ว่านนางคำ..แก้พิษ ช่วยสมานแผล!!
advertisement
“ว่านนางคำ” เป็นพืชพรรณไม้ที่มีดอกที่สวยงาม โดดเด่น จึงนิยมใช้ปลูกไว้ประจำบ้าน เป็นไม้ประดับ และถือว่าเป็นพืชมงคลอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยเราเชื่อว่า จะทำให้ผู้ที่อาศัยในบ้านมีเสน่ห์ มีเมตตามหานิยม ช่วยปกป้องคุ้มครองผู้อยู่อาศัยให้อยู่เย็นเป็นสุข ช่วยให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ค่ะ “ว่านนางคำ” จัดเป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด และมีสารกลุ่ม Curcuminoids ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือใช้เป็นยาสมุนไพร เรียกได้ว่าเป็น “พญาว่าน” เลยทีเดียว เรามาดูกันค่ะ มีสรรพคุณดีๆ ที่น่าสนใจ อย่างไรบ้าง
สมุนไพรว่านนางคำ
ชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) : Wild Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma aromatica Salisb.
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ส่วนที่ใช้ : หัว ราก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ต้น – ต้นว่านนางคำ เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและหัวสีเหลืองอยู่ใต้ดิน มีลำต้นแทงขึ้นมาจากหัว หัวมีกลิ่นหอม แตกแขนงเป็นแง่งคล้ายขมิ้นชัน เนื้อในเมื่อหักดูจะมีสีเหลืองเข้มหรือสีทองดูสวยงาม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหัวไปปลูก
ใบ – ใบเป็นใบสีเขียว ออกเป็นกระจุกใกล้กับราก ประมาณ 5-7 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม ใต้ท้องใบมีขน ใบมีความกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 40-70 เซนติเมตร
ดอก – ออกดอกเป็นช่อเชิง มักมีดอกก่อนใบงอกจากเหง้า มีช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีใบประดับที่ปลายช่อมีสีชมพู ใบประดับที่รองรับมีดอกสีขาวแกมสีเขียว ปลายโค้งยาวได้ถึง 6 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีสีขาว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาวแกมชมพู แฉกกลางเป็นรูปไข่กว้าง แฉกข้างเป็นรูปขอบขนาน กลีบปากเป็นรูปโล่แยกเป็น 3 แฉก มีสีเหลืองเข้ม
ว่านนางคำ แบ่งออกได้ 3 ชนิดด้วยกัน มีสรรพคุณ และลักษณะของลำต้นจะแตกต่างกันออกไป ได้แก่
1) ว่านนางคำ ชนิดต้น ก้าน และครีบเป็นสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลือง ใบสีเขียวเรียว
: มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษในร่างกาย แก้ฟกช้ำบวม แก้พิษว่านอื่นๆ
2) ว่านนางคำ ชนิดต้นสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาว
: มีสรรพคุณช่วยแก้ฤทธิ์ว่านทั้งปวง
3) ว่านนางคำ ชนิดต้นเขียว กลางใบมีสีแดง เนื้อในหัวมีสีเหลืองเข้ม ใบมีขนาดใหญ่ และเป็นชนิดที่นิยมปลูกโดยทั่วไป
: หัวมีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนังต่างๆ แก้อาการปวด ช่วยขับลม แก้อาการฟกช้ำ ข้อเคล็ด ส่วนรากเป็นยาสมานแผล ยาขับเสมหะ แก้ท้องร่วง รักษาโรคหนองใน
หมายเหตุ : จะสังเกตได้ว่าหัวของว่านนางคำนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับขมิ้นชัน แตกต่างกันตรงที่กลิ่นของว่านนางคำจะมีกลิ่นหอมเย็นๆ เมื่อหักแล้วใช้ลิ้นแตะจะมีรสฝาด ส่วนกลิ่นของขมิ้นชันนั้นจะมีกลิ่นหอมแบบร้อนๆ และมีรสเผ็ดปร่า
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : หัว และ ราก
สรรพคุณทางยา :
หัวและราก – มีน้ำมันหอมระเหยที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ว่านนางคำมีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษต่างๆ ในร่างกาย แก้พิษจากว่านร้ายต่างๆ แก้ฤทธิ์ของว่านทั้งปวง ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผ่องใส แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
หัว – ช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย ขับลมในลำไส้ ลดกรดในกระเพาะ ช่วยแก้อาการปวดท้อง ถ่ายท้อง ช่วยแก้กามโรค ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย แก้อาการเม็ดผื่นคัน และโรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อ ฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาอาการข้อเคล็ด เคล็ดขัดยอก อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
ราก – ช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย ขับเสมหะ ช่วยแก้ลงท้อง หรืออาการท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง ช่วยรักษาโรคหนองในเรื้อรัง ยาสมานแผล
วิธีการนำว่านนางคำมาใช้เป็นยา :
1) ช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย ขับลมในลำไส้ ลดกรดในกระเพาะ ช่วยแก้อาการปวดท้อง ถ่ายท้อง ช่วยแก้กามโรค ช่วยแก้อาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย แก้อาการเม็ดผื่นคัน และโรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อ ฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ช่วยรักษาอาการข้อเคล็ด เคล็ดขัดยอก อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
วิธีการ – ด้วยการนำหัวมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำมาฝนผสมกับน้ำปูนใสกิน อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง หรืออีกวิธีหนึ่งคือกินหัวสดผสมกับเหล้าขาว
2) ช่วยควบคุมธาตุในร่างกาย ขับเสมหะ ช่วยแก้ลงท้อง หรืออาการท้องเสีย ท้องเดิน ท้องร่วง ช่วยรักษาโรคหนองในเรื้อรัง ยาสมานแผล
วิธีการ – นำรากของว่านนางคำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ด้วยสรรพคุณของว่านนางคำนี้ ทำให้มีการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ว่านนางคำผง หรือผงว่านนางคำมาส์กหน้า หรือทำเป็นโลชั่นบำรุงผิวว่านนางคำ ทำเป็นสบู่สมุนไพรว่านนางคำ ทำเป็นยากันยุง ฯลฯ เป็นต้น ดังนั้นแล้วหากว่าเราจะปลูกสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมายเช่นนี้ประจำบ้าน ก็จะเป็นการดีมากมายเลยทีเดียว จริงมั้ยคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com