วิธีดูแลสุขภาพช่องปาก สำหรับคนจัดฟัน ที่ควรทราบ !!
advertisement
ปัจจุบันเราจะพบได้ว่าหลายๆ คนจัดฟันกัน โดยเฉพาะวัยรุ่น เพราะอยากมีฟันที่ดูสวย เรียงเป็นระเบียบ การจัดฟันเป็นการแก้ปัญหาฟันที่มีปัญหาแตกต่างกันไป เช่น ฟันเหยิน การสบฟันที่ไม่ดี ฟันเก ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สำหรับใครที่ต้องการจัดฟันหรือกำลังวางแผนในการจัดฟัน ตาม Kaijeaw.com มารู้เรื่องราวของการจัดฟัน และข้อควรรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการจัดฟันกันค่ะ
การจัดฟัน เป็นการรักษาเพื่อให้มีการสบฟันที่ดีขึ้น เพื่อการบดเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือกอันเนื่องมาจากความลำบากในการทำความสะอาดฟันและเหงือก ในบริเวณที่ฟันเรียงตัวผิดปกติ หลีกเลี่ยงการเกิดการสึกของฟันที่ผิดปกติจาการเรียงฟันหรือสบฟันที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังอาจช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพจากการที่มีฟันเรียงกันสวยงาม โดยการใช้เครื่องมือจัดฟันเพื่อเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม
การจัดฟันนั้นสามารถทำได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจการสบฟันจากทันตแพทย์ และรักษาทางด้านทันตกรรมจัดฟัน ที่สังเกตุพบปัญหาการสบฟัน การจัดฟันส่วนใหญ่มักเริ่มทำในเด็กมีฟันแท้ขึ้นเกือบครบ คืออายุประมาณ 11-13 ปี อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาการสบฟันบางอย่างสามารถทำในช่วงฟันผสม เพื่อลดความรุนแรงของปัญหาหรือเพื่อป้องกันการไม่ให้เกิดการพัฒนาไปเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงขึ้น เช่นการจัดฟันหน้าบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อ ฟันในกรณีที่ฟันหน้าบนยื่นมาก ๆ การจัดฟันในชุดฟันผสมมักเป็นการรักษาระยะสั้น และเป็นการจัดฟันบางส่วนเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะฟันแท้ ส่วนใหญ่จะจำเป็นต้องได้รับการจัดฟันทั้งปากต่อ ไป[ads]
advertisement
ข้อจำกัดในการจัดฟัน
การจัดฟัน ไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยทุกราย หรือแม้จะทำได้ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดเท่านั้น หากจัดฟัน หรือดัดฟันแล้วก็ไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ อย่างไรก็ตามก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ผู้รักษา โดยทั่วไปผู้ที่ไม่สามารถจัดฟันได้ ได้แก่
1. ผู้ที่เป็นโรคเหงือก หรือคนที่มีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรที่รองรับรากฟันไปมาก ผู้ที่มีลักษณะนี้ทันตแพทย์มักจะไม่สามารถเคลื่อนฟันได้มากนัก เนื่องจากกระดูกที่รองรับฟันมีน้อย
2. ผู้ที่สูญเสียฟันแท้ไปหลายซี่มากเกินไป ทำให้ไม่มีหลักยึดในการเคลื่อนที่ของฟัน โดยเฉพาะการสูญเสียฟันกรามไปหลายๆ ซี่ ดังนั้นการจัดฟันอาจต้องมีการฝังรากเทียมลงไป เพื่อใช้เป็นหลักยึดในการเคลื่อนที่ของฟันด้วย
3. ผู้ที่มีสะพานฟันติดต่อกันหลายๆ ซี่ เนื่องจากฟันที่เป็นสะพานฟันไม่สามารถเคลื่อนที่ให้ห่างจากกันได้ การจัดฟันอาจจะต้องมีการตัดสะพานฟันออกไปบางส่วน
4. ผู้ที่มีความผิดปกติที่ขากรรไกรซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องใช้การศัลยกรรมร่วมในการจัดฟันด้วย
ขั้นตอนก่อนการจัดฟัน
1. ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบฟัน เพื่อบันทึกรายละเอียด และตรวจสภาพการสบฟัน นอกจากนี้ จะมีการเอ็กซเรย์ฟัน เพื่อดูโครงสร้างใบหน้า และขากรรไกร
2. ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ว่าต้องรักษาฟันก่อนหรือไม่ เช่น ถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟัน โรคเหงือก ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องรักษาก่อนใส่เครื่องมือจัดฟัน เพื่อความแข็งแรง และการจัดฟันมีประสิทธิภาพ
3. รับคำแนะนำ ข้อควรปฏิบัติต่างๆ แเละตกลงเรื่องราคาค่าจัดฟันกับทันตแพทย์
4. ทันตแพทย์จะติดเครื่องมือจัดฟันให้ ในช่วงแรกๆ จะรู้สึกเจ็บบ้าง แต่อาการนี้จะค่อยๆ หายจนเป็นปกติดี ภายใน 1 – 2 สัปดาห์
การปฏิบัติตนขณะจัดฟัน
ระหว่างการจัดฟัน เป็นช่วงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องดูแลเป็นพิเศษกว่าตอนที่ไม่ได้จัดฟันเสียอีกค่ะ ควรปฏิบัติดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียวและกรอบทั้งหลาย เช่น ก้อนน้ำแข็ง ปลาหมึก ถั่ว ลูกอม ท๊อฟฟี่ หมากฝรั่ง ใช้ฟันปอกเปลือกผลไม้ ฉีกถุงขนม เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้
2. การรับประทานผักผลไม้ ควรตัดแบ่งชิ้นเล็กพอคำ และเคี้ยวด้วยฟันกรามข้างหลัง ควรเลือกรับประทานของอ่อนๆ เพื่อสะดวกในการเคี้ยว
3. ในระยะแรกของการจัดฟันมักจะเจ็บฟันและอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงในสัปดาห์ที่ 2 การลดการระคายเคืองโดยนำขี้ผึ้งที่ได้รับจากทันตแพทย์ทาปิดทับบริเวณที่ แหลมคมและการดื่มน้ำให้มาก จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น
4. ถ้ามีลวดเส้นเล็กๆ งอมาแทงริมฝีปากหรือแก้ม ให้ใช้ของไม่มีคม เช่น ยางลบปลายดินสอเช็ดแอลกอฮอล์ กดปลายลวดเข้าไป
5. ควรใช้แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ เพราะฟันที่ถูกติดเครื่องมือแล้ว จะทำความสะอาดยากกว่าเดิม เนื่องจากเศษอาหารจะเข้าไปติดตามร่องต่างๆ ได้ง่าย
6. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อลดการเกิดฟันผุในระหว่างการจัดฟัน
7. ในระหว่างการจัดฟันควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ทำความสะอาดฟันและตรวจฟันผุทุกๆ 6 เดือน
8. มาตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้ฟันเข้ารูปได้ดีและง่ายขึ้น อาจมีการเปลี่ยนเครื่องมือหรืออุปกรณ์บางอย่าง [ads]
advertisement
การใส่รีเทนเนอร์หลังการจัดฟัน
เพื่อคงความเรียบสวยของฟัน ทำได้ด้วยใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์ (Retainer) ฟันที่เคลื่อนไปสู่ตำแหน่งใหม่จะเลื่อนคืนได้ง่ายเมื่อถอดเครื่องมือจัดฟันใหม่ๆ เพราะสภาพกระดูกและเหงือกหุ้มฟันต้องใช้เวลาในการปรับสภาพเข้ากับตำแหน่งใหม่
– ดังนั้นหลังถอดเครื่องมือจัดฟันใหม่ๆ ควรใส่ Retainer ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาทานอาหารหรือแปรงฟัน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ หลังจากที่เหงือกปรับสภาพกับตำแหน่งฟันใหม่แล้ว ซึ่งระยะเวลาจะแตกต่างกันในแต่ละคน ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีค่อยๆ ลดเวลาใส่ Retainer อย่าลดเวลาใส่เองเป็นอันขาด การใส่ Retainer ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ฟันเลื่อนกลับและ Retainer แน่นเมื่อใส่ หากฟันเลื่อนกลับไปมาก จะใส่ Retainer ไม่ลงที่ ต้องทำ Retainer ใหม่ หรือจัดฟันใหม่
– เมื่อใส่ในช่วงแรกๆ จะมีน้ำลายออกมาก และพูดไม่ถนัด เป็นอาการปกติและ จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อใส่สม่ำเสมอ
– ไม่เล่น Retainer ในปาก หรือดัน Retainer ให้หลุดด้วยลิ้น เพราะจะทำให้ Retainer หลวม
– การทำความสะอาด Retainer ใช้แปรงสีฟันธรรมดาแปรงด้วยยาสีฟันเบาๆ หรือใช้ยาเม็ดฟู่สำหรับทำความสะอาดฟันปลอมแช่ไว้ขณะทานอาหารที่บ้าน
– ไม่วาง Retainer ไว้ในที่ที่สัตว์เลี้ยง หรือเด็กเล็กหยิบถึง ถ้า Retainer หายหรือชำรุด แจ้งทันตแพทย์ทันที
การดูแลรักษาที่ครอบฟัน
ที่ครอบฟันหรือรีเทนเนอร์ (Retainer) ส่วนใหญ่ต้องเอาที่ครอบฟันออกเวลาทานข้าว แปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะวางครอบฟันไว้ในที่ที่ไม่ควรวาง แล้วเกิดปัญหาลืม ทำให้ต้องเสียเงินซื้อที่ครอบฟันอันใหม่ ทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้ก็คือ พกกล่องใส่ที่ครอบฟันติดตัว ในยามที่คุณไม่ต้องการใส่ที่ครอบฟัน การป้องกันที่เพิ่มขึ้นไปอีก ก็คือ ไม่วางกล่องใส่ที่ครอบฟันไว้ที่โต๊ะ หรือม้านั่ง ควรเก็บกล่องใส่ที่ครอบฟันไว้ในกระเป๋าทันที เขียนชื่อและเบอร์โทรติดต่อติดไว้ กรณีมีผู้เก็บ Retainer ที่หายไปได้
จุดมุ่งหมายของการดัดฟันหรือการจัดฟันก็เพื่อผลที่ดีต่อสุขภาพฟันนะคะ แต่ปัจจุบันการจัดฟันสำหรับหลายคนเป็นเหมือนแฟชั่นกระแสนิยมซะมากกว่า ซึ่งอาจจะละเลยต่อข้อควรปฏิบัติในการดูแลฟันและเครื่องมือจัดฟันที่ดีพอ ส่งผลให้มีผลข้างเคียงในระหว่างทำการจัดฟันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฟันผุ เหงือกอักเสบ อาการแพ้สาร ฯลฯ ดังนั้นหากคิดจะทำการจัดฟันก็ควรจะคำนึงถึงสุขภาพฟันที่ดีมากกว่าแฟชั่นด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้นนอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันและช่องปากได้ค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com