สาเหตุที่ลูกน้อยในท้อง..ขาดสารอาหาร?
advertisement
โภชนาการอาหารของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปจะส่งผลถึงลูกด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรเลือกกินอาหารที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายคุณแม่และลูกน้อยอย่างเหมาะสม รวมถึงสารอาหารที่ช่วยบำรุงและเสริมสร้างสมองของลูกในครรภ์ เพื่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ และในทางตรงกันข้าม หากว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทานอาหารที่มีประโยชน์นั้นน้อยเกินไป จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ เกิดปัญหาให้ลูกน้อยในท้องขาดสารอาหาร สุขภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ว่าที่คุณแม่คนใหม่จะต้องใส่ใจนะคะ อะไรที่เป็นสาเหตุที่ลูกน้อยในท้อง ..ขาดสารอาหาร? ตามมาดูกันค่ะ
ภาวะขาดสารอาหาร คือภาวะที่เกิดจากร่างกายไม่ได้รับวิตามิน เกลือแร่ หรือสารอาหารอื่นๆ อย่างเพียงพอต่อการทำงานของร่างกายที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติสุข อาจจะเกิดจากการรับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ มีปัญหาการย่อย การดูดซึมอาหาร หรือปัญหาทางการแพทย์อื่นๆ
อันตรายจากการที่แม่ท้องขาดอาหาร
ในกรณีที่แม่ขาดอาหาร ลูกในท้องมักจะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยมีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดสูง ทารกที่คลอดออกมาก็อาจมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ รกมีขนาดเล็กและเติบโตได้ไม่ดีพอ เมื่อรกทำหน้าที่ได้ไม่ดี โอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตในครรภ์ก็สูงขึ้น ทั้งนี้ช่วงปลายของการตั้งครรภ์ที่สมองและร่างกายของลูกกำลังพัฒนาเต็มที่นั้น หากลูกมีภาวะขาดอาหารก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของลูกได้
[ads]
สิ่งที่บ่งบอกได้ว่าลูกในท้องขาดอาหาร ได้จากข้อสังเกตเบื้องต้นของแพทย์ที่จะพิจารณา ได้แก่
– ขนาดท้องกับอายุครรภ์ว่ามีขนาดที่เหมาะสมหรือไม่
– น้ำหนักของแม่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
– แม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่
– ช่วงที่จะเริ่มสังเกตได้คืออายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งถ้าตรวจพบว่าลูกในท้องของคุณมีความเสี่ยงต่อการขาดอาหาร คุณหมอก็จะให้เพิ่มอาหารประเภทโปรตีน และมีข้อแนะนำเบื้องต้นในการดูแลตนเองสำหรับคุณแม่
สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ท้องขาดสารอาหาร
1. ขาดสารอาหารมาตั้งแต่ก่อนท้อง โดยมีร่างกายและสุขภาพไม่ดีนัก น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือกินอาหารได้น้อยกว่าปกติอยู่เสมอ
2. รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอ สาเหตุอาจเกิดได้มากมาย ไม่ว่าจะเพราะความยากจน อาหารมีราคาแพง การขาดแคลนอาหารในท้องถิ่น การแพ้ท้อง ท้องอืดแน่น หรือบางคนที่ไม่มีเวลาใส่ใจกับการเลือกรับประทาน
3. รับประทานอาหารอย่างไม่ถูกวิธี เช่น กินข้าวขัดขาวทำให้ขาดวิตามิน รับประทานอาหารไม่ครบหมู่ ไม่รับประทานผัก ผลไม้ เป็นต้น
4. มีโรคภัยไข้เจ็บ ความเจ็บป่วยเรื้องรัง ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ตกเลือดมาก โรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ โรคพยาธิลำไส้ แพ้อาหาร โรคตับ โรคไต โรคถุงน้ำดี โรคเบาหวาน โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคเรื้อรังอื่นๆ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด นอนบนเตียงในโรงพยาบาลนานๆ ได้รับการผ่าตัดอวัยวะภายใน
5. มีความเชื่อเรื่องการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น กลัวอ้วนหลังคลอด ไม่รับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพราะกลัวลูกจะโตคลอดยาก คนบางกลุ่มมีความเชื่อว่าหากกินไข่ เด็กที่คลอดออกมาจะลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น
6. คุณแม่ที่ทำงานหนัก และเครียดมากเกินไป หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็มักจะทำให้มีปัญหากับการกินน้อยกว่าปกติ
7. แม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 18 ปี เพราะร่างกายยังต้องการอาหารสำหรับการเจริญ เติบโตของตัวแม่เองมากกว่าปกติ
8. พฤติกรรมที่ไม่รักสุขภาพ การสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา รวมไปถึงเสพสารเสพติด ทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์
9. ดื่มน้ำน้อย น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกาย หากดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอก็เป็นเหตุให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารนั้นอย่างเพียงพอ
10. อาการแพ้มากเกินไป แม่ท้องบางคนมีอาการแพ้ท้องมากจนเกินไป ทานอะไรไม่ได้เลยทานแล้วก็อาเจียนออกมาหมด บางคนอาจถึงกระทั่งต้องรับสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือที่โรงพยาบาลก็เป็นได้
[yengo]
การดูแลตนเองไม่ให้ขาดสารอาหารระหว่างตั้งครรภ์
– อาหารหลัก 5 หมู่สำคัญที่สุด เน้นปริมาณอาหารอย่างเหมาะสมคือ โปรตีน และลดในส่วนของคาร์โบไฮเดรตลง ในอัตราส่วน 2 : 1 เลือกไขมันจากพืช
– ดื่มน้ำให้มากขึ้น
– หมั่นรับประทานผักและวิตามินให้มากยิ่งขึ้น วิตามินจากผักและธาตุเหล็กมีส่วนสำคัญเกี่ยวกับโลหิตของเด็ก
– ไม่ควรลืมทานอาหารที่ให้แคลเซียมซึ่งส่งผลต่อการพัฒนากระดูกของทารกในครรภ์อีกด้วย
การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่คุณแม่ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดนะคะ ไม่ใช่เพื่อตัวคุณเองเพียงคนเดียว เพราะยังมีอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องการความรักความเอาใจใส่ การดูแลที่ดี นั่นก็คือลูกรักของคุณนั่นเอง จำไว้ว่าอาหารที่เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้อ้วน อีกทั้งอาหารที่มีคุณค่านั้นก็หาได้ไม่ยาก และราคาไม่แพง เพียงแต่คุณแม่ต้องรู้จักเลือกรับประทานให้มากขึ้นนะคะ เป็นกำลังใจให้ว่าที่คุณแม่คนใหม่และลูกน้อยในครรภ์ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์นะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com