10 เรื่องที่ต้องรู้..สำหรับรถใช้ก๊าซ
advertisement
ปัจจุบันมีผู้คนมากมายที่เลือกใช้พลังอื่นแทนการใช้น้ำมันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้ก๊าซแอลพีจี (Liquefied Petroleum Gas: LPG) หรือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พลังงานธรรมชาติประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม "ก๊าซหุงต้ม" นั่นเองค่ะ นับเป็นพลังงานทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันสำหรับรถยนต์ได้ เพราะมีราคาถูกมากกว่า แต่ด้วยมีคุณสมบัติเป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าน้ำแต่หนักกว่าอากาศจึงลอยอยู่ในระดับต่ำ มีการสะสมและลุกไหม้ได้ง่าย เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่าย ดังนั้นสำหรับผู้ขับขี่รถที่ใช้ก๊าซจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะได้ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อะไรที่ผู้ขับรถใช้ก๊าซควรรู้บ้าง ตาม Kaijeaw.com ไปดูกันค่ะ
advertisement
คุณสมบัติของก๊าซ
1) ราคาค่าก๊าซถูกกว่าน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ทั้งปัจจุบันและอนาคต
2) ก๊าซแอลพีจี ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างใด ทำให้การจุดระเบิดสะอาดหมดจด และยืดอายุการใช้งานได้
[ads]
3) ก๊าซแอลพีจี มีออกเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลให้การสตาร์ทและการทำงานของเครื่องยนต์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
4) ก๊าซแอลพีจี อยู่ในรูปของเหลว และมีความดันต่ำ ถังก๊าซแอลพีจีมีความหนาของผนังมากกว่าถังน้ำมันเบนซินมาก ทำให้โอกาสที่จะเกิดการระเบิดจากถังเนื่องจากการชนนั้นเป็นไปได้น้อย
5) ช่วยป้องกันปัญหาที่เรียกว่ารถกินน้ำมันเครื่อง เพราะการสึกหรอของชิ้นส่วนของรถที่ใช้ก๊าซมีน้อยกว่า
6) ยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์
7) เครื่องยนต์เดินได้ราบเรียบกว่าในรอบที่ต่ำกว่า ถ้าหากได้รับการติดตั้งอย่างถูกวิธี
ข้อควรรู้และระวังสำหรับการใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์
1. เรื่องการรั่วซึมเป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงควรจะต้องตรวจเช็คการรั่วซึมตามจุดต่างๆ อย่างน้อยปีละสองครั้ง โดยเฉพาะตรงส่วนท่อต่อนำก๊าซและข้อต่อ ตรวจดูว่ามีส่วนไหนรั่วซึมออกมาบ้าง และเมื่อใช้รถในทุกวันนั้น สามารถเช็คด้วยตนเองว่าได้กลิ่นก๊าซรั่วออกมาหรือไม่
2. คุณสมบัติของก๊าซหุงต้ม เป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ หากมีการรั่วซึมจะเกาะกลุ่มกันอยู่บนพื้นในระดับต่ำ ให้ระวังการใช้ความร้อนต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการระเบิดได้
3. ก่อนที่จะมีการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามในระบบก๊าซ จะต้องทำการปิดวาวล์ที่ถังก๊าซให้สนิทเสียก่อนทุกครั้ง
4. ระวังในการเติมก๊าซทุกครั้ง ไม่ควรเติมก๊าซมากจนเกินไป คือมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุของถัง และในการเติมก๊าซทุกครั้ง อาจจะมีการรั่วซึมออกมานิดหน่อยตรงหัวเติมก๊าซได้ ให้ระวังประกายไฟในขณะนั้น
[ads]
5. เช็คและตั้งบ่าวาล์ว เมื่อถึงช่วงระยะ 40,000 – 60,000 กม. เนื่องจากรถที่ใช้ก๊าซจะสึกหรอได้เร็วกว่าใช้น้ำมัน เพราะฉะนั้นควรมีการสลับใช้เชื้อเพลิงไปใช้น้ำมันบ้าง เพื่อให้มันไปเคลือบบ่าวาล์วและยืดระยะเวลาสึกหรอให้นานกว่าเดิม
6. รอบคอบในการจอดรถ การจอดรถหลังเลิกใช้งานเมื่อจอดรถในที่จอด เช่น โรงรถ ควรจะปิดวาวล์ที่ถังแก๊สทุกครั้ง ในส่วนของโรงจอดรถถ้าเป็นไปได้ควรจะเป็นที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเฉพาะในระดับพื้นดินต้องโล่งโปร่ง
7. LPG ต้องใช้ประกายไฟจากหัวเทียนเข้มข้นกว่าที่ใช้ในน้ำมันเบนซิน จึงต้องเลือกใช้หัวเทียนให้ถูกต้องกับค่าความร้อน และเปลี่ยนหัวเทียนใหม่ทุก 6 เดือน สาเหตุที่ต้องให้เปลี่ยนเพราะไม่ให้เกิดการจุดระเบิดผิดพลาด เพราะอุณหภูมิในห้องเผาไหม้นั้นสูง และลดการเกิดประกายไฟ แบคไฟร์ ลงด้วย และถ้าหัวเทียนเกิดความชำรุดเสียหายก็ควรเปลี่ยนทันที
8. ควรมีน้ำมันติดถังรถไว้ด้วยเสมอ หรืออย่างน้อยควรมีติดมีเติมไว้บ้างสัก 1 ใน 4 ส่วนของถังน้ำมัน เพื่อว่าเมื่อตอนเราสตาร์ทรถ ควรใช้น้ำมันก่อนการใช้ก๊าซ เพื่อป้องกันตัวระบบน้ำมันเสียหายและยึดอายุการสึกหรอของรถให้นานยิ่งขึ้น
9. การปรับระบบให้เหมาะสม ในรถรุ่นที่ต้องปรับตั้งลิ้นไอดีไอเสียแบบกลไก ก็จะต้องมีการปรับตั้งระยะห่างของลิ้นตามปกติอย่างเข้มงวด คุณสมบัติของก๊าซ LPG จะถูกเผาไหม้ช้ากว่าน้ำมันเบนซิน การปรับตั้งไฟจุดระเบิดจึงต้องปรับตั้งล่วงหน้าเพื่อจะเผาไหม้ได้หมดจด
10. ควรเช็คระบบระบายความร้อนเสมอ ระบบนี้ก็ต้องใส่ใจอย่างเข้มงวด เพราะระบบก๊าซมีความร้อนสูงกว่าการใช้น้ำมัน จึงต้องใส่ใจให้มันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นอย่าลืมเช็คหม้อน้ำเป็นประจำว่ามีน้ำพอไหม รั่วหรือไม่
สำหรับใครที่ต้องการใช้ก๊าซ ควรเลือกติดตั้งอุปกรณ์กับอู่ที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก และที่สำคัญต้องเรียนรู้การใช้งานรถใช้ก๊าซอย่างถี่ถ้วน และหมั่นตรวจสอบความปลอดภัยด้วยตัวเองตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยได้ทั้งตัวคุณเองและรถค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com