9 ภารกิจแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
advertisement
ขึ้นชื่อว่า “วัยรุ่น” ก็ต้องอยากรู้อยากลองเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเรื่องเพศ และคำตอบที่มักจะได้จากผู้ใหญ่เวลาถามคำถามเรื่องเพศ คือ “เดี๋ยวโตขึ้นก็รู้เอง” ซึ่งการไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น
advertisement
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2558 มีจำนวนหญิงคลอดบุตรวัย 10-19 ปี จำนวน 104,289 คน หรือคลอดเฉลี่ยวันละ 286 คน ในจำนวนนี้มีอัตราการคลอดบุตรซ้ำถึง 12,702 คน
advertisement
การทำงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย และนักวิชาการเสนอ “9 ภารกิจแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นขึ้น ได้แก่[ads]
advertisement
1. มีกลไกประสานการทำงานระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง
เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็ง เช่นหน่วยงานด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มแกนนำวัยรุ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยเชิญชวนตัวแทนจากหน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจ และกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เพื่อกระตุ้นและประสานงานให้แต่ละหน่วยงานทำงานในบทบาทของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ทำงานร่วมกับผู้ปกครองให้มีทักษะการคุยเรื่องเพศกับลูก
สนับสนุนให้พ่อแม่มีทัศนคติที่ดี ตลอดจนส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในเรื่องเพศ จนสามารถเปิดใจพูดคุยเรื่องเพศกับลูกได้ โดยการหาภาคีที่จะดำเนินงานในส่วนนี้ทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ปกครองในชุมชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการสื่อสารกับลูกเรื่องเพศพร้อมทั้งสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารในครอบครัว
3.มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิต และเพศวิถีศึกษารอบด้าน
โดยการบรรจุเรื่องดังกล่าวลงในหลักสูตรของสถานศึกษา มีการจัดการอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่ครูสอนเพศศึกษา และทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับวิธีดำเนินงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่าง ผู้ปกครอง สถานศึกษา และชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้เกิดแรงสนับสนุนในชุมชน
4.ทำงานกับกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
ใช้ข้อมูลทั้งเชิงสถิติและเชิงคุณภาพเพื่อวิเคราะห์หากลุ่มวัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ รวมทั้งพื้นที่รวมตัวของวัยรุ่น เพื่อเข้าถึงและออกแบบการจัดบริการด้านสุขภาพและบริการด้านอื่นๆ ให้เหมาะสม
5.รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบ
รณรงค์และสื่อสารให้วัยรุ่นตระหนักถึงความรับผิดชอบ และผลที่จะตามมาจากการกระทำของตัวเอง เพื่อชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ร่วมกับการรณรงค์ให้วัยรุ่นใช้การคุมกำเนิดที่ได้ผลหากจะมีเพศสัมพันธ์
advertisement
6.มีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น
จัดให้มีบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น ครอบคลุมบริการที่จำเป็นทุกด้าน คอยให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน และรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงวัยรุ่นทุกกลุ่ม
7.ระบบบริการที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษา และสังคม
ระบบบริการที่เชื่อมโยงกัน ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และด้านสังคม โดยเฉพาะการได้รับคำปรึกษาถึงทางเลือกในการตัดสินใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ควบคู่ไปกับการป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ การช่วยให้สามารถกลับไปศึกษาต่อได้ หรือได้รับการฝึกอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้วัยรุ่นที่ประสบปัญหาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้
8.การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน
สร้าง “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเยาวชน” โดยการจัดให้มีสถานที่ที่ดึงดูดวัยรุ่นและเยาวชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดโอกาสการไปข้องแวะในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ สร้างความตระหนักในคุณค่าของตัวเอง และมองเห็นจุดหมายในชีวิตชัดเจนขึ้น
9.มีระบบข้อมูล เพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
ให้สถาบันวิชาการในพื้นที่หรือภูมิภาคเข้าร่วมภาคีเป็นผู้พัฒนาระบบข้อมูลซึ่งให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ระบบฐานข้อมูลเดียวกัน อีกทั้งการติดตามประเมินความก้าวหน้าเพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคเพื่อหาแนวทางแก้ไขเพื่อปรับปรุงการทำงานร่วมกัน
advertisement
นอกจากนี้ ในการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 1 เมื่อปี 2557 ประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ของ สสส. และภาคส่วนต่างๆ มีการผลักดันให้เกิดการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 “และได้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นภาพใหญ่ของประเทศ[ads]
advertisement
ในวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการจัดประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 ในประเด็น “เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น: เปิดพื้นที่สร้างความฉลาดรู้เรื่องเพศ” โดยความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลักทางกฎหมาย ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในการลดปัจจัยเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น รวมถึงการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และสรุปองค์ความรู้รวมทั้ง ข้อเสนอพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อขยายผลให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ การแก้ปัญหา และป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างมาตรการ การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เปิดใจ และเข้าใจ จากผู้ใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะ “ครอบครัว” จะช่วยวัยรุ่นห่างไกลจากปัญหานี้ได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thaihealth.or.th ,gidanan ganghair, กิดานัล กังแฮ, ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และการประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 ในหัวข้อเซ็กส์เปิดในวัยรุ่น เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ