ลูกขี้อาย ทำอย่างไรดี?
advertisement
เป็นเรื่องที่เราสามารถพบได้บ่อยๆ นะคะ กับเรื่องของเด็กขี้อาย ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองได้บ่อยๆ ในหลายครั้งที่ผู้ใหญ่จะไม่ค่อยมีความเข้าใจอารมณ์หรือความรู้สึกนี้มากนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็มักมีความอายและแสดงออกให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ เมื่อต้องเผชิญกับผู้คนในสังคมใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ทุกคนจะรู้สึกสับสนหรือไม่เป็นตัวของตัวเองบ้าง ดังนั้นการที่เด็กจะมีความขี้อาย จึงถือได้ว่าปกติ และหากว่ากลปัญหานี้เกิดขึ้นกับลูกของคุณบ้างล่ะ ลูกขี้อาย จะทำอย่างไรดี เพราะความขี้อายนี้ก็อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสังคมหรือจำกัดการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ด้วย
ความขี้อาย เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกลไกการปรับตัว ที่จะช่วยให้คนเราสามารถเผชิญกับสิ่งเร้าทางสังคมใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยได้ ความขี้อายจึงเป็นความรู้สึกระหว่างกลัวแต่ก็สนใจ ตึงเครียดแต่ก็อ่อนไหว
advertisement
พ่อแม่อาจสังเกตลูกได้ว่ามีอาการดังนี้
– ลังเล รู้สึกไม่สบายใจ หรือยอมเป็นคนตามเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนอื่น
– หลบเลี่ยงที่จะเริ่มพูดคุย แสดงออก ไปงานรื่นเริง รับโทรศัพท์หรือสั่งอาหารตามร้านภัตตาคาร
– ไม่ค่อยสบตา หรือมักพูดเบาๆ พึมพำ
– คุยหรือเล่นกับเพื่อนน้อย
– แยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ไปเก็บตัวในห้องสมุดอย่างไม่มีความสุข (ไม่ใช่เพราะรักการอ่านจริง)
– ใส่ใจกับคำพูดคำวิจารณ์ต่างๆ อย่างมาก
นอกจากนี้ ผลตามมาของการที่เด็กกลัวสังคมมาก ๆ อาจทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียน( School refusal) โดยบอกว่าปวดหัว ปวดท้องบ่อย ๆ หรือ เด็กกลายเป็น “ ใบ้ ” ไม่พูดกับใครเลยนอกบ้าน แต่จะพูดเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยได้อย่างปกติ ( Selective mutism) ก็ได้ [ads]
ความขี้อายมีผลต่อพัฒนาการ
ความขี้อายของเด็กมักจะสัมพันธ์กับพัฒนาการตามวัย ความอายและหวาดกลัวต่อผู้ใหญที่แปลกหน้าเริ่มพัฒนามาตั้งแต่วัยทารก ส่วนพัฒนาการด้านตัวตนของเด็ก จะเริ่มเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ ความอายจะเริ่มมีผลทำให้รู้สึกอึดอัดใจได้ตั้งแต่อายุ 4 – 5 ปี และความเป็นตัวตนของตนเองนั้นจะสูงสุดในช่วงวัยรุ่นตอนต้น การเผชิญหน้ากับสังคมเป็นสาเหตุของสถานการณ์ที่ทำให้เด็กอายซึ่งพบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเด็กขี้อายรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในความสนใจ การที่ผู้ใหญ่ชอบจดจ้องพฤติกรรมเด็กจึงมักกระตุ้นให้เด็กยิ่งอายมากขึ้น
advertisement
แก้ปัญหาลูกขี้อาย
1. พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะเด็กๆ จะเรียนรู้พฤติกรรมและซึมซับบุคลิกและลักษณะนิสัยมาจากพ่อแม่ ลูกที่ขี้อายก็มักจะมีพ่อแม่ขี้อายเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ถ้าอยากให้ลูกกล้าแสดงออกให้มากขึ้น พ่อแม่ก็ควรแสดงออกให้มากขึ้นด้วย เช่นแสดงความเป็นมิตรพูดคุยทักทายยิ้มแย้มให้ผู้อื่นเสมอ เด็กก็จะมีพฤติกรรมการแสดงออกเช่นเดียวกัน
2. อย่าบังคับเด็ก ไม่ใช่แค่ไม่ชอบเท่านั้น เด็กเกลียดและกลัวการถูกบังคับมาก ควรใช้วิธีโน้มน้าวจิตใจ และให้เวลาเขารับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยความรู้สึกของเขาเอง โดยมีพ่อแม่คอยให้กําลังใจอยู่ข้างๆ
3. พาลูกไปพบปะญาติพี่น้องบ่อยๆ การพาลูกไปเยี่ยมญาติพี่น้องไม่ว่าจะเป็นญาติที่อยู่ในวัยเดียวกัน เช่น ลูกพี่ลูกน้อง หรือญาติสูงอายุ เช่น คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นตั้งแต่ยังเล็ก โดยจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการมีปฏิสัมพันธ์และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความกล้าแสดงออกและลดอาการขี้อายลงได้
4. สนับสนุนให้ลูกเข้าสังคมตั้งแต่ยังเล็ก พาลูกไปเข้าค่ายศิลปะ ค่ายกีฬา ค่ายดนตรี เพื่อให้ลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนการเปิดประตูสู่โลกกว้างให้กับเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีในการผูกมิตรและการเข้าสังคมกับผู้อื่น
5. เสริมสร้างความมั่นใจและภาคภูมิใจในตัวเอง เด็กขี้อายมักมีภาพลักษณ์ตัวเองที่ติดลบ และรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับ ควรส่งเสริมให้กล้าแสดงออกและรู้จักตัดสินใจด้วยตนเอง กระตุ้นความเป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรชมบ่อยๆ เมื่อเด็กกล้าแสดงออก [ads]
6. ให้สื่อมีสาระต่างๆ แก่ลูกบ้าง ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ เช่นชวนลูกดูและพูดคุยกับรายการจากช่อง Discovery หรือช่องที่ให้สาระอื่นๆ เป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้คุณทราบว่าลูกของคุณสนใจอะไร ไม่ว่าจะเล่นกีฬา ดนตรี ทำอาหาร วาดรูป หรืออะไรอย่างอื่น เมื่อได้รู้แล้วจะได้สนับสนุนให้ลูกได้ทำกิจกรรมนั้นได้เต็มที่ในภายหลัง
7. อย่าตำหนิลูก เด็กกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การทําเช่นนั้นจะทําให้เด็กเข็ดขยาดและอาจถึงขั้นหมดความภาคภูมิใจ และความมั่นใจในตัวเองไปเสียหมด เด็กอาจกลายเป็นคนซึมเศร้า และเก็บตัวไม่กล้าแสดงออกอีกต่อไป ยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์เด็กโดยไม่ระมัดระวังเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นการทําร้ายจิตใจเด็กอย่างรุนแรงมากเท่านั้น
8. รับรู้ และยอมรับในตัวเด็ก การที่พ่อแม่ไวต่อความรู้สึกของลูก จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์กับลูกได้ดีขึ้น และแสดงว่าคุณเคารพในความเป็นตัวเขา ซึ่งจะทำให้เขามั่นใจในตัวเองและกล้าแสดงออกมากขึ้น
9. พัฒนาทักษะทางสังคม ส่งเสริมให้เด็กเข้าสังคม มีนักจิตวิทยาผู้หนึ่งแนะนำให้สอนเด็กพูดบางประโยคเพื่อนำไปสู่การเข้าสังคม เช่น “ขอเล่นด้วยคนได้ไหม” และสอนเทคนิคการเล่นกับเพื่อน นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กที่เล็กกว่า อาจช่วยสร้างเสริมความมั่นใจให้เด็กขี้อายได้
10. เตรียมความพร้อมในการเข้าสังคมใหม่ๆ ให้แก่ลูก เนื่องจากการผลักดันให้เด็กเข้าไปไหนสถานการณ์ที่ไม่พร้อม กลับไม่ช่วยให้เด็กดีขึ้น เราจึงควรช่วยโดยการเตรียมให้เด็กรู้สึกมั่นคง และสนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคม
ที่สำคัญคือพ่อคุณแม่ควรให้เข้าใจลูกให้มากๆ นะคะ จำไว้ว่าความขี้อายไม่ใช่ความผิด ตราบใดที่เด็กไม่ได้เครียดมากจนเกินไป หรือไม่ยอมเข้าสังคมเลย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเด็กอย่างรุนแรง ไม่ใช้กำลังและการดุด่าทำร้ายร่างกายและจิตใจโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังมีแต่ส่งผลเสียมากกว่าเดิมเสียด้วย
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com