แม่นักปั๊มควรอ่าน ปั๊มนมเป็นลิ่มเลือด ปกติหรือควรไปพบแพทย์
advertisement
จากกรณีที่ คุณเป้ย ปานวาด ได้ออกมาโพสต์ภาพไอจีส่วนตัว ว่าปั๊มนมให้ลูกมีเลือดและลิ่มเลือด จากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เราจึงขอนำความรู้มาให้คุณแม่ทุกท่านค่ะ
พญ. วรประภา ลาภิกานนท์ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง แพทย์ประจำรายการ "รักลูก Community of The Expert" กรณีปั๊มนมมีเลือดและลิ่มเลือด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เพราะอาจเกิดแผลที่เต้านม และเสี่ยงเป็นเนื้องอกได้ค่ะ
คุณหมอวิน เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ และให้ความรู้ว่า การมีเลือดปนมาในน้ำนม พบได้บ่อยช่วงเดือนแรกของการให้นมโดยเฉพาะกลุ่มอาการ Rusty pipe syndrome ที่เกิดจากการบวมของหลอดเลือดในเต้านม และหัวนมแตก(Cracked nipple) จนเลือดออก น้ำนมเหล่านี้ลูกกินได้ปกติ แต่ต้องพักเต้านมข้างที่แตก โดยใช้การบีบมือและรักษาแผลก่อน
advertisement
หากเลือดไหลออกมาเยอะเป็นลิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังของการให้นมที่หัวนมและลานนม เกิดอาการเลือดไหลออกมามาก ให้ระวังมะเร็งเต้านม รวมถึงโรคเนื้องอกของเต้านม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องรีบตรวจและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ พญ.ปวีณา เลือดไทย โรงพยาบาลนมะรักษ์ ได้ให้สาเหตุภาวะที่มีเลือดอยู่ในน้ำนมหลักๆ 6 สาเหตุ มีดังนี้ค่ะ โดยภาวะที่มีเลือดอยู่ในน้ำนมสามารถพบได้บ่อย สังเกตได้จากในนมที่ปั๊มออกมา หรือเมื่อลูกน้อยสำรอกนมผสมเลือดออกมา หรือเห็นเลือดในอุจจาระของลูก
1.หัวนมแตก (Cracked nipple) หัวนมและลานนมได้รับบาดเจ็บ ซึ่งพบได้บ่อย มีผื่น แผล รอยกัด โดยส่วนใหญ่ถ้ารักษาแผลหาย เลือดก็จะหายไป
2.ภาวะเลือดในอกที่ออกมาปนกับน้ำนมแม่ (Rusty pipe syndrome) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ในบางคนช่วงแรกของการให้นม จะเห็นว่าน้ำนมมีสีชมพู ส้ม น้ำตาล หรือเหมือนสีของสนิม ซึ่งมาจากมีเลือดปริมาณน้อยๆ ผสมอยู่กับน้ำนมเหลือง (Colostrum) แม่ไม่มีอาการเจ็บปวด อาจเกิดที่เต้านมข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เกิดจากในช่วงของการตั้งครรภ์ เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเพื่อเตรียมสร้างน้ำนม มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เลือดบางส่วนมีค้างอยู่ในท่อน้ำนม ทำให้มีเลือดปนออกมากับน้ำนม ภาวะนี้สามารถดีขึ้นได้เอง
advertisement
3.เส้นเลือดฝอยในเต้านมแตก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กรวยปั๊มนมในขนาดที่ไม่ถูก ไม่เหมาะสม หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่เต้านม
4.ภาวะเต้านมอักเสบ มีการติดเชื้อขึ้นภายในเต้านม มีอาการปวด บวม แดงร้อน มีไข้ร่วมด้วย
5.เนื้องอกในท่อน้ำนม (Intraductal papilloma) เมื่อเกิดภาวะมีเลือดออกจากหัวนม ที่ไม่ได้เกิดจากประวัติมีแผล บาดเจ็บที่หัวนม ต้องคำนึงถึงภาวะนี้ไว้ด้วย
6.มะเร็งเต้านมและมะเร็งที่หัวนมและลานนม (Paget’s disease) อาจจะมีอาการเลือดออกจากหัวนม มีก้อนที่เต้านม หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนมและลานนม
การรักษา
1.ถ้าเกิดจากแผลที่หัวนม รักษาแผล
2.ดูแลท่าทางการให้นมบุตรที่ถูกต้อง
3.ปรับความแรงเครื่องปั๊มนม
4.ปรับขนาดของกรวยปั๊มนมให้เหมาะสม
ดังนั้น หากคุณแม่ท่านใดที่มีภาวะที่มีเลือดอยู่ในน้ำนม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยอาการต่อไปค่ะ เพื่อหาสาเหตุ และได้รับการ รักษาได้อย่างถูกต้องปลอดภัยนะคะ
ขอขอบคุณที่มาจาก : รักลูกคลับ – Rakluke Club