บัวหลวง..ยาดีมากคุณค่า รู้แล้วต้องบอกต่อ!!
advertisement
บัวหลวง เป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านานเลยทีเดียวนะคะ คนไทยนิยมนำดอกบัวมาบูชาพระ และนำมาใช้ในทางศาสนา ทั้งดอกบัวหลวงยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา สำหรับการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ส่วนอื่นๆ ของบัวนั้นมีประโยชน์เกือบทุกส่วนเลยทีเดียว รากบัว ไหลบัว สายบัวนำมาทำอาหารได้ เม็ดบัวกินได้เป็นผลไม้ อีกทั้งใบบัวก็สามารถนำมาห่อข้าวห่ออาหารได้ และที่สำคัญนั้น บัวหลวงยังเป็นสมุนไพรที่มีสารพคุณเป็นยาดีมากคุณค่า ที่หากว่าคุณรู้แล้ว ..ต้องบอกต่อกันนะคะ!!
ชื่อสามัญ : Lotus, Sacred lotus, Egyptian Lotus
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nelumbo nucifera Gaertn.
วงศ์ : NELUMBONACEAE
ชื่อเรียกอื่นๆ : โกกระณต, บัว, บัวอุบล, บัวฉัตรขาว, บัวฉัตรชมพู, บัวฉัตรสีชมพู, บุณฑริก, ปุณฑริก, ปทุม, ปัทมา, สัตตบงกช, สัตตบุษย์, โช้ค (เขมร) เป็นต้น
ลักษณะของบัวหลวง : เป็นไม้น้ำประเภทพืชล้มลุกที่มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำโดยจะชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ซึ่งบัวแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีลักษณะเฉพาะทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้จากลักษณะของ ดอก ใบ และก้านดอก ก้านใบของบัว
ดอก : เมื่อตูมจะมีลักษณะคล้ายรูปกรวยและเมื่อดอกบัวบานทรงของดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม โดยดอกบัวบางชนิดจะมีกลีบซ้อนกันหลายชั้น บัวหลวงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสายพันธุ์ และมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะของดอก ได้แก่
– ดอกสีชมพู ชื่อว่า โกกระณต ปทุม ปัทมา
– ดอกสีขาว ชื่อว่า บุณฑริก ปุณฑริก
– ดอกเล็กสีชมพู ชื่อว่า บัวเข็มชมพู บัวปักกิ่งชมพู บัวหลวงจีนชมพู
– ดอกเล็กสีขาว ชื่อว่า บัวเข็มขาว บัวปักกิ่งขาว บัวหลวงจีนขาว
– ดอกสั้นป้อมสีชมพูกลีบซ้อน ชื่อว่า บัวฉัตรสีชมพู บัวสัตตบงกช
– ดอกสั้นป้อมสีขาวกลีบซ้อน ชื่อว่า บัวสัตตบุษย์ บัวฉัตรขาว
ก้าน : ก้านดอก ก้านใบ มีสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อน มีลักษณะกลม ชูขึ้นเป็นก้านตรงแทงขึ้นมาจากน้ำมีทั้งชนิดขนและไม่มีขน
ใบ : มีสีเขียวหรือสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะกลมใหญ่ มีทั้งชนิดที่มีขนและไม่มีขน
[ads]
สรรพคุณ :
ราก – มีรสหวานหอม ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลังได้ดี ช่วยแก้ไข้ แก้ท้องเสีย บำรุงกำลัง บำรุงเพลิงธาตุ แก้เสมหะ ต้มเป็นน้ำแก้กระสายแก้ร้อน แก้อาเจียน พุพอง แก้สะอึก
เหง้า – มีรสหวานเย็นมัน บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ลงท้อง แก้ไอขับเสมหะ แก้ฝี พุพอง ดีพิการ และแก้อาเจียน ลดน้ำตาลในเลือด รักษาแผล ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์แก้ท้องเสีย
ก้านใบ – มีฤทธิ์เป็นยาห้ามเลือด
ดอก – รสฝาดหอม สรรพคุณ แก้ไข้ ไข้มีพิษร้อน แก้ธาตุพิการ แก้เสมหะและโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงครรภ์ทำให้บุตรคลอดง่าย
เกสร – รสฝาดหอมเย็น แก้ไข้ ไข้มีพิษ ไข้รากสาด แก้เสมหะ แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียน เป็นยาบำรุงครรภ์ เกสรตัวผู้รสฝาดสมาน มีกลิ่นหอม ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีสารฟลาโวนอยต์ ใช้ปรุงเป็นยาหอม บำรุง หัวใจ บำรุงประสาท และชูกำลัง ทำให้ชุ่มชื่น
ขัณฑสกรจากเกสร – แก้เสมหะ จุกคอ ทำให้ชุ่มคอ บำรุงกำลังและขับปัสสาวะ
เปลือกฝัก – รสฝาดหอม แก้ท้องเดิน สมานแผลในมดลูก
ใบอ่อน – รสฝาดเปรี้ยว บำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น
ใบแก่ – รสฝาดเปรี้ยวเมาเล็กน้อย แก้ไข้ บำรุงโลหิต สูบแก้ริดสีดวงจมูก หวัดเรื้อรัง ลดเสมหะ ลดความดันโลหิต และใบบัวมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ไขมันในเส้นเลือด (โคเลสเตอรอล)
เมล็ด – รสหวานมันเย็น บำรุงกำลัง ไขข้อ เส้นเอ็น และบำรุงประสาท ทำให้กระชุมกระชวย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะ พุพอง ดีพิการ อาเจียน อ่อนเพลีย ช่วยเพิ่มไขมันในร่างกาย
ดีบัว – รสขม ขยายหลอดเลือดหัวใจ แก้กระหายน้ำ แก้น้ำกามขับเคลื่อนขณะหลับ และแก้อาเจียนเป็นโลหิต
วิธีใช้ :
– ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอยชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้ หรือจะใช้ดีบัวนำมาต้มเอาน้ำดื่มก็มีสรรพคุณช่วยแก้กระหายน้ำด้วยเช่นกัน และยังช่วยอาการกระหายหลังอาเจียนเป็นเลือดได้ด้วย
– ช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับ ใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มช่วยผ่อนคลายความเครียด อาการหงุดหงิดนอนไม่หลับ ช่วยทำให้นอนหลับสบาย
– ลดความดันโลหิตสูงและลดไขมันในเส้นเลือด ใช้ใบสดหรือแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยต้มกับน้ำพอท่วมจนเดือดประมาณ 10-15 นาที ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง โดยให้ดื่มติดต่อกันอย่างน้อย 20 วัน และตรวจวัดความดันเป็นระยะพร้อมทั้งสังเกตอาการ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง ปวดท้ายทอย หากดื่มแล้วความดันโลหิตลดลงก็ต้องหมั่นตรวจวัดความดันอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตอาการดังกล่าวไปด้วย ถ้าหากพบว่ามีอาการผิดปกควรรีบไปพบแพทย์
– ช่วยลดความดันโลหิตด้วยดีบัว ใช้ดีบัวประมาณ 1.5-6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยลดความดันโลหิต ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยขยายเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ในกรณีที่เส้นเลือดตีบ
– เป็นยาหอม เกสรบัวหลวงนำมาใช้ปรุงเป็นยาหอม เป็นยาชูกำลัง บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่นใจ แก้อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นยาสงบประสาท และช่วยขับเสมหะ โดยใช้เกสรแห้งนำมาบดเป็นผงครั้งละ 0.5-1ช้อนชา ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม หากเป็นเกสรสด ให้ใช้ประมาณ 1 หยิบมือ นำมาชงกับร้อน 1 แก้ว ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วนำมาดื่มในขณะที่ยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 รอบ
– ช่วยบำรุงหัวใจ โดยนำเกสรบัวและรากบัวหั่นตากแดดให้แห้ง บดผง ผสมน้ำผึ้งปั้นลูกกลอน กินครั้งละ1 เม็ด วันละ 2 เวลาก่อนอาหาร ถ้าไม่มีน้ำผึ้ง จะใช้ผงยาละลายน้ำกิน ครั้งละ ½-1 ช้อนชา จะทำให้หัวใจกระชุ่มกระชวย มีชื่อว่ายาสว่างอารมณ์
– รากบัวยังช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ชูกำลังได้ดี
– เม็ดบัว รับประทานได้ให้คุณค่าทางอาหาร โดยเม็ดบัวแห้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 332 กิโลแคลอรีประกอบด้วย คาโบไฮเดรต 64.4 กรัม โปรตีน 15.4 กรัม แคลเซียม 163 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 626 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนตำรายาจีนและอินเดียที่ถือว่าเม็ดบัวเป็นยาหรืออาหารบำรุงกำลังที่ดีตัวหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงกระเพาะ ลำไส้ให้แข็งแรง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี นอนหลับง่าย ผ่อนคลายประสาทที่ตึงเครียด แก้อาเจียน แก้กระหายน้ำ แก้ระดูขาว ทำให้รู้สึกกกระชุ่มกระชวยหลังจากที่ฟื้นไข้[ads]
advertisement
ประโยชน์ของบัวหลวง
– รากบัวหลวง (เหง้าบัว) ไหลบัว สายบัว กลีบดอก สามารถนำมารับประทานได้
– เม็ดบัวทั้งอ่อนและแก่ สามารถนำมารับประทานเป็นผลไม้สดหรือปรุงอาหารได้ แม้ว่าเม็ดบัวที่นำเข้ามาจากประเทศจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเม็ดบัวไทย และผ่านการกะเทาะเปลือกและดึงดีบัวออกแล้วเรียบร้อย แต่จากผลการวิจัยพบว่าสารต่อต้านอนุมูลอิสระในเม็ดบัวไทยจะมีมากกว่าเม็ดบัวจีนถึง 5-6 เท่า
– ดอกนำมาบูชาพระ ดอกบัวหลวงยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทางพระพุทธศาสนา มีความเกี่ยวข้องโดยตรงสำหรับการบูชาพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
– ใบบัวหลวงนำมาใช่สำหรับห่อข้าว ห่ออาหาร ห่อขนม ซึ่งจะช่วยทำเพิ่มความหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น หรือจะนำห่อผักสดเก็บในตู้เย็น หรือใช้ในงานประดิษฐ์ต่างๆ
– ก้านใบและก้านดอกบัว สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง
ข้อแนะนำในการรับประทานเม็ดบัว
– ควรเลือกรับประทานเฉพาะเมล็ดบัวสดเท่านั้น จะได้ประโยชน์สูงสุดนั้น
– การรับประทานเม็ดบัว หลังจากที่แกะเปลือกที่หุ้มเมล็ดอยู่ออกสามารถรับประทานได้เลย โดยไม่ต้องเอาดีบัวหรือต้นอ่อนภายในเม็ดออก เพราะดีบัวนั้นมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง
– การเลือกซื้อฝักบัวสด ควรเลือกฝักสดและมีเม็ดขนาดใหญ่มีสีเขียวอ่อน เพราะจะได้เม็ดบัวที่มีเนื้อหวานกรอบกำลังดี
– สำหรับการเลือกซื้อเม็ดบัวชนิดอบแห้ง ควรเลือกเฉพาะเม็ดบัวที่มีสีเหลืองนวลเท่านั้น ถ้าหากเม็ดบัวมีสีเหลืองเข้ม แสดงว่าเก็บไว้นานแล้ว และควรเลือกเม็ดที่ไม่แตกหัก ไม่มีฝุ่นละอองปนเปื้อน ไม่มีกลิ่นสาบหรือกลิ่นเหม็นหืน และขั้วเม็ดบัวไม่ดำคล้ำ
– การนำเม็ดบัวมาปรุงเป็นอาหารร่วมกับลำไยแห้ง จะช่วยทำให้สรรพคุณทางยาของเม็ดบัวเพิ่มมากขึ้น
ข้อควรระวัง
– เกสรบัวหลวงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางราย โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้
– สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ท้องเฟ้อ อาหารไม่ค่อย ไม่ควรรับประทานเม็ดบัว
– ไม่ควรปรุงอาหารที่มีเม็ดบัวอยู่ในภาชนะที่ทำจากเหล็ก เพราะจะทำให้เม็ดบัวกลายเป็นสีดำ
รู้ประโยชน์ดีๆ มากมายของบัวหลวงเช่นนี้แล้ว คู่ควรแก่การอนุรักษ์มากๆ เลยนะคะ อีกทั้งทุกส่วนของบัวนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของสารเคมี หรือยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนได้เหมือนเช่นผัก หรือดอกไม้ชนิดอื่นๆ และเนื่องจากดอกบัวหลวงมีความสวยและมีกลิ่นหอม คุณสามารถปลูกไว้ประดับในสระน้ำหรือปลูกไว้ในกระถางทรงสูงก็ได้ค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com