มะตูม.. ผลไม้พื้นบ้านสรรพคุณทางยาเพียบ!!
advertisement
มะตูม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.
ชื่อสามัญ : Bael
ชื่อวงศ์ : Rutaceae
ชื่ออื่น : มะปิน (ภาคเหนือ) กระทันตาเถร ตุ่มเต้ง ตูม (ปัตตานี) มะปีส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)มะตูม (ภาคกลาง)บักตูม หมากตูม(ภาคอีสาน) พะเนิว (เขมร)
advertisement
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดรูปไข่ เปลือกต้นสีเทาเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆตามยาว เนื้อไม้แข็ง มีสีขาวแกมเหลือง และมีกลิ่นหอม โคนต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม ยาว แข็ง ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ตามกิ่ง
ใบ : เป็นใบประกอบแบบมีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ กว้าง 1-7 เซนติเมตร ยาว 4-13 เซนติเมตร สองใบล่างมีขนาดเล็กและติดตรงข้ามกัน ใบปลายมีขนาดใหญ่ ปลายใบสอบ โคนใบแหลม ขอบใบเรียบหรือมีหยักมนๆ แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีชมพู มีขนละเอียด ใบแก่สีเขียวเข้ม เรียบเกลี้ยง เส้นใบข้าง 4-12 คู่ จรดกันที่ขอบใบ นูนขึ้นด้านบน ก้านใบย่อยที่ปลายยาว 0.5-3 เซนติเมตร
ดอก : ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ดอกสีขาวอมเขียวหรือสีเหลืองอ่อน ขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมักออกพร้อมกับใบอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกขนาด 6-8 มม. รูปไข่กลับ โคนติดกัน ดอกสมบูรณ์เพศ เกสรตัวผู้มี 65-70 อัน อับเรณูสีน้ำตาลอ่อน ก้านเกสรตัวเมียสั้น รังไข่สีเขียวสด หมอนรองดอกเห็นไม่ชัดเจน กลีบฐานดอกกางแผ่เป็นรูปดาวมี 4-5 แฉกแหลมๆ กลีบเลี้ยงแบนมี 4-5 พูก้านดอกมีขนอ่อนปกคลุม
ผล : รูปรีกลมหรือรียาว ขนาดกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกหนา แข็งมาก ไม่แตก ผลอ่อนมีสีเขียวพอสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีสีเหลือง นิ่ม มีกลิ่นหอม และมีเนื้อเยื่อสีส้มที่มียางเหนียวๆ ภายในมี 8-15 ช่อง
เมล็ด : สีน้ำตาลอ่อน จำนวนมาก มียางใสเหนียวหุ้มเมล็ดอยู่ เมล็ดรูปรีๆ และแบน มีเส้นขนหนาแน่นปกคลุม พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าแล้งทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-700 เมตร ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และติดผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
[ads]
advertisement
ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่ใช้เป็นผัก : ยอดอ่อน ผลดิบ
ช่วงฤดูกาลที่เก็บ ยอดอ่อนออกตลอดปี ลูกอ่อนพบในช่วงฤดูฝน ผลสุกมีในช่วงกลางฤดูหนาวถึงฤดูแล้งคนไทยทุกภาครับประทานยอดอ่อนและใบอ่อนของมะตูมเป็นผักสด ในตลาดท้องถิ่นมักพบในมะตูมอ่อนจำหน่ายเป็นผักชาวเหนือรับประทานแกล้มลาบ ชาวอีสานรับประทานร่วมกับก้อย ลาบหรือแจ่วป่น ชาวใต้รับประทานร่วมกับน้ำพริกและแกงรสจัด สำหรับภาคกลางไม่นิยมรับประทานยอดอ่อน แต่พบว่ามีการใช้มะตูมดิบมาปรุงเป็นยำมะตูม
ส่วนที่ใช้เป็นยา: ผลโตเต็มที่ ผลแก่จัด ผลสุก ผลอ่อน ใบ เปลือกลำต้น ราก
advertisement
สรรพคุณของมะตูม
ตำรายาไทย
ผล: รสฝาด หวานชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะและลำไส้ ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง แก้บิดมูกเลือด บิดเรื้อรัง บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ คออักเสบ ร้อนใน ปากเปื่อย ขับเสมหะ ขับลม ผลมะตูมยังมีสรรพคุณพิเศษคือมีฤทธิ์ลดความกำหนัด คลายกังวล และช่วยให้สมาธิดีขึ้น ชาวพุทธจึงนิยมใช้ทำเป็น น้ำปานะ ถวายพระสงฆ์
ผลดิบแห้ง: ชงน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้บิด
ผลสุก: รสหวานเย็น เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้ลมในท้อง แก้มูกเลือด
ผลอ่อน: รสฝาดร้อนปร่าขื่น บดเป็นผง ต้มกินแก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้โรคกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร ขับลม บำรุงกำลัง
ผลแก่: รสฝาดหวาน ต้มดื่มแก้เสมหะและลม บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร
ใบสด: รสฝาดมัน คั้นน้ำกินแก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม แก้หวัด แก้ผดผื่นคัน แก้ตาบวม แก้ตาอักเสบ
เปลือกรากและต้น: รักษาไข้มาลาเรีย ขับลมในลำไส้
ราก: รสฝาด ซ่า ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ขับเสมหะ แก้พิษฝี พิษไข้ แก้สติเผลอ ขับน้ำดี ขับลม
เปลือกรากและลำต้น: แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ใบ: ใช้ในพิธีมงคลต่างๆ
ยอดอ่อนใบอ่อน: นำมารับประทานสดเป็นผัก
เนื้อจากผลสุก: รับประทานได้มีรสหวาน
ยางจากผล: ใช้ติดกระดาษแทนกาว
[yengo]
advertisement
สรรพคุณ/วิธีและปริมาณที่ใช้
บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ : ใช้ผลโตเต็มที่ ฝานตากแห้ง คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่ม ใช้ 2-3 ชิ้น ชงน้ำเดือดความแรง 1 ใน 10 ดื่มแทนน้ำชา หรือชงด้วยน้ำเดือด 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
แก้ปัสสาวะขัด : นำใบมะตูมกับต้นหญ้าแพรก มาบดโดยเติมน้ำเล็กน้อย นำมารับประทานในช่วงเช้าร่วมกับน้ำสะอาด 1 แก้ว โดยรับประทานขณะท้องว่าง วันละครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน
แก้อาหารไม่ย่อย : นำใบมะตูมมาบดกับพริกไทยดำ รับประทาน 2-3 ครั้ง ใน 1 วัน
แก้โรคเรื้อน : นำใบมะตูมตากแห้งมาบดเป็นผง นำมาโรยบนแผลให้ทั่วหลังอาบน้ำ จนกระทั่งหาย หลีกเลี่ยงการรับประทานปลาแห้ง ฟักทอง และมะเขือเทศระหว่างการรักษา
แก้ไข้ทรพิษ : นำใบมะตูมตากแห้งมาบดเป็นผง รับประทาน ครั้งละ 1 ช้อนชา วันละครั้ง จนกว่าจะหาย
ช่วยขับลมผาย ช่วยเจริญอาหาร : ใช้ผลมะตูมแก่ทั้งลูกขูดผิวให้หมด ทุบพอร้าวๆ ต้มน้ำเติมน้ำตาลเล็กน้อยดื่มน้ำ น้ำที่ได้มีรสหอม เรียกว่า "น้ำอัชบาล"
แก้กระหายน้ำ แก้ลม แก้เสมหะ : รับประทานเนื้อผลมะตูมสุก แก้พิษฝี แก้ไข้
แก้ลมหืดหอบ ไอ : นำรากไปคั่วไฟให้เหลือง แล้วนำไปดองสุราเพื่อกลบกลิ่น
แก้โรคลำไส้ แก้ท้องเดิน แก้หวัด : ใช้ใบรับประทานเป็นผัก แก้ปวดศีรษะ ตาลาย
ลดความดันโลหิตสูง : ใช้ทั้ง 5 ต้มรับประทาน
แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย : ใช้ผลอ่อนหั่นผึ่งให้แห้ง บดเป็นผงหรือต้มรับประทาน โดยใช้ตัวยา 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 5 แก้ว นานประมาณ 10-30 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว ทุก 2 หรือ 4 ชั่วโมง แล้วแต่ว่าเป็นมากเป็นน้อย หรืออาจจะซื้อมะตูมแห้งจากร้านขายยา 5-6 แว่น ต้มกับน้ำประมาณ 2 ถ้วยแก้ว เดือดแล้วเคี่ยวต่อไปเล็กน้อย ยกลง ตั้งไว้ให้เย็นดื่มครั้งละ ครึ่งแก้วเติมน้ำตาล
แก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม: ใช้ใบสดคั้นเอาน้ำรับประทาน
ในประเทศอินเดีย: ใช้ผลมะตูมเป็นยาแก้ท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้
advertisement
นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ต้านเชื้อมาลาเรีย ฆ่าไส้เดือน ฆ่าพยาธิ ฆ่าแมลง ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ คลาย กล้ามเนื้อเรียบ ต้านฮีสตามีน ลดระดับน้ำ ตาลในเลือด ยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน( insulin) ลดระดับไขมันใน ลดการอักเสบ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการวิจัยพบว่าเมื่อนำสารแทนนินซึ่งสกัดจากใบมะตูมไปใช้ทดสอบกับหนูขาวที่เป็นโรคเบาหวาน ทำให้หนูขาวนั้นมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เนื่องจากเกิดการหลั่งของอินซูลินหรือฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมากขึ้น
ข้อควรระวัง
– ตำรายานี้เป็นเพียงยาระงับอาการของโรคเท่านั้น ถ้าใช้รักษาโรคภายใน 1 วันไม่ได้ผล (ยกเว้นโรคเรื้อรัง เช่น กระเพาะ, หืด) ควรหยุดใช้ยาทันทีเมื่อมีความเจ็บป่วย หากอาการรุนแรงขึ้น ไม่ควรรักษาด้วยตนเองควรปรึกษาผู้ชำนาญ
– ควรใช้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น เพราะยานี้ใช้รักษาโรคค่อนข้างรุนแรง เช่น ท้องเสียรุนแรง
– ถ้าท้องเสียควรดื่มน้ำมากๆ เติมน้ำตาลทรายและเกลือลงไปด้วยจะดีมาก
เรียบเรียงข้อมูลโดย : Kaijeaw.com
อ้างอิงข้อมูลจาก/ References:
กองโภชนาการ กรมอนามัย. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม. 48 หน้า.
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก rspg.svc.ac.th
ฐานข้อมูลสมุนไพรไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก phargarden.com
สถาบันการแพทย์แผนไทย(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก dtam.moph.go.th