ใช้ยาอย่างไร..ให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ!!
advertisement
ยาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ใช้รักษาให้หายป่วยและทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นจากอาการเจ็บป่วยได้ ซึ่งยาก็มีหลายชนิด รักษาโรคแตกต่างกันไป มีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันตามแต่ประเภท สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักไว้อยู่เสมอก็คือ ยาทุกชนิดใช้เพื่อประโยชน์การรักษาโรคจริง แต่ก็มีอันตรายได้เช่นกัน หากว่าเราใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือใช้โดยไม่ระมัดระวัง อาจทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนและทำให้เกิดอันตรายได้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ในคราวเดียวกัน Kaijeaw.com จึงมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยามาบอกกันค่ะ
วิธีการปฏิบัติเพื่อ ลดความเสี่ยงและได้รับประโยชน์จากการใช้ยาอย่างสูงสุด
1. ใช้ยาให้ถูกโรค ควรปฏิบัติดังนี้
1) ใช้ให้ถูกโรค คือ ใช้ยาให้ตรงกับโรคที่เป็น เวลาซื้อยาต้องซื้อกับแพทย์ เภสัชกร เพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเรา เช่น
– อาการที่เป็นอย่างละเอียด
– ประวัติการแพ้ยา
– ระหว่างนี้ได้รับประทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆ ชนิดใดบ้าง
– ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง เพราะยาบางตัวนั้นส่งผลกระทบถึงลูกในครรภ์หรือไหลออกมาพร้อมกับน้ำนมแม่ก็ได้
– มีข้อจำกัดบางประการในการใช้ยา เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยาหรือกลืนยาได้ยาก แพทย์หรือเภสัชกรจะได้เปลี่ยนรูปแบบยาเพื่อให้สะดวกในการรับประทานมากขึ้น หรือมีอาชีพที่ต้องใช้สมาธิ ขับรถเดินทางไกล ทำงานกับเครื่องจักรซึ่งอันตราย จึงไม่สามารถทานยาที่ทำให้ง่วงได้
– หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้ละเอียด ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงในการใช้ยาผิดๆ ได้
2) ทำความรู้จักกับยาที่ใช้ให้มากที่สุด เช่น
– จำชื่อสามัญทางยาและชื่อทางการค้าของยาให้ได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่คุณแพ้ ลดการใช้ยาซ้ำซ้อนและได้รับยาเกินขนาด
– ให้จำลักษณะของยา เช่น สี กลิ่น รูปร่างของเม็ดยา เป็นต้น เมื่อสภาพของยาเปลี่ยนแปลงไปจากเริ่มแรก เช่น สีเปลี่ยน ควรหลีกเลี่ยง
การใช้ยาดังกล่าวเพราะยาเสื่อมสภาพอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
– ฟังอธิบายการใช้ยาจากเภสัชกรให้เข้าใจ เช่น รับประทานเวลาใด จำนวนเท่าไร และควรรับประทานต่อเนื่องนานแค่ไหนเมื่ออยู่ในสถานการณ์ ใดที่ควรหยุดยาและผลข้างเคียงหลังจากรับประทานยา
3) อ่านฉลากยาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
– ให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องแล้ว หากไม่เข้าใจอย่างไรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
– อ่านฉลากยาทบทวนความเข้าใจ
– เก็บยาในสถานที่ และอุณหภูมิที่เหมาะสมตามที่ระบุบนฉลากของยา
– ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันไว้ในภาชนะเดียวกัน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อน ควรหาถุงแยกออกจากกันและไม่ควรเก็บยาสำหรับใช้ภายในและภายนอกไว้ใกล้เคียงกัน เพราะอาจเกิดการสันสบในการใช้ได้
4) หลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างกันของยา
– ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญว่ายาที่คุณรับประทาน มีปฏิกิริยาระหว่างยา อาหาร เครื่องดื่ม หรือ อาหารเสริมหรือไม่
– ทุกครั้งที่จะได้รับยามาใหม่ ควรนำยาเดิมที่รับประทานอยู่ ไปแสดงให้แพทย์หรือเภสัชกร ได้ตรวจสอบและจัดยาใหม่ไม่ให้ซ้ำซ้อนกันและได้ยาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
5) ตรวจสอบผลของยาที่จะเกิดขึ้นและอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
– ควรทราบวิธีการใช้ยา เพื่อลดอาการข้างเคียง เช่นควรรับประทานยาหลังรับประทานอาหารทันที เพื่อลดอาการปวดท้อง
– ให้ความสำคัญกับอาการต่างๆ ของร่างกาย หากมีสิ่งใดผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
– รู้ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา
[ads]
2. ใช้ยาให้ถูกเวลา ควรปฏิบัติดังนี้
– การรับประทานยาก่อนอาหาร ต้องรับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาถูกดูดซึมได้ดี ถ้าลืมกินยาในช่วงดังกล่าว ก็ให้รับประทานเมื่ออาหารมื้อนั้นผ่านไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดี
– การรับประทานยาหลังอาหาร โดยทั่วไปจะให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15-30 นาที
– การรับประทานยาหลังอาหารทันที หรือพร้อมอาหาร ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่รับประทานอาหารก็ได้ เพราะยาประเภทนี้จะระคายเคืองต่อกระเพาะมาก หากรับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง อาจทำให้กระเพาะเป็นแผลได้
– การรับประทานยาก่อนนอน ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที
– การรับประทานยาเมื่อมีอาการ ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ และยาลดไข้ แก้ปวด
3. ใช้ยาให้ถูกขนาด ควรปฏิบัติดังนี้
ควรรับประทานให้ถูกขนาดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่ง จึงจะให้ผลดีในการรักษา และควรใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการตวงยา
วิธีการแบ่งยา
สำหรับยาเม็ด
1) กรณียามีเส้นแบ่งตรงกลาง ให้หงายเม็ดยาด้านที่มีเส้นแบ่งขึ้นด้านบน จับปลายทั้งสองข้างของเม็ดยา โดยให้เส้นแบ่งอยู่ตรงกลางระหว่างนิ้วทั้งสอง แล้วออกแรงหักโดยดันขึ้นบน ในกรณียาเม็ดที่ไม่มีเส้นแบ่งเม็ดและไม่ได้เป็นยาเม็คเคลื่อบสามารถหักโดยวิธีนี้เช่นกัน โดยให้แน่ใจว่าออกแรงกดที่ปลายทั้งสองข้างของเม็ดยาพร้อมๆ และเท่าๆ กัน
2) กรณียาเม็ดเคลือบฟิล์ม และไม่มีเส้นแบ่งคงจะต้องใช้เครื่องแบ่งยา หรืออาจใช้กรรไกรคมๆ ตัด
3) ห้ามใช้มีดในการแบ่งเด็ดขาด เพราะส่วนใหญ่ยาที่แบ่งโดยใช้มีดจะได้ยาสองส่วนที่ขนาดไม่เท่ากัน หรือบางทียาอาจกระเด็นหายไปเพราะแรงกดกระแทกของมีด
สำหรับยาน้ำ
ขนาดในการรับประทานมักระบุเป็น ช้อนชา ช้อนโต๊ะ ซึ่งก็มักจะไม่ใช่ช้อนที่ใช้ชงกาแฟ หรือหากต้องใช้ สามารถเปรียบเทียบหน่วยมาตรฐานดังนี้
1 ช้อนชา (มาตรฐาน) = 5 มิลลิลิตร = 2 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 1 ช้อนกินข้าว
1 ช้อนโต๊ะ (มาตรฐาน) =15 มิลลิลิตร = 6 ช้อนกาแฟ (ในครัว) = 3 ช้อนกินข้าว
– ใช้หลอดฉีดยาในการตวงโดยมีรายละเอียด ดังนี้ 2/3 ช้อนชา = 3.4 ซ๊ซี , ¾ ช้อนชา = 3.8 ,1/4 ช้อนชา = 1.25 ซีซี ก่อนจะตวงควรสังเกตการแบ่งสัดส่วนของหลอดฉีดยาที่จะใช้ให้ถูกต้องก่อน เพราะขนาดของหลอดที่ต่างกันก็ให้ความละเอียดที่ต่างกันด้วย
[yengo]
4. ใช้ยาให้ถูกวิธี
1) ยาที่ใช้ภายนอกได้แก่ ขี้ผึ้ง ครีม ยาผง ยาเหน็บ ยาหยอด มีข้อดีคือมีผลเฉพาะบริเวณที่ให้ยาเท่านั้นและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงไม่ค่อยมีผลอื่นต่อระบบในร่างกาย แต่มีข้อเสียตรงที่ใช้ได้ดีกับโรคที่เกิดบริเวณพื้นผิวร่างกายเท่านั้น และฤทธิ์ของยาอยู่ได้ไม่นาน โดยมีวิธีการใช้ดังนี้ เช่น
– ยาใช้ทา ให้ทาเพียงบางๆ เฉพาะบริเวณที่เป็นหรือบริเวณที่มีอาการ ระวังอย่าให้ถูกน้ำล้างออกหรือถูกเสื้อผ้าเช็ดออก
– ยาใช้ถูนวด นำมาทาและถูบริเวณที่มีอาการเบาๆ
– ยาใช้โรย ก่อนที่จะโรยยาควรทำความสะอาดแผล และเช็ดบริเวณที่จะโรยให้แห้งเสียก่อน ไม่ควรโรยยาที่แผลสด หรือแผลมีน้ำเหลือง เพราะผงยาจะเกาะกันแข็งและปิดแผล อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคภายใน แผลได้
– ยาใช้หยอด จะมีทั้งยาหยอดตา หยอดหู หยอดจมูกหรือพ่นจมูก
2) ยาที่ใช้ภายใน ได้แก่ ยาเม็ดยาผง ยาน้ำ ข้อดี คือ สะดวก ปลอดภัย และใช้ได้กับยาส่วนใหญ่ แต่มีข้อเสียคือ ออกฤทธิ์ได้ช้าและปริมาณยาที่เข้าสู่กระแสเลือดอาจแตกต่างกันตามสภาพการดูดซึม โดยมีวิธีการใช้ดังนี้
– ยาเม็ดที่ให้เคี้ยวก่อนรับประทาน ได้แก่ ยาลดกรดและยาขับลมชนิดเม็ดทั้งนี้เพื่อให้เม็ดยาแตกเป็นชิ้นเล็ก จะได้มีผิวสัมผัสกับกรดหรือฟองอากาศในกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
– ยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ได้แก่ ยาชนิดที่เคลือบน้ำตาล และชนิดที่เคลือบฟิล์มบางๆ จับดูจะรู้สึกลื่น ยาดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์เนิ่นนาน ต้องการให้ยาเม็ดค่อยๆ ละลายทีละน้อย
– ยาแคปซูล เป็นยาที่ห้ามเคี้ยวให้กลืนลงไปเลย ข้อดีคือรับประทานง่าย เพราะกลบรสและกลิ่นของยาได้ดี
– ยาผง มีอยู่หลายชนิด และใช้แตกต่างกันควรศึกษาจากฉลากยาให้ดี เช่น ตวงใส่ช้อนรับประทานแล้วดื่มน้ำตาม หรือชนิดตวงมาละลายน้ำก่อน และยาผงที่ต้องละลายน้ำในขวดให้ได้ปริมาตรที่กำหนดไว้ ก่อนที่จะใช้รับประทาน
– ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension) เช่น ยาลดกรดต้องเขย่าขวดให้ ผงยาที่ตกตะกอนกระจายเป็นเนื้อเดียวกัน จึงรินยารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วตะกอนยังไม่กระจายตัว แสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
– ยาน้ำใส เช่น ยาน้ำเชื่อม ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ ถ้าเกิดผลึกขึ้น หรือเขย่าแล้วไม่ละลาย ไม่ควรนำมารับประทาน
– ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) เช่น น้ำมันตับปลา ยาอาจจะแยกออกให้เห็นเป็นของเหลว 2 ชั้น เวลาจะใช้ให้เขย่าจนของเหลวเป็นชั้นเดียวกันก่อน จึงรินมารับประทาน ถ้าเขย่าแล้วยาไม่รวมตัวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
ข้อควรระวัง : สำหรับอาการแพ้ยา หากกินยาแล้ว มีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้น เช่น มีผื่นคันตามตัว มีจ้ำที่ผิวหนัง หน้ามืด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือใจสั่น ให้หยุดยา และรีบพบแพทย์ทันที
เพราะการใช้ยามีอันตรายควบคู่ไปกับคุณประโยชน์ แต่การปฏิบัติตนเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยานั้นสามารถทำได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยนะคะ การใช้ยาให้ถูกต้องด้วยการอ่านฉลากยาให้เข้าใจและสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชชกร และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้จริงๆ เลยค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com