รู้จัก..โรคกระดูกพรุน

advertisement
อวัยวะในร่างกายทุกส่วน เมื่อเวลาผ่านไปเป็นเวลานานก็มักที่จะต้องเข้าสู่ภาวะของความเสื่อมได้ รวมถึงอวัยวะอย่างกระดูกด้วย กระดูกเสื่อมหรือภาวะกระดูกพรุนนั้น อาจจะฟังเป็นเรื่องไกลตัวที่เกิดขึ้นได้เฉพาะกับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกระดูกมีความเสื่อมในทุกๆ วันสะสมจนกระทั่งเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ดูแลบำรุงกระดูกได้ไม่ดีพอ โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรบ้าง ใครที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน และมีวิธีการป้องกันรักษาได้อย่างไรบ้าง ตาม Kaijeaw.com มาดูกันค่ะ
advertisement

โรคกระดูกพรุนคืออะไร ?
โรคกระดูกพรุนหมายถึงภาวะที่กระดูกสูญเสียเนื้อกระดูก และโครงสร้างของกระดูกผิดไป ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง เกิดการหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ เนื้อกระดูกจะมีรูพรุนเหมือนฟองน้ำ โดยในผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย
สัญญาณของโรคกระดูกพรุน
ระยะแรกมักไม่มีอาการแสดง เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการดังนี้
– ปวดหลัง ปวดตื้อๆ ตำแหน่งที่ปวดไม่ชัดเจน และอาจปวดร้าวไปด้านข้างได้
– หลังโก่ง ค่อม ความสูงลดลง
– กระดูกเปราะบาง อ่อนแอ หักง่ายกว่าคนปกติ [ads]
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน แบ่งได้ 2 สาเหตุ คือ
1. โรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ (Primary osteoporosis) สาเหตุหลักเกิดจากกระดูกเอง ได้แก่
1) โรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน (Postmenopausal osteoporosis หรือ osteoporosis type I) เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน พบในผู้หญิงอายุ 50-65 ปี มักพบกระดูกหักบริเวณกระดูกแขนส่วนปลายและกระดูกสันหลังทรุด
2) โรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ (Age-associated or senile osteoporosis หรือ osteoporosis type II) พบทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่อายุมากกว่า 70 ปี เกิดจากแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ มักพบกระดูกหักได้บ่อยบริเวณกระดูกต้นขา กระดูกข้อสะโพก และกระดูกต้นแขน
2. โรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (Secondary osteoporosis) สาเหตุหลักจากระบบอื่นส่งผลกระทบมาที่กระดูก ได้แก่
1) ระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) ผิดปกติ เช่น โรคเบาหวาน โรคฮอร์โมนพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ โรคต่อมหมวกไตทำงานน้อยผิดปกติ ภาวะขาดเอสโตรเจน โรคคุชชิง (Cushing’s disease) หรือจากการใช้ยาสเตียรอยด์
2) ขาดแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูก เช่นขาดแคลเซียม แมกนีเซียม โปรตีน วิตามินดี
3) ต่อมเพศทำงานน้อยผิดปกติ (Hypogonadal states)
4) สาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา การใช้ยาบางชนิดที่เร่งการทำลายกระดูก การขาดการออกกำลังกาย หรือการขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เช่น ผู้ป่วยพิการที่นอนติดเตียงตลอดเวลา เป็นต้น
advertisement

ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากที่สุดคือ
ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงจังหวะที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเป็นช่วงที่เกิดการเสียมวลกระดูกมากกว่าปกติอีกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้น เมื่อประกอบกับผู้ชายมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิงตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ผู้หญิงจึงมักมีการกระดูกพรุนและกระดูกหักจากกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย
กระดูกพรุนเป็นอันตรายได้อย่างไรบ้าง
โดยทั่วไปโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อน
– โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของ โรคกระดูกพรุน คือ กระดูกหัก บริเวณที่พบมากได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือซึ่งหากกระดูกสันหลังหัก จะทำให้เกิดอาการปวดมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้
– โรคจากการพักรักษาตัว ซึ่งต้องใช้เวลานานย่อมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นได้ เช่นภาวะถุงลมโป่งพอง ภาวะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ภาวะโรคหัวใจ และหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุให้สุขภาพโดยรวมแย่ลงอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
– รักษาไม่หาย เมื่อผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ได้รับอุบัติเหตุทำให้เกิดภาวะกระดูกหักกระดูกจะใช้เวลาในการเชื่อมต่อตัวเองนานกว่ากระดูกปกติหรืออาจไม่ติดเลยก็ได้
– อาการข้อยึดติด ด้วยผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน จะต้องอยู่ในเฝือกนานขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้อยึดติดไม่สามารถใช้ร่างกายส่วนนั้นได้เป็นระยะเวลานานหรืออาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดยึดกระดูกซึ่งผลการรักษามักไม่ได้ผลดี
advertisement

วิธีการรักษาโรคกระดูกพรุน 2 วิธี คือ
1) การรักษาด้วยยา
ยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายชนิด เช่น ยาต้านการสลายกระดูก (anti-resorptive drug) ยาเพิ่มการสร้างกระดูก (bone forming agent) และยาที่ออกฤทธิ์ทั้งต้านการสลายกระดูกและเพิ่มการสร้างกระดูก และการให้แร่ธาตุเสริมต่างๆ การรักษาโรคกระดูกพรุนจำเป็นต้องรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน และยาที่ใช้อาจเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
2) การรักษาโดยไม่ใช้ยา
(ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการป้องกันโรคกระดูกพรุน) การรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง โดยเฉพาะในวัยเด็ก หญิงมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ชายและหญิงวัยทอง อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซี่ยมได้แก่ นม นมพร่องมันเนย ผักใบเขียว ปลา กระดุด ถั่ว น้ำส้ม วัยทองควรจะได้รับแคลเซี่ยมอย่างน้อยวันละ 1500 มก ต่อวัน สำหรับวัยทองที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนควรจะได้รับแคลเซี่ยมวันละ 1000 มก ต่อวัน หากรับประทานวันละ 600 มก ต่อวันจะดูดซึมได้ดี เมื่อรับประทานแคลเซี่ยมจะต้องดื่มน้ำมากๆ เพราะแคลเซี่ยมจะทำให้ท้องผูก ในวัยทองควรจะได้รับวิตามินดีเสริมวันละ 400 ยูนิตต่อวันเพื่อเพิ่มการดูดซึมของแคลเซี่ยม [yengo]
ปกติแล้วความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงอายุ 20 – 35 ปี หลังอายุ 40 ปี ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะลดลงทั้งชายและหญิง ดังนั้น จึงควรเสริมสร้างให้เนื้อกระดูกแข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก มีแนวทางการป้องกันโรคกระดูกพรุน ดังนี้
1) กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย มีปริมาณแคลเซียมและวิตามินเพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัย ซึ่งปกติควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยที่สุดประมาณวันละ 800 – 1,000 มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม น้ำปู กุ้งแห้ง ปลาร้าผง กะปิ ปลาเล็กปลาน้อยที่กินทั้งกระดูก ถั่วแดงหลวง งาดำ ถั่วต่างๆ เต้าหู้ ผักใบเขียวต่างๆ เช่น ผักโขม บรอคโคลี ผักคะน้า ใบชะพลู ใบยอ เป็นต้น
2) ลดอาหารที่มีไขมันมาก เนื่องจากไขมันจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
3) ออกกำลังกายอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เพศ และวัย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาที เช่น วิ่งเหยาะๆ เดินเร็วๆ แอโรบิก เต้นรำ เป็นต้น แนะนำให้ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงเช้า ร่างกายจะได้รับวิตามินดีซึ่งสำคัญในการดูดซึมแคลเซี่ยม
4) งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน
– การสูบบุหรี่จะทำให้ฮอร์โมน estrogen ต่ำเป็นผลทำให้กระดูกจาง
– การดื่มสุรา วันละ 120-180 มิลิเมตรจะทำให้กระดูกจางและหักง่าย
– ไม่ควรดื่มชาหรือกาแฟมากกว่า 2 แก้ว เพราะสารคาเฟอีนจะเร่งการขับแคลเซียม
5) หลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเพราะจะทำให้เกิดกระดูกพรุน
6) ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะยาบางชนิดมีผลให่การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายลดลง เช่น ยารักษาไทรอยด์ ยาพวกสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
7) ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเมื่ออายุมากขึ้น ในหญิงที่มีความหนาแน่นของกระดูกน้อยกว่า 1 SD ควรได้รับฮอร์โมนทดแทนโดยคำแนะนำจากแพทย์
เพราะโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ถูกมองข้ามกัน อันเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว จนสะสมกลายเป็นโรคกระดูกพรุนได้เมื่ออายุมากขึ้น แนวทางในการป้องกันและรักษาทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเราเอง อย่าปล่อยให้เป็นโรคกระดูกพรุน เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้นะคะ กินอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอในทุกๆ วัน ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร หมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์เสมอ ป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ แล้วอย่าลืมบอกต่อคนที่คุณรักด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com