ปวดหัวไมเกรน..รับมืออย่างไร?
advertisement
ช่วงอากาศร้อนๆ หนาวๆ เช่นนี้มักจะทำให้คนเราปวดหัวกันอยู่บ่อยๆ นะคะ ยิ่งในใครที่มีอาการปวดหัวไมเกรนอยู่แล้วล่ะก็ ก็ยิ่งทำให้มีอาการกำเริบบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะปวดหัวมากๆ แล้วก็มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยทั้ง เหนื่อย อ่อนเพลีย ง่วงมึน หาวบ่อย ตาพร่ามัว แสบตา เห็นภาพซ้อนหรือเห็นแสงจ้าเป็นจุด หรือเส้นซิกแซกในตา ซึ่งส่งผลให้มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้และอาเจียน เป็นแบบนี้บ่อยๆ ไม่ดีแน่นะคะ หากใครที่ปวดหัวไมเกรนกันอยู่บ่อยๆ ต้องหา วิธีการจัดการรับมือกันบ้างแล้ว ตาม Kaijeaw.com มาค่ะ ช่วยได้!!
อาการปวดหัวเป็นไมเกรน
– ในบางคนจะมีอาการนำมาก่อนที่จะปวดหัวเป็นไมเกรน ประมาณ 15-20 นาที อาการคือจะเห็นแสงวูบวาบเป็นสีเหลืองๆ ตามัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย บางรายมีอาการหงุดหงิด ง่วงนอนมาก หรือมีอาการทางจิต เช่น วิตกกังกล ซึมเศร้า
– มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว (หรือ 2 ข้าง) บริเวณขมับหรือเบ้าตา ในบางคนอาจปวดท้ายทอยได้ สังเกตว่ามักจะปวดแบบตุบๆ และจะปวดในระดับกลางถึงมาก แต่ถ้าปวดพอรำคาญน้อยๆ โอกาสเป็นไมเกรนจะน้อย
– ขณะปวดเต็มที่ มักคลำได้หลอดเลือดที่ขมับข้างที่ปวดพองตัว บางครั้งหลังปวดเต็มที่แล้ว อาจมีอาการอาเจียน แล้วการปวดก็จะค่อยทุเลาไป
– โดยในช่วงที่ปวดจะปวดนาน 2-4 ชั่วโมง หรือนาน 2-3 วัน อาการเมื่อหายปวดจะหายสนิท
– มีอาการร่วมขณะปวดหัว ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน รู้สึกเย็นตามปลายมือปลายเท้า กลัวแสง เป็นต้น
[ads]
สาเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน
แม้จะไม่มีการยืนยันสาเหตุที่แน่นอน แต่มีความเชื่อกันว่า เกิดจากการมีปัจจัยกระตุ้นให้เส้นประสาทในสมองหลั่งสารบางอย่างออกมา และสารพวกนี้ไปทำให้เส้นเลือดขยายตัว การที่เส้นเลือดขยายตัวนี้เองทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นอาการไมเกรนให้กำเริบหรือเป็นถี่ขึ้นคือ
– ความเครียด กังวล คิดมาก ซึมเศร้า
– สภาวะฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงมีประจำเดือน การรับประทานยาคุมกำเนิด
– การรับประทานอาหาร เช่น ช็อกโกแลต ซึ่งมีสารประกอบทางไนโตรเจน ที่มีผลต่อการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้อาการปวดหัวทวีความรุนแรง หรือแม้แต่อาหารที่มีผงชูรส ไส้กรอก ของดองและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น สถานที่ที่เสียงดัง มีแสงสะท้อนจ้า
– การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศร้อนๆ
– การใช้งานสายตาหนัก เช่นการใช้สายตาอย่างเคร่งเครียด ภาวะลายตา (เช่น จ้องจอ คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือนาน ๆ) สายตาต้องเผชิญแสงแดด แสงจ้า แสงระยิบระยับ โดยไม่มีการป้องกัน
อันตรายของโรค
โดยปกติทั่วไปแล้ว หากว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายใดๆ ยกเว้นในหญิงที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการเตือน คือ มีอาการสายตา (aura) นำร่องก่อนปวด หากสูบบุหรี่ หรือกินยาเม็ดคุมกำเนิด ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (อัมพาตครึ่งซีก) ได้มากกว่าคนทั่วไป
การรักษา
1. กินยาบรรเทาปวดให้ทันท่วงที (เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด) ไม่รอให้ปวดนานเกิน 30 นาที จะได้ผลน้อย แนะนำให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพกยาแก้ปวดติดตัว จะได้กินทันทีที่เริ่มมีอาการ
2. เมื่อมีอาการต้องรีบหาทางนอนพัก หรือนั่งพัก
3. หลีกเลี่ยงที่ที่อบอ้าว มีแสงจ้าหรือเสียงดัง หยุดการเคลื่อนไหวร่างกาย และการเดินขึ้นลงบันได
4. หากมีอาการคลื่นไส้มาก ให้กินยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (ตามคำแนะนำของหมอ) ควบคู่ไปด้วย ในกรณีที่ใช้พาราเซตามอลไม่ได้ผล (พบได้ประมาณร้อยละ 20-30) แพทย์อาจให้ยาบรรเทาชนิดอื่น เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ทามาดอล (tamadol) เออร์โกทามีน (ergotamine) ชูมาทริปแทน (sumatriptan) เป็นต้น ซึ่งควรกินเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาปวดเท่านั้น
[yengo]
ป้องกันการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน
ผู้ที่เป็นไมเกรนเป็นประจำควรหลีกเลี่ยงสภาวะกระตุ้นการกำเริบของโรค หรือป้องกันตนเองจากไมเกรนด้วยวิธีการดังนี้
1) สังเกตอาการ ควรสังเกตอาการของโรคระยะแรกๆ ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกๆ จะได้ผลดีกว่าการรักษาหลังเป็นโรคนานๆ
2) ลดการใช้งานของสายตา และปกป้องสายตาในกรณีที่ต้องขับรถในช่วงแดดส่องจัด ควรสวมแว่นตากันแดด ป้องกันแสงสะท้อนเข้าตา และเมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการของไมเกรน รีบหาที่นั่งพักหลับตาสักครู่ ใช้ผ้าเย็นประคบหน้าผากหรือต้นคอ จะบรรเทาอาการได้
3) รับประทานอาหารครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้าซึ่งร่างกายต้องการมากที่สุด หลังจากท้องว่างเป็นระยะเวลากว่า 7-8 ชั่วโมง หากปล่อยให้ท้องว่าง น้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง อาจทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้
4) นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นประจำทุกวัน ใช้เวลาหยุดสุดสัปดาห์ในการพักผ่อนอย่างเต็มที่
5) ฝึกท่าโยคะที่เรียกว่า ท่าศพ เพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างเต็มที่ วิธีการเริ่มจากการปิดไฟในห้องให้มืดและเงียบสนิท นอนหงายบนฟูกหรือพื้นราบ หงายมือวางข้างลำตัว หายใจเข้าและออกลึกๆ อย่างสม่ำเสมอ หากทำได้ 10 นาที ร่างกายจะรู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น
6) ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำ ช่วยให้อาการปวดไมเกรนดีขึ้น เพราะร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ช่วยบรรเทาความเครียดและปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ แต่ในกรณีที่มีอาการไมเกรนอยู่ก่อน ก็ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะจะยิ่งทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
7) หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนและแออัด ที่ๆ มีอากาศหายใจไม่เพียงพอ ทำให้วิงเวียนศีรษะได้ง่าย หรือหลังจากการเผชิญกับอากาศร้อนภายนอก และ เดินเข้าภายในอาคารที่อากาศเย็นทันที อาจทำให้เกิดอาการปวดหัวแปลบขึ้นมา
8) หลีกเลี่ยงการได้ยินเสียงดังๆ แนะว่าช่วงไหนที่ปวดหัวไมเกรนให้หลีกเลี่ยงที่ที่มีเสียงดังมากๆ เพื่อลดความเครียดที่อาจทำให้โรคกำเริบได้
9) ลดขนม น้ำตาล การกิน อาหารหวานมากๆ เครื่องดื่ม หรือลูกอมที่มีน้ำตาลมากๆ อาจทำให้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นๆ ลงๆ จนเป็นสาเหตุไปกระตุ้นอาการปวดหัวได้
10) ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล อย่างเช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ที่มีส่วนกระตุ้นทำให้ปวดหัวไมเกรนเพิ่มขึ้นได้
11) เตรียมยาแก้ปวดไว้ประจำบ้าน อย่าปล่อยให้ยาหมด หากต้องเดินทางบ่อยให้ทำรายการเช็คของใช้ ที่รวมยาไว้เสมอ
ข้อพึงระวัง : อาการปวดศีรษะบ่อยๆ อาจเป็นอาการแสดงของปัญหาที่รุนแรงได้ และการใช้ยาแก้ปวดนานๆ อาจได้รับพิษจากยาได้ ในกรณีนี้ ไม่ควรใช้ยารักษาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์
แม้ว่าอาการปวดหัวไมเกรนนั้นจะไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ และเป็นได้บ่อยครั้ง เมื่อเป็นแล้วก็ทำได้เพียงการดูแลรักษาตามอาการ และทางที่ดีที่สุดคือการป้องกัน สามารถทำได้ด้วยตัวเองซึ่งก็ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ เพียงแค่ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจให้ดี หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวด แค่นี้ก็สามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดได้แล้วนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com