ภาวะรกเกาะต่ำ..ดูแลรักษาอย่างไร?
advertisement
การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ เลยนะคะ คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลบำรุงครรภ์ให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ให้มาพร้อมความแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งร่างกายและสติปัญญา แต่หลายครั้งหลายครา ที่การตั้งครรภ์อาจจะพบกับปัญหาและอุปสรรคบางอย่าง เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้การตั้งครรภ์มีปัญหา หนึ่งในนั้นที่ Kaijeaw.com จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ ภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่รกเกาะต่ำลงมาถึงบริเวณส่วนล่างของผนังมดลูก (Lower uterine segment) ที่สามารถเกิดได้ในช่วงของการตั้งครรภ์ อันเป็นอันตรายแก่ลูกน้อยในครรภ์ โดยพบว่าอาจจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เกิดความพิการ และอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่แม่ตั้งครรภ์จะต้องใส่ใจให้มากค่ะ
การเกิดขึ้นของภาวะรกเกาะต่ำ
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ไข่ที่ถูกผสมแล้วจะมีการเจริญเติบโต และแบ่งตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะมีส่วนหนึ่งที่แยกไปเป็นตัวลูกในท้อง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกลายไปเป็นรก โดยรกจะมีหน้าที่ในการนำสารอาหารจากคุณแม่มาเลี้ยงลูกในครรภ์ต่อไป ในขณะที่ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตโดยลอยน้ำอยู่ในน้ำคร่ำ รกก็จะเจริญเติบโตโดยเกาะติดอยู่กับผนังมดลูกและค่อยๆ ฝังลึกเข้าไปในผนังมดลูกมากขึ้นเรื่อยๆ ตำแหน่งที่รกเกาะติดกับผนังมดลูกมักอยู่ที่บริเวณด้านบนของมดลูก โดยอาจค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อย ผลดังกล่าวทำให้ไม่มีอะไรมาขวางบริเวณปากมดลูก ซึ่งจะต้องเปิดออกให้ลูกคลอดออกมาเมื่อถึงเวลา
[ads]
ข้อควรสังเกต – ในคุณแม่บางรายแทนที่รกจะเกาะ ณ ตำแหน่งดังกล่าวกลังมาเกาะคลุมที่ส่วนล่างของมดลูกหรือคลุมที่ปากมดลูกบางรายก็คลุมปากมดลูกเพียงบางส่วน ในขณะที่บางรายก็คลุมปิดปากมดลูกจนเต็มเลยก็มี ลักษณะนี้เรียกได้ว่า “รกเกาะต่ำ” หรือ Placenta previa
ภาวะรกเกาะต่ำ แบ่งได้ตาม 3 ระดับความรุนแรงโดยทางการแพทย์ ดังนี้
1) รกเกาะคลุมปากมดลูกทั้งหมด จัดว่ารุนแรงมากที่สุด เพราะรกจะปิดปากมดลูกทั้งหมดไม่ยอมให้ลูกคลอดออกมาได้เลย ต้องทำการผ่าตัดคลอดเพียงอย่างเดียว
2) รกเกาะคลุมปากมดลูกเป็นบางส่วน กรณีนี้ถ้าปล่อยให้เจ็บท้องคลอด ปากมดลูกที่ขยายมากขึ้นอาจดึงให้รกขยับสูงขึ้นและอาจไม่ขวางการคลอดของลูก แต่มักจะทำให้เลือดออกมาก จึงนิยมผ่าตัดคลอด เช่นเดียวกันกับกรณีแรก
3) รกเกาะบริเวณด้านล่างของมดลูกแต่ไม่คลุมปากมดลูก กรณีนี้สามารถปล่อยให้ลูกคลอดทางช่องคลอดได้ แต่ต้องระวังว่ามีโอกาสที่เลือดจะออกมากได้เช่นกัน แม้ว่าจะน้อยกว่า 2 กรณีแรก
สาเหตุที่ทำให้ภาวะรกเกาะต่ำ
สาเหตุที่แท้จริงของรกเกาะต่ำนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) หญิงที่เคยคลอดบุตรมาหลายครั้ง การที่คุณแม่เคยคลอดหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ต้องมีการสร้างรก รกที่สร้างขึ้นมักจะย้ายที่เกาะไปเรื่อยๆ เมื่อข้างบนของมดลูกเคยเกาะมาแล้ว ทำให้ตำแหน่งดังกล่าวไม่เหมาะที่จะเกาะซ้ำ เพราะจะมีแผลเป็นและมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ จึงย้ายลงมาเกาะบริเวณปากมดลูกแทน
2) เลือดไปเลี้ยงผนังมดลูกไม่ดี เช่น ผลจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน , เนื้องอกในมดลูก , การสูบบุหรี่ (มากกว่า 20 มวนต่อวัน) หรือมารดาอายุมากกว่า 35 ปี
3) รกมีขนาดใหญ่ เช่น การตั้งครรภ์แฝด อาจทำให้มีรกมากกว่า 1 อัน ซึ่งมีภาวะเสี่ยงสูงในการเกิดรกเกาะต่ำ
4) รกมีความผิดปกติ ได้แก่ รกชนิดแผ่นใหญ่กว่าปกติหรือบางกว่าปกติ
[yengo]
อันตรายของภาวะรกเกาะต่ำ
ในระยะแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่จะไม่มีอาการผิดปกติอะไร จนเมื่อการตั้งท้องดำเนินไปจนใกล้คลอด ช่วงเวลาดังกล่าวมดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ปากมดลูกและส่วนล่างของมดลูกจะเริ่มมีการบางตัวลงและยืดขยายมากขึ้น ทำให้รกที่เคยเกาะแน่นที่บริเวณดังกล่าวมีรอยปริ สาเหตุจากการยืดขยายของส่วนล่างของมดลูกและปากมดลูก ทำให้มีเลือดออกที่บริเวณที่รกเกาะแล้วไหลผ่านปากมดลูกลงมาในช่องคลอด เลือดที่ออกมักเป็นเลือดสด โดยมีลักษณะพิเศษที่คุณหมอสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ง่ายขึ้นคือ เป็นเลือดที่ออกทางช่องคลอดโดยไม่มีอาการเจ็บท้องร่วมด้วย (painless vaginal bleeding) ส่วนมากเมื่อมีเลือดออกมา ในครั้งแรกมักจะไม่มากนักและมักจะหยุดไปได้เอง แต่ถ้าเป็นเลือดที่ออกครั้งที่ 2 มักจะออกมาก รวดเร็วและรุนแรงขึ้น เป็นอัตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์ ดังนี้
ผลต่อมารดาตั้งครรภ์
– เกิดการตกเลือดในระยะตั้งครรภ์ , ระยะคลอด และระยะหลังคลอด
– การเสียเลือดมากอาจก่อให้เกิดการช็อคได้
– คลอดก่อนกำหนด
– น้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
– ติดเชื้อหลังคลอด เนื่องจากมีเส้นเลือดแตกใกล้ปากมดลูก จึงทำให้ติดเชื้อง่าย
ผลต่อทารกในครรภ์
– พบอัตราตายทารกหลังกำเนิด ประมาณร้อยละ 20 โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการคลอดก่อนกำหนด
– น้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์ การเจริญเติบโตช้าในครรภ์
– ความพิการแต่กำเนิด ในระบบประสาทส่วนกลาง , โรคหัวใจแต่กำเนิด , โรคเกี่ยวกับระบบหายใจ , ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
การดูแลรักษา ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์และจำนวนเลือดที่ออก แบ่งได้เป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 : มีจำนวนเลือดออกเล็กน้อย คือ น้อยกว่าปริมาณ 250 ซีซี อายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์ และยังไม่เข้าระยะการคลอด แพทย์จะพิจารณาให้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง เพื่อให้ครรภ์ครบกำหนด ดังนี้
1. นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 3 วัน เพื่อสังเกตอาการ
2. ตรวจวัดสัญญาณชีพ , เสียงหัวใจทารกอย่างใกล้ชิด
3. ตรวจเลือดระดับฮีมาโตคริต , เตรียมเลือดและให้เลือด ถ้ามีข้อชี้บ่ง
4. งดการตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนัก
5. ถ้ามดลูกหดรัดตัว ซึ่งเป็นผลจาก Prostaglandins ที่หลั่งมาจากบริเวณที่มีการลอกตัวของรก ควรให้ยา
กรณีที่ 2 : มีเลือดออกมามาก อายุครรภ์ครบกำหนดเข้าสู่ระยะคลอด ซึ่งจะพิจารณาการคลอดโดยการผ่าตัดคลอด หรือคลอดทางช่องคลอดตามความเหมาะสม
การดูแลและปฏิบัติตนเมื่อมีภาวะรกเกาะต่ำ
1) งดการมีเพศสัมพันธ์ และไม่สวนล้างช่องคลอด
2) รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ล้างด้วยน้ำเปล่าแต่ภายนอกและรักษาให้แห้งเสมอ ระวังไม่ให้อับชื้น
3) นอนพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8 – 10 ชั่วโมง นอนในท่าตะแคงซ้าย และไม่ทำงานหนัก
4) รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกที่มีประโยชน์ ห้ามขาดอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียม งดพวกชา , กาแฟ และถ้าสูบบุหรี่ ควรงดอย่างเด็ดขาด เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว
5) ถ้าพบออกทางช่องคลอด ให้ใส่ผ้าอนามัยและให้มาโรงพยาบาล
6) ควรมาตรวจตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการ โดยการนัดจะนัดถี่ขึ้น ซึ่งอาจต้องทำ NST เพื่อประเมินสภาพทารกทุกสัปดาห์
คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายเมื่อได้ทราบข้อมูลเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเครียดและกังวลมากไปจนเกินเหตุนะคะ ขอเพียงแค่คุณหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลบำรุงครรภ์อย่างดี และที่สำคัญคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องฝากครรภ์แต่เริ่มแรกที่ทราบว่ามีครรภ์ และไปตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หากมีความผิดปกติใดๆ ก็จะสามารถตรวจพบได้เร็ว แพทย์ก็จะสามารถรักษาและแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างทันท่วงทีนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com