“บอแรกซ์” ภัยร้าย ทำลายสุขภาพ
advertisement
“สารบอแรกซ์” เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งค่ะ โดยปกติใช้ในการอุตสาหกรรมหลายประเภท แต่มีการนำมาใช้กับอาหาร! ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้อาหารกรุบกรอบขึ้น ถนอมอาหารได้นานมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ได้รับ“สารบอแรกซ์” เข้าไปสะสมในร่างกายโดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เรามาทำความรู้จักกับ“สารบอแรกซ์” ให้มากขึ้น อันตรายอย่างไรบ้างและการหลีกเลี่ยงกันได้อย่างไร ไปพร้อมๆ ไข่เจียว.com กันค่ะ
“สารบอแรกซ์” คือ
เป็นสารเคมีที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมเล็กน้อย มีชื่อเรียกอื่นๆ อีก เช่น น้ำประสานทอง สารข้าวตอก ผงกันบูด เพ่งแซ เม่งแซ ผงเนื้อนิ่ม โซเดียมบอเรต เป็นสารเคมีที่ใช้ในทางอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ช่วยให้เกิดความเหนียว แข็งแรง ใช้เป็นส่วนผสมในการฉาบภาชนะเครื่องเคลือบดินเผา ทำให้มีความมันวาว ใช้เป็นสารประสานในการเชื่อมทอง ใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคโดยเฉพาะยาภายนอกร่างกาย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา
[ads]
“สารบอแรกซ์” ในอาหาร
สารบอแรกซ์ เป็นสารพิษร้ายแรงที่กฎหมายห้ามใส่ในอาหารทุกชนิด แต่มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสหลายรายใช้สารบอแรกซ์กับอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อน กับ สารประกอบอินทรีย์ในอาหาร ทำให้อาหารนั้นมี ลักษณะหยุ่น กรอบ คงตัวอยู่ได้นาน และเป็นวัตถุกันเสียได้อีกด้วย อาหารที่มักมีการปนเปื้อนของบอแรกซ์ เช่นลูกชิ้น หมูบด ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก หมูยอ แป้งบัวแก้ว มะม่วงดอง มะม่วงอบน้ำผึ้ง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง ลูกชิ้นปิงปอง เป็นต้น
อันตรายของ “สารบอแรกซ์”
เมื่อเกิดการสะสมของสารบอแรกซ์ในร่างกาย พิษของบอแรกซ์มีผลต่อ เซลล์ของร่างกายเกือบท้ังหมด ก่อให้เกิดความผิดปกติรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับความ เข้มข้นของบอแรกซ์ ที่ร่างกายได้รับและเกิดการสะสม ซึ่งในไตเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากท่ีสุด อาการจะปรากฏให้เห็นภายใน 1 สัปดาห์ ในกระเพาะอาหารและลำไส้จะอักเสบ ตับถูกทำลาย สมองบวมช้า และมีอาการคั่งของเลือด ปริมาณบอแรกซ์ที่ทำให้เกิดพิษ และเสียชีวิตได้ในเด็ก คือ 4.5-14 กรัม ในผู้ใหญ่ คือ 5-30 กรัม
– ถ้าได้รับสารบอแรกซ์ไม่มากนักจะทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง และมีอาการอาเจียนเป็นเลือด อาจมีเลือดปนมากับอุจจาระ
– หากได้รับบ่อยๆ เป็นเวลานาน จะทำให้อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร หนังตาบวม ผิวหนังแตกเป็นแผลบวมแดง คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากสมรรถภาพการทำงานของไต ล้มเหลว ตับและสมองอาจอักเสบได้ ความดันโลหิตต่ำ ชักหมดสติ และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
การแก้พิษ : เมื่อได้รับบอแรกซ์ปริมาณที่สูงให้ใช้วิธีทำให้ อาเจียนหรือรีบส่งแพทย์เพื่อทำการล้างท้อง
[yengo]
การป้องกันอ้นตรายจาก “สารบอแรกซ์”
– หลีกเลี่ยงอาหารที่กรุบกรอบ และอยู่ได้นานผิดปกติ
– เนื้อสัตว์ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำไปปรุงอาหารทุกๆ ครั้ง
– หากไม่มั่นใจหรือสงสัยในอาหาร สามารถใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตออกจำหน่าย
– หากพบมีการนำบอแรกซ์มาผสมอาหารให้ร้องเรียนกับ อย.
ความกรุบๆ กรอบๆ ของอาหาร อาจจะช่วยเพิ่มความอร่อย อัตรสในการทานอาหารบางชนิดก็จริงค่ะ แต่อันตรายจากสารบอแรกซ์เป็นสิ่งที่เราต้องพึงระวังให้มาก ทางที่ดีคุณควรเลือกซื้ออาหารสดจากแหล่งที่ไว้วางใจ มั่นใจว่าจะไม่มีการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ หมั่นปรุงอาหารรับประทานเอง และเราสามารถทำให้อาหารกรุบกรอบเองได้ โดยการแช่น้ำปูนใส ส่วนลูกชิ้นหากมีการนวด หรือทุบส่วนผสมมากๆ จนเหนียว ก็กรอบได้โดยไม่ต้องใช้สารบอแรกซ์ได้ด้วยเช่นกัน เพื่อสุขภาพที่ดีได้ในทุกๆ วัน เริ่มที่ตัวคุณค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ไข่เจียว.com