ดูแลสุขภาพอย่างไร..รับมือหน้าฝน
advertisement
ย่างเข้าสู่หน้าฝนแล้ว อากาศก็มักจะแปรเปลี่ยนได้ง่าย เดี๋ยวร้อนบ้าง อบอ้าว แล้วก็มีฝนตกอยู่บ่อยๆ นะคะ เดี่ยวตกแรงตกหนัก เดี๋ยวฝนพรำๆ ปรอยๆ ทั้งวัน พอให้หงุดหงิดรำคาญใจ อีกทั้งเมื่อเวลาฝนตกก็มักนำมาซึ่งความชื้น ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและเกิดความไม่สมดุล จึงมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น อาการหวัด เจ็บคอ เป็นหวัด ตัวร้อน มีน้ำมูกไหลตลอดเวลา หรือผื่นแพ้ผิวหนัง รวมไปถึงโรคระบาดที่มาพร้อมหน้าฝนด้วย โดยเฉพาะคนชรา เด็กเล็ก ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ก็มักจะป่วยได้ง่ายๆ มีอาการเรื้อรังไม่หายเสียที เช่นนี้แล้วไม่ดีแน่ค่ะ ดังนั้น Kaijeaw.com จึงมีวิธีการดูแลสุขภาพอย่างไร..รับมือหน้าฝน มาฝากกันค่ะ
advertisement
1. อาบน้ำสระผมทันทีที่ถูกฝน
เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากไม่ให้โดนฝน หรือลุยน้ำขัง เพราะฉะนั้นเมื่อเนื้อตัวเปียกแล้ว อย่าลืมที่จะทำความสะอาดร่างกายด้วยการอาบน้ำทันทีเมื่อกลับถึงบ้าน หากศรีษะโดนละอองฝน เส้นผมเปียกฝนก็ต้องรีบสระผมแล้วเป่าให้แห้งในทันทีเลยนะคะ เพื่อจะได้ชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกายที่ติดตัวเรามาจากข้างนอก ป้องกันความเปียกชื้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากโรคภัยความเจ็บป่วยได้ค่ะ
2. รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
ใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นพอเหมาะ ดื่มน้ำอุ่นปรับอุณหภูมิร่างกาย อาจจะดื่มจำพวกสมุนไพร ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย ควรอยู่ในที่อบอุ่นไม่เย็นจนเกินไป ปรับอุณหภูมิห้องให้พอเหมาะ เพราะหน้าฝนนั้น ทำให้มีอากาศที่เย็นและชื้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ร่างกายของคนเราจะอ่อนแอต่ออากาศเย็น ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง [ads]
3. เสริมวิตามินซี
นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ต้องเสริมวิตามินซีด้วย เพื่อป้องกันหวัดและภูมิแพ้ที่มักเกิดได้ง่าย วิตามินซีพบมากใน ผักและผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว หากแน่ใจว่าไม่สามารถเสริมวิตามินซีได้อย่างพอเพียง สามารถเลือกทานชนิดอาหารเสริมโดยปรึกษากับเภสัชกรค่ะ
4. ออกกำลังกาย
หน้าฝนมักจะไม่ค่อยเสียเหงื่อ เพราะอากาศชื้น ควรออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ขับของเสีย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายวิธีหนึ่งด้วย โดยเลือกที่จะออกกำลังกายในร่ม และควรเป็นสถานที่ ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ช่วงเวลาที่ดีในการออกกำลังกาย คือ ช่วงเช้า เพราะร่างกายเพิ่งผ่านการพักผ่อนมา และในยามเช้าอากาศก็ดีไม่ร้อนอบอ้าว
5. ดื่มน้ำให้พอเพียง
เพราะสมองคนเราต้องการน้ำ 75% และร่างกายมีน้ำ 3 ใน 4 ของร่างกาย หากเรางดการดื่มน้ำ ร่างกายจะขาดน้ำ สังเกตง่ายๆ ว่าร่างกายขาดน้ำจะส่งผลให้ลิ้นแห้ง ริมฝีปากแห้ง การดื่มน้ำที่ดีไม่ใช่การดื่มน้ำครั้งละมากๆ หรือหมดแก้ว แต่การดื่มน้ำที่ดีคือ การดื่มเรื่อยๆ ดื่มบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 1.5 ลิตร เพื่อให้สมดุลของอุณหภูมิในร่างกายคงที่ จะช่วยทำให้โอกาสการติดเชื้อลดลงได้อีกด้วย
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ควรนอนอย่างน้อยวันละ 6 – 7 ชั่วโมง เพราะร่างกายต้องการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จึงไม่ควรนอนดึกซึ่งจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลง ถ้านอนหลับยากให้หาสาเหตุ เช่น ห้องนอนอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เตียงนอนแข็งหรือนุ่มเกินไป ชุดนอนที่สวมใส่นั้นไม่สบายตัวก็เป็นได้ ที่สำคัญอีกอย่างคือ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะมีสารตกค้างในร่างกายทำให้เรานอนไม่หลับนั่นเอง เพราะฉะนั้น เราควรปรับเปลี่ยนปัจจัยที่ทำให้เรานอนไม่หลับ เพื่อเราจะได้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ในทุกๆ คืนค่ะ
7. ป้องกันโรคที่จะเกิดกับเท้า
เพราะน้ำที่กักขังไม่ระบายออกตามท่อระบายน้ำ ผสมกับฝุ่น และเศษขยะ หากเกิดว่าเราต้องลุยผ่านน้ำที่ท่วมขังนี้ ก็จะเกิดโรคกับเท้าได้ เช่น โรคเชื้อราที่เล็บเท้า โรคน้ำกัดเท้า ทางที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยง แต่หากจำเป็น ควรทำความสะอาดเท้าโดยการล้างเท้าด้วยน้ำสบู่ที่ช่วยฆ่าเชื้อโรคให้สะอาด แล้วเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง และสมุนไพรที่อยู่ในครัวเรือนที่เราสามารถนำมาป้องกันเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เท้าได้ เช่น มะกรูดนำมาผ่าซีกแล้วขัดล้างเท้าให้สะอาดทุกซอกทุกมุม หรือจะเอาใบมะกรูดนำมาฉีกเป็นใบ ตะไคร้ บุแล้วหั่นเป็นท่อน ขิง นำมาบุพอแตก นำทั้ง 3 อย่างนี้ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้เดือด 10 นาที จากนั้นนำมาผสมน้ำธรรมดาให้อุ่นๆ แช่เท้าสัก 10 นาที นอกจากช่วยป้องกันการเกิดเชื้อแบคทีเรีย ยังช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าได้อีกด้วย [ads]
8. สุขนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร
เพราะโรคอาจมากับอาหารและน้ำได้ เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่ประกอบร้อน และสุก ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังรับประทานอาหารทุกครั้งด้วย
9. รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยอาศัย
ฝนตกทำให้เกิดความชื้นได้ง่าย ความชื้นเป็นสาเหตุของเชื้อรา ตัวก่อโรค ดังนั้นจึงควรหมั่นรักษาความสะอาดของบ้าน รวมถึงที่ทำงาน หากพบว่ามีการก่อตัวของเชื้อราบริเวณใดควรรีบกำจัดออก ด้วยการขัดล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทั้งนี้หากว่าเกิดเชื้อรากับเครื่องนอน ควรเก็บไปทิ้งและเปลี่ยนใหม่โดยทันที และไม่ควรอยู่ในที่อึดอัด เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรอยู่ที่อากาศแห้งและถ่ายเทสะดวก เปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ
10. อย่าให้ยุงกัด
พอเข้าสู่ช่วงหน้าฝน โรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น “โรคไข้เลือดออก” ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ โดยมักจะเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำขัง ต่างๆ นอกจากโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังมีโรคเท้าช้าง ไข้สมองอักเสบ มาลาเรีย และอื่นๆ ในช่วงนี้ จึงควรระวังอย่าให้ยุงกัดโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ที่พ่อแม่ควรเอาใจใส่หาวิธีป้องกันไม่ให้ยุงกัดลูก
นอกจากเตรียมความพร้อมของร่างกายแล้ว ก็ควรเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจด้วยนะคะ พยายามลดความเครียด ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ มีสติด้วยการทำสมาธิ เพื่อจะสามารถรับมือกับทุกสภาวะของการเปลี่ยนแปลงค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com