ระวังอันตราย!! สารพิษตกค้าง..ทำสุขภาพแย่!!
advertisement
เพราะเรื่องราวของสุขภาพได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ผักผลไม้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีมากๆ เนื่องจากผักผลไม้มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะ แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ รวมถึงเส้นใยของผักผลไม้ยังช่วยทำให้ระบบการขับถ่ายของร่างกายเป็นปกติอีกด้วย นอกจากสารอาหารต่างๆ เหล่านั้น ผักผลไม้บางชนิดยังมีสรรพคุณทางยาได้อีกมากมาย ถึงแม้จะเป็นที่ตระหนักดีว่าผักผลไม้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่ยังมีข้อควรระวังอยู่ในเรื่องของสารพิษตกค้างจากการเพาะปลูก และการเก็บรักษา สารพิษที่ว่านั้นมีอะไรบ้างที่ทำร้ายสุขภาพ คนรักสุขภาพห้ามพลาดกันนะคะ
ผักผลไม้ตามท้องตลาดอาจมีสารพิษตกค้างอยู่ การบริโภคแม้จะในปริมาณน้อยเป็นประจำอาจจจะเกิดการสะสม ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งในเรื่องของประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวบกพร่อง เกิดความผิดปกติ ทางกายภาพของต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง ฯลฯ
กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ทำการตรวจสอบสารพิษตกค้าง ปนเปื้อนในผลผลิตทางการเกษตรเขตภาคอีสานตอนบน ในผลผลิตพืช 85 ชนิด จำนวน 4,338 ตัวอย่าง ระหว่างปี 2551 – 2554 พบว่ามีสารพิษตกค้างในปริมาณที่ปลอดภัย 878 ตัวอย่าง คิดเป็น 20% ของตัวอย่างทั้งหมด และพบสารพิษตกค้างเกินค่าความปลอดภัย 157 ตัวอย่าง คิดเป็น 4% ของตัวอย่างทั้งหมด
อีกทั้งทางกระทรวงสาธารณสุข มีการเปิดเผยตัวเลขว่า คนไทยป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชปีละเกือบ 1,800 คน ซึ่งมีทั้งพิษแบบเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ และเป็นพิษเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนัง มะเร็งต่างๆโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ที่สำคัญผลการตรวจเลือดเกษตรกรไทยยังอยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง และพบว่ากว่า 4 ล้านคนมีความเสี่ยงจะป่วย!
ข้อมูลรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศไทย มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่สำคัญจากการสำรวจในทุกปี ยังพบว่ามีพบสารเคมีตกค้างในผัก และสารเคมีพิษอันตรายที่ทั่วโลกห้ามใช้ ซึ่งนอกจากเกษตรกรซึ่งถือเป็นผู้ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกของการผลิตแล้ว ผู้บริโภคก็เสี่ยงต่ออันตรายด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ 4 สารพิษอันตรายที่ปนเปื้อนในพืช ผัก ผลไม้ ที่วางขายในท้องตลาด
[ads]
4 สารพิษตกค้าง อันตรายที่ต้องระวัง ได้แก่
1) คาร์โบฟูราน (Carbofuran) สารชนิดนี้ใช้กำจัดแมลงได้มากมาย ทั้งหนอนกอ หนอนแมลงวัน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฯลฯ นิยมใช้ในนาข้าว พืชไร่ต่างๆ อย่าง ถั่วเหลือง ข้าวโพด แตงโม แตงกวา และพืชสวนอย่างกาแฟ ส้ม มะพร้าว ฯลฯ การได้รับสารพิษชนิดนี้ที่มีปริมาณมาก พอที่จะทำให้อาเจียน เสียการทรงตัว มองไม่ชัด เป็นสารก่อมะเร็งอย่างรุนแรง เซลล์ตับแบ่งตัวผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดเนื้องอก กลายพันธุ์ อสุจิตาย และทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง
2) เมโทมิล (methomyl) ใช้กำจัดแมลงหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น แมลงปากกัด ปากดูด เพลี้ย และหนอนชนิดต่างๆ นิยมใช้ในองุ่น ลำไย ส้มเขียวหวาน สตอเบอร์รี่ กระหล่ำปลี หัวหอม และมะเขือเทศ ฯลฯ สารชนิดนี้จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก พิษต่อหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำลายท่อในลูกอัณฑะ ในระยะยาวจะทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ และเป็นพิษต่อม้าม
3) ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) ใช้กำจัดแมลงประเภทปากดูด เจาะ หรือกัดในพืชผักผลไม้ อย่างเช่นข้าว กาแฟ ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว อ้อย คะน้า ส้ม ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ พิษต่อยีน กลายพันธุ์ เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง พิษต่อไต พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง เจ็บเหมือนเข็มแทง มือเท้าอ่อนล้าไม่มีแรง
4) อีพีเอ็น (EPN) ใช้เป็นหัวยาและผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆ ในการเพาะปลูก เพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอข้าว แมลงดำหนาม ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลแตง ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ ท้องเสีย แน่นหน้าอก มองไม่ชัด สูญเสียการทรงตัว ไอ ปอดปวม หยุดการหายใจ ทำลายระบบประสาท ไขสันหลังผิดปกติ น้ำหนักสมองลดลง พิษเรื้อรังยังทำให้ทารกในครรภ์มีปัญหาการพัฒนาการของสมอง ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว ห้ามใช้ในไทยแต่ยังตรวจพบในพืชผักผลไม้บางชนิด
แม้ว่าการจะหลีกเลี่ยงผักผลไม้ปลอดสารพิษนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผักผลไม้ที่หาซื้อมาบริโภคนั้นจะมีการปนเปื้อนสารพิษหรือเปล่า นอกจากการปลูกผักผลไม้ทานเอง ซึ่งก็คงเป็นเรื่องยากมาก ทางที่ดีก็คือควรกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนในผักผลไม้ ทำได้โดยการล้างผักผลไม้ค่ะ
[yengo]
เทคนิคล้างผักผลไม้ลดการปนเปื้อนสารสารพิษตกค้าง
1) การล้างด้วยน้ำธรรมดา และน้ำยาล้างผัก สามารถลดสารพิษได้ไม่น้อยกว่า 25%
2) การแช่ผัก ผลไม้ในด่างทับทิมสีชมพูอ่อนๆ (20-30 เกล็ด) จะช่วยลดสารพิษได้มากถึง 40%
3) การล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่านใช้มือช่วยคลี่ใบผักนาน 2 นาที จะช่วยลดสารพิษได้ถึง 60%
4) การใช้น้ำส้มสายชู (5%) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ1 กะละมัง (20 ลิตร) แล้วแช่ผักผลไม้นาน 30-45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ถึง 80%
5) การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แล้วนำผัก ผลไม้ ลงแช่ 15 นาที จะช่วยลดสารพิษที่ตกค้างได้ถึง 90%
6) การใช้ผงถ่านแอคติเวตชาร์โคลหรือผงคาร์บอนกัมมันต์ (activated carbon) แช่ผักผลไม้ โดยผสมผงถ่าน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 5 ลิตร แล้วนำผักผลไม้มาแช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยดูดซับสารเคมี สี และกลิ่น จากผักผลไม้ ได้มากกว่า 90%
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้บริโภค
การให้ความสำคัญในการหลีกเลี่ยงสารพิษตกค้างในผักผลไม้ เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพนะคะ คุณสามารถป้องกันในเบื้องต้นได้โดยล้าง ปอกเปลือกผักผลไม้ ก่อนบริโภคควรเลือกบริโภคผักผลไม้ตามฤดูกาล ไม่ควรรับประทานผักผลไม้ชนิดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน และควรเลือกรับประทานให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายมีเวลานานพอที่จะช่วยขับ และกำจัดสารพิษบางชนิดออกจากร่างกาย ก่อนที่จะมีการสะสมปริมาณสารพิษจนก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ ส่วนผักควรเลือกรับประทานผักที่ผ่านความร้อนมาแล้ว เพราะความร้อนสามารถทำลายสารพิษตกค้างหลายชนิด และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมา
บริโภคผักพื้นบ้าน เนื่องจากผักพื้นบ้านที่ขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้ปลูกเป็นการค้า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง และผักบางชนิดมีกลิ่นตามธรรมชาติ ที่แมลงไม่ชอบ การบริโภคผักพื้นบ้านจึงมักปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง
ข้อควรปฏิบัติสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกผัก
การใช้สารป้องกันกำจัดแมลงไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย เพียงแต่เกษตรกรผู้ปลูกผัก และผู้ค้าขายผัก ควรใช้ในปริมาณ ระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผลผลิตที่ได้นั้นปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และที่สำคัญในทุกขั้นตอนการเพาะปลูกเกษตรกรควรคำนึงถึงสุขภาพของตนเองและผู้บริโภคเป็นหลัก
แม้ว่าผักผลไม้จะมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพได้มากมาย ช่วยบำรุงเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ป้องกันความเจ็บป่วยและช่วยรักษาโรคได้ แต่ก็มีข้อควรระวังให้หลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้าง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ภัยเงียบ” แทนที่จะได้ประโยชน์แต่ก็กลับกลายเป็นโทษได้นะค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com