ลูกก้าวร้าว..รับมืออย่างไร

advertisement
เชื่อว่าพ่อและแม่ทุกคนต้องการที่จะเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นคนดี เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่ดื้อไม่ซน ที่สำคัญคือความน่ารัก น่าเอ็นดู สดใส ตามธรรมชาติของเด็กๆ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจคุณเสมอไปใช่มั้ยคะ บางครั้งบางคราวลูกกลับมีอารมณ์ร้าย เกเร และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นเด็กก้าวร้าว !! เช่นนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่คงจะปวดหัว และกังวลใจไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ Kaijeaw.com จึงมีวิธีการรับมือลูกก้าวร้าวอย่างได้ผล มาบอกกันค่ะ ไปดูกันเลย
พฤติกรรมก้าวร้าว คือการกระทำโดยการใช้กำลังทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้อื่น หรือการกระทำโดยวาจา ด่าว่าหยาบคาย เสียดสี กระทบกระเทียบ ทำร้ายจิตใจความรู้สึกของผู้อื่น อันเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อความรู้สึก ความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งสิ้น
ปัญหาของพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นหากเกิดขึ้นบ่อย และมีความรุนแรง จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตัวเด็กเอง ต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อนหรือครู ซึ่งปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ หากไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นอุปนิสัยติดตัวจนถึงวัยผู้ใหญ่ กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต ทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นอกจากนี้ถ้าหากพ่อแม่เองเป็นคนที่ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวในการแก้ปัญหา ก็จะกลายเป็นแบบอย่างให้เด็กรุ่นลูกดำเนินตาม สร้างปัญหาให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไปไม่จบสิ้น
advertisement

http://i.ytimg.com/vi/7KXnMUf2n9M/maxresdefault.jpg
วิธีการสังเกตสัญญาณความรุนแรงในวัยเด็กที่ต้องระวัง…
เด็กจะกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ไม่ได้ดังใจเวลาที่ถูกขัดใจก็จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กคนอื่นทั่วๆ ไป เมื่อเติบโตขึ้น หากเขายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองให้มันเหมาะสมได้ ก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง แต่ว่าเด็กหลายคนถ้าหากว่าเขาไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นก็อาจจะมีความรู้สึกเก็บกด เก็บเอาไว้ แล้วพอวันหนึ่งที่เขามีโอกาสจะแสดงออกจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น ในภาวะที่เขาถูกกระตุ้นได้เหมือนกัน
[ads]
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก ขึ้นกับปัจจัยหลัก 3 ประการ
1) ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ โครงสร้างทางสมองและระดับของสารเคมี ที่ทำหน้าที่นำสัญญาณประสาทในสมอง ซึ่งจะมีผลต่อพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคน ทำให้เป็นคนใจร้อนหรือใจเย็น
2) ปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ ลักษณะบุคลิกภาพของเด็กที่เกิดจากการเลี้ยงดู ทำให้เกิดมีความมั่นคงทางด้านอารมณ์สูงหรือต่ำ มีความอดทนรอคอยได้มากหรือน้อย หรือเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเอาแต่ใจตัวเองมักมีปัญหาในด้านนี้
3) ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวของคนในครอบครัว ตัวอย่างพฤติกรรมก้าวร้าวผ่านทางสื่อต่างๆ อาทิเช่น ทีวี วิดีโอเกมส์ หรือภาพยนตร์
นอกจากนี้พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กบางรายยังอาจก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ อาทิเช่น เด็กที่มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า ก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าวได้ง่าย เด็กสมาธิสั้นจะมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป เป็นต้น
advertisement

http://images.parenting.mdpcdn.com/sites/parenting.com/files/styles/facebook_og_image/public/toddler-tantrum.jpg?itok=3jJdR1gC
การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวแบ่งได้เป็น 2 ระดับ คือ การป้องกันก่อนเกิดปัญหา และการรับมือขณะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
การป้องกันก่อนเกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว
1) สิ่งที่ต้องทำอันดับแรกคือ พ่อแม่ คนในครอบครัว ครู และผู้ดูแลเด็กอื่นๆ ต้องแสดงให้เด็กดูเป็นตัวอย่างในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่ใช้ความรุนแรงและใช้วิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ การพูดจาที่ดี ท่าทีที่ดี เพราะถ้าหากพ่อแม่ทำไม่ได้ ก็เป็นไปได้ยากที่จะสอนลูกได้สำเร็จ
2) สอนด้วยคำพูดและแสดงออกในแนวทางเดียวกัน ให้เด็กรู้ว่าคนเรามีความรู้สึกไม่พอใจได้ แต่ต้องแสดงออกให้เหมาะสม สอนให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพสิทธิ์ผู้อื่น มีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง การสื่อสารด้วยคำพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึกไม่พอใจของตนเองออกมา การชะลออารมณ์โกรธ เช่น นับ 1 ถึง 10 การฝึกผ่อนลมหายใจ การให้อภัยไม่ถือโกรธ เป็นต้น
3) ให้การชมเด็กเมื่อเด็กสามารถควบคุมตนเองและแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมได้
4) พ่อแม่ควรจะต้องดูแลสื่อที่เด็กได้รับ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี ภาพยนตร์ เกมส์ ควรหลีกเลี่ยงประเภทที่มีเนื้อหาเป็นความก้าวร้าวรุนแรง สำหรับการป้องกันปัญหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การทำให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่น มีความใกล้ชิดกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มาก เด็กจะมีความอบอุ่นใจ มีความมั่นคงทางจิตใจ การควบคุมอารมณ์ก็จะทำได้ดีขึ้นด้วย
[yengo]
advertisement

http://www.pricelowreat.com/wp-content/uploads/2016/03/baby-01.jpg
การรับมือกับเด็กเมื่อเกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว ต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่
1. สื่อให้เด็กรู้ว่า ผู้ใหญ่ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเค้าแต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว และแนะให้เด็กแสดงออกอย่างเหมาะสมกว่า อย่างเช่น แม่พูดว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูจะใช้วิธีทำลายข้าวของแบบนี้ไม่ได้ ถ้าหนูโมโหมาก ต้องไประบายอารมณ์ทางอื่นแทน หนูจะขว้างปาหมอน หรือตุ๊กตาก็ได้”
2. หากการกระทำของเด็กรุนแรง มีการทำลายข้าวของ เสียหายหรืออาจเกิดอันตราย ผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องเข้าจัดการทันที โดยการจับเด็กไว้ หรือกอดไว้เพื่อระงับเหตุ
3. ขณะลูกอาละวาด ระงับเหตุก่อน อย่าดุไปสอนไป การแสดงออกที่เหมาะสม จะต้องเป็นไปตามกติกา ข้อตกลง อย่างเช่น เมื่อลูกเริ่มมีท่าทีโกรธ พ่อแม่ต้องยอมรับความรู้สึกของลูก เมื่อพ่อแม่รับฟังความรู้สึกของเขาจะผ่อนอารมณ์ของลูกลงได้ ถ้าลูกหาทางออกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเสนอทางเลือกให้ลูก จะดีกว่าออกคำสั่ง เพราะลูกจะเต็มใจมากกว่าถูกบังคับให้ทำ
4. เวลาลูกโกรธให้รับฟัง และให้รู้ว่าเรารู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร ให้โอกาสเด็กอธิบายเล่าเหตุการณ์โดยไม่ด่วนสรุปว่าเขาผิด บางครั้งเด็กต้องการเพียงการรับฟังจากผู้ใหญ่บ้าง
5. เมื่อเด็กสงบ ควรชี้แจงเหตุผลให้เด็กเข้าใจถึงสาเหตุที่ไม่ควรทำ ด้วยคำอธิบายที่กะทัดรัดชัดเจน
6. หลีกเลี่ยงคำพูด คำตำหนิ ที่ทำให้เกิดปมด้อย ถ้อยคำเช่น ว่าเด็กนิสัยไม่ดี เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว อันธพาล ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิที่การกระทำ เช่น แม่ไม่ชอบที่หนูเอาไม้ไปขว้างคุณปู่แบบนี้
7. ให้เด็กรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป เช่น เก็บกวาดข้าวของที่เสียหายจากการอาละวาด ขอโทษผู้ใหญ่ งดค่าขนม งดดูทีวีหรือเล่นเกมส์ เป็นต้น
8. ใช้ท่าทีที่สงบสยบความดึงดัน ให้พ่อแม่เป็นคนยืนยันในสิ่งที่ต้องการ เด็กดื้อ คือ เด็กที่ยืนยันในสิ่งที่เขาต้องการ แล้วได้ตามต้องการ เด็กซน คือ เด็กที่ยืนยันว่าการเล่นสนุกนั้นทำได้เสมอในทุกที่ เด็กก้าวร้าว คือเด็กที่ยืนยันว่าการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงนั้นได้ผลเสมอ หากเราปล่อยให้ลูกก้าวร้าวทำร้ายคนอื่นเท่ากับว่าเราทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เขาจะทำร้ายใครก็ได้ที่ทำให้เขาไม่พอใจ วิธีปราบลูกนั้น ไม้เด็ด คือ ยืนยันอย่างสงบว่าอย่างไรเสียลูกจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ยิ่งเราควบคุมความโกรธได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งควบคุมสถานการณ์ได้ดีเท่านั้น ควรคำนึงเสมอว่า ความคิด คำพูด และการกระทำของคุณพ่อคุณแม่นั้นต้องตรงกัน ต้องทำให้ลูกยุติการกระทำที่ไม่ถูกต้องให้ได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกโมโหไม่ได้ดั่งใจแล้วตีแม่ ความคิด : ลูกตีแม่อย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะให้ลูกทำอย่างนี้ไม่ได้ ควบคุมอารมณ์ให้ได้ จ้องหน้าลูกแล้วพูดอย่างชัดเจนหนักแน่น คำพูด : “หยุดนะ ลูกไม่ควรตีแม่” การกระทำ : จับมือลูกให้หยุดการตีให้ได้ ทำซ้ำจนกว่าลูกจะหยุดตี เมื่อลูกหยุด ต้องชื่นชม
9. ลูกเป็นคู่กรณีกับคนไหนคนนั้น ให้คนนั้นจัดการ
เมื่อใครคนใดคนหนึ่งกำลังจัดการกับพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก อีกคนต้องให้ความร่วมมือด้วยการไม่เข้าไปก้าวก่าย ควรดูอยู่เฉยๆ ไม่แสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายใด เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว อาจเข้ามาเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ลดความตึงเครียดลงลูกจะรู้สึกผ่อนคลายกับผู้ที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด
10. ใส่ใจและให้การชื่นชมพฤติกรรมที่ดี ลดการตำหนิติเตียน
เด็กมีต้องการคนชม และต้องการคนสนใจ ถ้าหากเราสนใจและชมเขาในสิ่งดีที่เขาทำบ่อยๆ ให้มากเท่าที่ทำได้ ทุกครั้งที่ชมจะเป็นเครื่องยืนยันว่า ลูกทำถูกต้องแล้ว ลูกจะอยากทำต่อไป แม้แต่เด็กที่ดื้อ ซน ก้าวร้าว พฤติกรรมก็จะดีขึ้นๆ จนกลายเป็นเด็กน่ารักในที่สุด
11. การคาดเดาสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ให้วางแผนเตรียมการไว้ และป้องกันปัญหาในระยะแรกก่อนที่จะบานปลาย ควาฝึกคาดเดาว่าในสถานการณ์ข้างหน้า จะมีเหตุอะไรบ้างที่อาจทำให้เกิดสิ่งไม่น่าพอใจ แล้วหาทางป้องกันไว้ การแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นก็ง่ายกว่าไปแก้ที่ปลายเหตุจะทำให้ยุ่งยากว่ามาก เช่น แก้ปัญหาเสียตั้งแต่ลูกเริ่มโกรธจะง่ายกว่าเมื่อลูกอาละวาดไปแล้ว
แม้ว่าปัญหาลูกก้าวร้าวจะเป็นงานยาก แต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ เพียงต้องใช้ความอดทนพยายามและความสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กดีได้ ลูกต้องการเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงและการดีขึ้นเพียงเล็กน้อยของลูก เป็นสัญญาณที่ดีแล้วที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ ไม่ยากเลยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com