล้ว แม่ส่วนใหญ่ก็จะปั๊มนมได้น้อยลง ไม่ต้องกังวลค่ะ เป็นธรรมชาติ ลูกได้ดูดนมแม่วันละสามสี่ครั้ง ร่วมกับอาหารเสริมที่เหมาะสมก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงไปกินนมผสมเลย
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่เราได้เรียบเรียงขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่และลูกน้อย ให้ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไปนานๆ และคุณได้ส่งต่อข้อมูลที่มีประโยชน์นี้แก่คนรอบข้าง เพื่อจะได้ลบล้างความเชื่อที่ผิดๆ เหล่านั้น และจะได้ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กไทยได้กินนมแม่กันไปนานๆ นะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com
ขอขอบคุณข้อมมูลจาก : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย