ยาสามัญประจำบ้านของลูกน้อย..ที่ควรมีติดบ้านไว้!!
advertisement
การที่ลูกจะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่ะ เพราะภูมิต้านทานในร่างกายของลูกนั้นยังต่ำ ร่างกายลูกยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร แต่ความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หากเกิดขึ้นแล้ว คนที่อยู่ใกล้ชิดลูกอย่างคุณพ่อคุณแม่นั้นวินิจฉัยได้ อย่างเช่น อาการปวดหัว มีไข้ ท้องเสีย ฯลฯ หรือมีบาดแผล ในเบื้องต้นนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยยาสามัญประจำบ้าน และยาอะไรบ้างที่ควรมีติดบ้านไว้!! วันนี้ Kaijeaw.com มีมาแนะนำกันค่ะ
1) เกลือแร่สำหรับเด็ก
สำหรับอาการท้องเสียของลูก ปกติเด็กสามารถหายจากอาการท้องเสียเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ควรป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ ด้วยการจิบเกลือแร่สำหรับเด็กบ่อยๆ หากลูกอาการไม่ดีขึ้น ดูอ่อนเพลียมาก ถ่ายเป็นน้ำมาก ควรไปพบคุณหมอ
2) ยาทาผื่นผ้าอ้อม
สำหรับเด็กแรกเกิด ผิวบอบบางของลูกน้อยอาจเกิดการระคายเคืองจากผ้าอ้อมได้ จึงควรทายาให้ลูกน้อยทุกครั้งก่อนสวมใส่ผ้าอ้อมค่ะ
3) มหาหิงคุ์
แก้ปวดท้อง ท้องอืด ใช้ทาท้องรอบๆ สะดือ หลังอาบน้ำ หรืออาจทาตามฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย น้ำมันหอมระเหยในมหาหิงคุ์จะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวในกระเพาะอาหาร ทำให้ลูกรู้สึกสบายท้องมากขึ้น
4) ขี้ผึ้งสำหรับทาเวลาแมลงสัตว์กัดต่อย
การที่ลูกวัยซนจะถูกยุงกัด มดกัดบ่อยๆ เป็นไปได้ ควรมีขี้ผึ้งที่ทาแล้วไม่แสบติดบ้านไว้ทาให้ลูก แทนยาหม่องของผู้ใหญ่ที่อาจจะแสบ ซึ่งถ้าหากลูกเกาแล้วเอาไปขยี้ตา จะแสบตาได้
[ads]
5) คาลาไมล์โลชั่น
แก้ผดผื่นคัน หากเกิดผดผื่นคันเป็นวงกว้าง ตามหลัง หรือตามหน้าอกของลูก ใช้คาลาไมล์โลชั่นทาได้เลย ลูกจะรู้สึกเย็นสบายหายคัน
6) ยาแก้ปวด-ลดไข้
ยาแก้ปวด ลดไข้ สำหรับเด็ก เช่น พาราเซตามอล ใช้สำหรับเด็กที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดฟัน หรือตัวร้อนมีไข้ โดยพาราเซตามอลของเด็กจะเป็นชนิดน้ำเชื่อม ซึ่งมีหลายรูปแบบที่ผลิตออกมาสู่ท้องตลาดได้แก่
– แบบหยด สำหรับทารกและเด็กเล็ก จะมีความแรงของตัวยา 60 มก./0.6 มล. (1 หลอดหยด)
– แบบกินเป็นช้อนจะมีความแรงของตัวยาที่เจือจางกว่า คือ 120 มก./5 มล., 160 มก./5 มล. และ 250 มก./5 มล.
ซึ่งมีหลายรสชาติ พ่อแม่หลายคนจึงเข้าใจผิด เลือกยาให้ลูกตามรสชาติที่ลูกชอบ แต่ที่ถูกต้องนั้น เราต้องเลือกยาให้ลูกตามขนาดความแรงของยาที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวเด็ก โดยยาพาราเซตามอล จะให้ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่ควรกินยาติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจมีผลเสียต่อตับได้
7) ยาลดน้ำมูก แก้แพ้อากาศ
โดยต้องปรึกษาเภสัชกรก่อนเลือกใช้ เพราะต้องมีความระวังเป็นพิเศษ โดยส่วนมาก ยาลดน้ำมูก แก้แพ้อากาศ จะเป็นยากลุ่มด้านฮิสตามึน ใช้เมื่อเด็กมีอาการน้ำมูกไหล จาม เมื่อเป็นหวัด หรือเมื่อมีอาการแพ้อากาศเย็น แต่ในเด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่ยังสั่งน้ำมูกไม่เป็น มักจะไม่ให้ยาลดน้ำมูกแบบที่ทำให้น้ำมูกแห้ง เพราะน้ำมูกจะแห้งกรังอยู่ในโพรงจมูก และอาจปิดกั้นทางเดินหายใจได้ จึงมักให้เป็นยาละลายเสมหะ ที่ทำให้น้ำมูกใส และไหลออกมาเองได้ จะปลอดภัยกว่า
8) ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ
เป็นอีกชนิดที่ควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยยาแก้ไอจำพวกละลายเสมหะที่สามารถใช้ในเด็กเล็กได้อย่างปลอดภัย จะเป็นยาคาร์โบซีสเทอีน, แอมบรอกซอล หรือบรอมเฮกซีน เป็นต้น และคุณสามารถเลือกใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของสมุนไพร และเลือกชนิดสำหรับเด็ก
9) ยาทาแผลสด และอุปกรณ์ทำแผล
เด็กวัยซนอาจมีเรื่องต้องเจ็บตัวอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงควรหายา และอุปกรณ์สำหรับทำแผลติดตู้ยาประจำบ้านไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน โดยหากบาดแผลไม่ลึกมาก แต่มีเลือดออก สามารถใช้น้ำเกลือล้างแผลได้ จะไม่แสบมากเหมือนแอลกอฮอล์ และใช้ยาใส่แผลจำพวกโพวิโดน-ไอโอดีน หรืออาจใช้เป็นพวกยาครีมขี้ผึ้งที่ผสมยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนอุปกรณ์ทำแผลที่ควรมีติดตู้ยาไว้ได้แก่ พลาสเตอร์ยา สำลี ผ้าก๊อซ เทปปิดผ้าก๊อซ เป็นต้น และในกรณีที่แผลไม่มีเลือดออก แต่เป็นรอยเขียวช้ำ ปูด ให้ใช้ยาทาจำพวก Reparil Gel® วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยให้รอยเขียวช้ำจางเร็วขึ้น
10) ยาทาปากเปื่อยเป็นแผล ฝ้าขาวที่ลิ้นและในปาก
ใช้ยากลีเซอรีน บอแรกซ์ จะเป็นน้ำใสข้น ไม่มีสี หรือใช้ เจนเชี่ยนไวโอเล็ต ทาแก้ปวดเปื่อย เป็นแผล ลิ้นแตก เป็นฝ้าขาวได้ ระหว่างนี้ควรให้เด็กได้ดื่มน้ำเยอะๆ หรือทานผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็น เช่น กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร แคนตาลูป ชมพู่ แตงโม มะพร้าว แอปเปิล เพื่อช่วยลดอาการร้อนในด้วย จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
11) ปรอทวัดไข้
คุณพ่อคุณแม่ควรจัดหาปรอทวัดไข้ติดบ้านไว้สำหรับวัดอุณหภูมิให้ลูก เมื่อสงสัยว่ามีอาการไข้ ตัวร้อน เพราะสามารถชี้วัดได้ถูกต้องกว่าการใช้มือสัมผัสหรือการใช้ความรู้สึกบอกว่าลูกตัวร้อน และสามารถจดจำเป็นตัวเลขได้ในกรณีมีาต้องไปพบแพทย์ จะได้ให้ข้อมูลถูกต้องชัดเจน โดยปรอทวัดไข้มีหลายรูปแบบทั้งแบบหลอดแก้วบรรจุปรอทไว้ภายใน แบบดิจิตอลแสดงผลเป็นตัวเลข และแบบแถบแปะหน้าผากแสดงผลด้วยแถบสี เป็นต้น
12) เจลประคบร้อน-เย็น
เจลประคบร้อน-เย็น มีหลายขนาดสามารถเลือกใช้ตามบริเวณที่จะประคบ สามารถใช้ประคบเย็นได้เมื่อเป็นไข้ตัวร้อน หกล้มฟกช้ำดำเขียว หัวโน แมลงกัดต่อย และมีอาการบวม แดง คัน หรือประคบร้อนเมื่อมีอาการบวมของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
13) น้ำมันยูคาลิปตัสหรือวิกส์
เมื่อลูกเป็นหวัดคัดจมูก คุณแม่อาจใช้วิกส์ทาอก ทาหลัง ทาฝ่าเท้าก่อนนอน หรือป้ายไว้บนเสื้อผ้า แต่ไม่ควรทาที่จมูกลูกโดยตรง เพราะจะแสบจมูก หากลูกเอามือป้ายน้ำมูกแล้วเอาไปป้ายตาจะทำให้แสบตาไปด้วย ส่วนน้ำมันยูคาลิปตัส เอาไว้หยดใส่หมอน หรือหยดใส่ผ้าวางไว้ใกล้ๆ ทำให้จมูกโล่งเวลาเป็นหวัด หรือแบบสเปรย์ฉีดในห้องนอนช่วงที่ลูกคัดจมูก
14) น้ำเกลือล้างจมูก
เมื่อลูกเป็นหวัด มีน้ำมูก คัดจมูก หรือแพ้อากาศ ควรมีน้ำเกลือล้างจมูกไว้ติดบ้าน จะช่วยให้อาการเหล่านี้หายได้เร็วขึ้นมากเลยทีเดียว
15) ยาแก้ท้องผูก
เมื่อลูกมีอาการท้องผูก ยาแก้ท้องผูกจะทำให้ลูกขับถ่ายดีขึ้น ถ้าลูกไม่ได้ขับถ่ายมาหลายวัน แต่การจะใช้ยาแก้ท้องผูกของลูก ควรปรึกษาแพทย์ถึงการลือกใช้ยา และการใช้ยาตัวนี้ไม่ควรใช้มากหรือบ่อยจนเกินไปเพราะจะทำให้ระบบลำไส้ของลูกทำงานผิดปกติ อาจจะเลือกให้ลูกกินใยอาหารชนิดละลายน้ำแทน หรือทางแก้ที่ดีที่สุดควรเน้นให้ลูกทานผักและผลไม้เยอะๆ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ขับถ่ายให้เป็นเวลา เพียงเท่านี้ลูกก็จะขับถ่ายได้ตามปกติแล้วค่ะ
[yengo]
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
การเลือกใช้ยาในเด็กเล็กควรเลือกยาที่ประกอบด้วยตัวยาเดี่ยวๆ ชนิดเดียวจะปลอดภัยกว่า เพราะการใช้ยาสูตรผสมจะทำให้เด็กได้รับยาเกินความจำเป็น และหากมีอาการแพ้ยาจะเป็นการยากว่าแพ้ยาตัวไหน ยกเว้นในเด็กที่กินยายาก หรือมีอาการหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น มีไข้ ไอ และน้ำมูก พร้อมกัน ก็อาจพิจารณาให้ยาสูตรผสมได้ หากจำเป็น
วิธีเก็บรักษายา
1. ก่อนการใช้ยาควรอ่านสลากยาให้ครบถ้วน และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดรวมทั้งคำแนะนำการเก็บรักษายาด้วย
2. หากยาที่ลูกได้รับนั้นไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้องบริเวณที่ไม่ร้อน และ ไม่มีแสงแดดส่อง ห้ามทิ้งยา ไว้ในรถยนต์ เพราะเมื่อจอดกลางแดด แม้เพียงไม่นานอุณหภูมิในรถจะร้อนมาก ทำให้ยาเสื่อมได้ง่าย และที่สำคัญควรเก็บในที่ที่เด็กไม่สามารถหยิบยาเองได้
3. หากยานั้นระบุว่าให้เก็บยาไว้ในตู้เย็น ห้ามแช่แข็งโดยเด็ดขาด การเก็บยาในตู้เย็น หมายถึง ให้เก็บในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเก็บที่ชั้นใกล้ช่องแช่แข็ง เพราะมีความเย็นจัดจนทำให้เป็นน้ำแข็งและตกตะกอนได้ นอกจากนี้ไม่ควรเก็บยาที่ประตูตู้เย็นเพราะอุณหภูมิอาจไม่เย็นพอ จากการที่มีการเปิด – ปิด ประตูตู้เย็น บ่อยๆ
4. ยาน้ำสำหรับเด็กบางชนิดที่บรรจุในขวดสีชา หมายถึง ยาที่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกแสง ไม่ควรเปลี่ยนภาชนะบรรจุยาไปเป็นแบบใสหรือขาว เพราะจะทำให้ยาเสื่อมได้
5. ยาบางชนิดที่ต้องระมัดระวังเรื่องความชื้น ควรใส่สารกันชื้น ที่มักเห็นเป็นซองเล็กๆ ภายในมีเม็ดกันชื้นอยู่สอดอยู่ในขวดยาไว้ตลอดเวลา และควรปิดภาชนะบรรจุให้แน่น ระมัดระวังอย่าให้อากาศเข้าด้านในจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็ว
6. สิ่งสำคัญควรเก็บยาไว้ในภาชนะบรรจุเดิม ซึ่งมีสลากระบุชื่อยาและวันที่ได้รับยานั้น จะทำให้ทราบระยะเวลาที่ควรเก็บยาที่เหลือนั้นได้
รายการยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้ หากคุณพ่อคุณแม่เตรียมให้มีติดบ้านไว้เป็นประจำ พร้อมกับหมั่นสังเกตความผิดปกติของสุขภาพที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยแล้วล่ะก็ อาการความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นกับลูก ก็สบายใจหายห่วงได้ แต่หากลูกน้อยแข็งแรงดีไม่เจ็บป่วยบ่อย คุณพ่อคุณแม่อาจลองตรวจสอบยาเป็นระยะ ว่าหมดอายุหรือยังด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่ได้ให้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของลูกในเบื้องต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการแย่ลง ไม่ควรที่จะนิ่งนอนใจไปนะคะ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com