ภาวะชักจากไข้ เกิดขึ้นได้อย่างไร?
advertisement
ภาวะชักจากไข้ หรือไข้ชัก เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่สงสัยภาวะนี้ ควรทราบรายละเอียดของภาวะนี้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และรู้แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเมื่อมีไข้สูง หรือชัก
ภาวะชักจากไข้ คืออะไร
คือ อาการชักแบบเกร็ง หรือกระตุกทั้งตัว เกิดขึ้นขณะที่มีไข้สูง โดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5-6 ปี โดยพบบ่อยครั้งแรกในช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี
ภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เกิดจากการที่สมองของเด็กเล็กยังเจริญไม่เต็มที่ ทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่นไข้สูง เป็นต้น [ads]
นอกจากภาวะนี้ อาจเป็นโรค หรือภาวะอื่นได้หรือไม่
การที่เด็กมีไข้ และมีอาการชักตามมานั้น อาจเกิดจากภาวะอื่นๆได้ เช่น การติดเชื้อในสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้นในบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจน้ำไขสันหลัง โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือมีอาการซึมลง กินน้อยลง หรืออาเจียนร่วมด้วย
ภาวะนี้มีผลต่อพัฒนาการ หรือสติปัญญาของเด็กหรือไม่
โดยทั่วไปภาวะนี้จะไม่มีผลต่อพัฒนาการ หรือการเรียนรู้ของเด็กที่เดิมแข็งแรงดี ยกเว้นในบางรายที่มีอาการชักติดต่อกันเป็นเวลานาน (โดยเฉพาะถ้านานมากกว่า 30 นาที) จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน ทำให้อาจมีผลต่อสมองได้ แต่โดยทั่วไปอาการชักชนิดนี้ มักจะหยุดได้เองภายในเวลา 3-5 นาที จึงไม่น่ามีอันตรายต่อสมองของเด็ก
advertisement
มีโอกาสชักซ้ำ ถ้ามีไข้สูงอีกหรือไม่
โดยทั่วไป ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีโอกาสชักซ้ำได้ถ้ามีไข้สูง จนกว่าจะอายุมากกว่า 5-6 ปี ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ในตอนเด็ก อาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น [ads]
มีโอกาสเป็นโรคลมชักหรือไม่
โดยทั่วไปความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชักในอนาคต ไม่ได้แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ยกเว้นในรายที่มีอาการชักที่นานกว่า 15 นาที มีอาการชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการก่อนมีอาการชัก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก จะมีโอกาสเป็นโรคลมชักได้มากกว่าเด็กปกติ
จะทำอย่างไรเมื่อลูกชัก
ตั้งสติ อย่าตกใจ จับผู้ป่วยนอนตะแคง ป้องกันการสำลัก ห้ามใช้นิ้วหรือวัสดุใดๆล้วง งัดปากผู้ป่วย ถ้าอาการชักเป็นนานมากกว่า 3-5 นาที หรือมีรอบปากเขียวคล้ำ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสมต่อไป
จะป้องกันอาการชักซ้ำเมื่อมีไข้สูงอย่างไร
ถ้าพบว่าลูกมีไข้สูง ควรให้ยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ทันที และควรพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของไข้ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
advertisement
จำเป็นต้องกินยากันชักหรือไม่
โดยทั่วไป ภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องกินยากันชัก ยกเว้นในบางรายที่แพทย์อาจแนะนำให้กินยาเพื่อป้องกันอาการชักเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาร่วมกับผู้ปกครองถึงผลดีและผลเสียของยาดังกล่าว และแนวทางการให้ยาที่เหมาะสมต่อไป
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : si.mahidol.ac.th ,อ.นพ.สรวิศ วีรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล