ป้อนกล้วยบดเด็กแรกเกิด ..เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!!
advertisement
อาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิดคือนมแม่อย่างเดียว แต่มีบ้างในบางกรณีที่แม่ไม่สามารถให้นมบุตรได้ อาจจะต้องเลี้ยงด้วยนมกระป๋องที่มีวางขายอย่างแพร่หลาย แต่หลาย ๆ ครั้งหลายคราวที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ในกรณีที่มีคนป้อนกล้วยบดให้แก่เด็กแรกเกิด จนเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้ หลาย ๆ คนอาจสงสัย แค่กล้วยบดเป็นอันตรายได้มากขนาดนี้เลยเชียวหรือ เพราะอะไรเรามาหาทำตอบกันค่ะ
อาหารสำหรับเด็กแรกเกิด
อาหารสําหรับทารกแรกเกิดที่ดีที่สุด คือ นมแม่ ซึ่งสามารถย่อยและดูดซึมได้ดี ร่างกายของทารกจะมีความพร้อมที่จะรับอาหารอื่น ๆ ได้นอกจากนม เมื่ออายุประมาณ 4 เดือน เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดและมีสารอาหารครบถ้วน สําหรับทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน จึงแนะนําให้เริ่มอาหารชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากนมแม่เมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป
ระบบทางเดินอาหารของเด็กแรกเกิด
ระบบทางเดินอาหารของทารกแรกเกิดยังไม่พัฒนา และมีข้อจํากัดในการสร้างน้ําย่อย ในการย่อยอาหารต่าง ๆ ทําให้การย่อยการดูดซึมอาหารไม่มีประสิทธิภาพมากเท่ากับผู้ใหญ่
[ads]
อันตรายจากการที่เด็กแรกเกิดทานอาหารอย่างอื่น
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ป้อนอาหารอื่น ๆ ให้แก่ทารกแรกเกิด เช่น ข้าว ข้าวต้ม หรือกล้วยบด อาหารเหล่านี้จะไม่สามารถย่อยและดูดซึมในกระเพาะอาหารและลําไส้ของทารกได้ และจะก่อให้เกิดปัญหาลําไส้อุดตันจากเศษอาหารที่ไม่ย่อยนี้ได้ และนี่เป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้ ในทางการรักษากับอาการรุนแรงมาก ๆ อาจต้องรักษา ด้วยการผ่าตัดลําไส้เลยทีเดียว
สำหรับบ้านไหนที่มีญาติอยู่รวมกันหลาย ๆ คน อย่างเช่นปู่ย่าตายาย ที่ยังมีความคิดว่า คนโบราณให้เด็กกินกล้วยบดแล้วจะอิ่มท้องไม่ร้องโยเย และจะมีสุขภาพแข็งแรง ต้องมีการพูดคุยปรับทัศนะคติกันก่อน อย่าเพิ่งให้ทารกแรกเกิดรับอาหารที่นอกเหนือจากนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก
[yengo]
โภชนาการสำหรับเด็กแรกเกิด
– อายุ 0 – 6 เดือน
นมแม่อย่างเดียว น้ำไม่จำเป็นเพราะในสัดส่วนของน้ำนม มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว หากไม่มีนมแม่ให้ดื่มผสมอย่างเดียวเช่นกัน
– อายุ 6 เดือนขึ้นไป
อาหารปั่นเหลว 1 มื้อเท่านั้น หลักการที่ถูกต้องควรเริ่มข้าวก่อน หลาย ๆ คนเลือกที่จะเริ่มกล้วยก็ได้ แต่ควรระวังเด็กอาจติดหวานจากรสกล้วยจนมีปัญหาในการทานข้าว
– อายุ 7 – 8 เดือน
อาหารบดละเอียด 1 มื้อ และเริ่มผลไม้ได้แนะนำแอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก ผลไม้ที่มีเนื้อแข็งแนะนำให้นึ่งก่อนเพื่อง่ายต่อการย่อยและการดูดซึม
– อายุ 9 – 12 เดือน
อาหารบดหยาบ วันละ 2 มื้อ แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินอาหารบดหยาบ ๆ ได้หรือยัง ถ้าลูกเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปาก แสดงว่าลูกกินได้ แต่ถ้ายังกินไม่ได้อย่าบังคับนะคะ ให้ลูกกินบดละเอียดเหมือนเดิมแต่ไม่เหลวมากไปก่อน แล้วเริ่มในเดือนที่ 10 – 11 หรือจนกว่าลูกสามารถรับได้
– ครบ 1 ขวบปีขึ้นไป
อาหารปกติเน้นอาหารอ่อน วันละ 3 มื้อ ไม่ควรปรุงรสชาติอาหาร และไม่รับประทานขนมทุกชนิด ถึงแม้ว่าจะเป็นขนมสำหรับเด็กเล็กก็ตามเพราะอาจทำให้เด็กติดรสชาติของขนม จนไม่ยอมรับประทานอาหารกลายเป็นเด็กทานยาก เลี้ยงยาก และขาดสารอาหารที่สำคัญต่อสมองในที่สุด
เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย อย่าลืมว่าไม่ควรป้อนอาหารอย่างอื่น ไม่ว่าจะข้าวบด กล้วยบด ให้เด็กทารกโดยเด็ดขาดนะคะ อาจจะมีเสียงรอบข้างจากญาติผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กทารกได้ประโยชน์จากอาหารชนิดอื่น ขอให้ยืนกรานด้วยความมั่นใจนะคะ ไม่ป้อนอาหารชนิดอื่นให้แก่เด็กทารกเพราะเรารู้เหตุและผล และอย่าลืมอธิบายให้คนที่รู้จักเข้าใจกันด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของเด็กทารกค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ไข่เจียว.com