“ส้มซ่า” และ “ส้มสา”

advertisement
ส้ม ถือเป็นไม้มงคลที่คนไทยเชื้อสายจีนเขานิยมกัน ข้ามปีใหม่อีกไม่กี่วันก็ตรุษจีน-ปีใหม่ของชาวจีน จึงขอแนะนำหรือไขข้อข้องใจ ส้มซ่า และ ส้มสา สมุนไพร 2 ชนิดที่คนมักสับสน
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่คิดว่า "ส้มซ่า" และ "ส้มสา" คือพืชชนิดเดียวกัน
ในทางวิชาการ ส้มทั้งสองชนิดเป็นพืชที่อยู่คนละวงศ์ ส้มซ่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus auruntium L.var.aurantium หรือในปัจจุบันใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus aurantium L. (เครื่องหมาย x แสดงให้เห็นว่าพืชชนิดนี้มีการคัดสายพันธุ์ขึ้นมาแล้วนำมาปลูก) ส้มซ่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับส้มเกลี้ยง เป็นกลุ่มที่มีการคัดสายพันธุ์เพื่อนำมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ สำหรับ ส้มสา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myrica esculenta Buch.-Ham ex D.Don อยู่ในวงศ์เอี้ยบ๊วย (Myricaceae)
advertisement

ส้มซ่า มีชื่อสามัญทางราชการว่า "ส้มเกลี้ยง" มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Bouquetier, Sour orange, Bitter orange, Seville orange, Bigarade มีรายงานว่าส้มซ่าอาจมีแหล่งกำเนิดมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและพื้นที่ที่ติดกับพม่าและจีน แล้วแพร่กระจายไปทางตะวันออกเฉียงเหนือยัง ญี่ปุ่น และทางตะวันตกผ่านอินเดียไปยังตะวัน ออกกลาง แล้วต่อไปยังยุโรป มีการกระจายอย่างรวดเร็วในเขตเมดิเตอร์ เรเนียนหลายพันปีมาแล้ว จึงว่าพบปลูกอย่างแพร่หลายในสเปน เรียก Seville orange ปัจจุบันมีการปลูกทั่วไปทั้งในเขตร้อน และกึ่งร้อน แต่พบน้อยในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส้มซ่าชอบขึ้นในที่มีภูมิอากาศอบอุ่น แต่ทนต่ออากาศร้อนได้ถ้าดินมีความชื้นพอ ไม่ทนต่อสภาพอากาศเย็น เกิดโรคได้ง่าย ถ้าสภาพภูมิอากาศเหมาะสมสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ส้มซ่าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-10 เมตร ทรงพุ่มกลม มีกิ่งก้านมาก มีหนามยาวตามลำต้น ใบมีจุดต่อมน้ำมันมาก ใบหนาเป็นมัน โคนใบสอบหรือมน ปลายมนถึงปลายทู่ มีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมเมื่อขยี้ ก้านใบมีปีก ดอกสีขาว เป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มดอกออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลกลม ขนาดใกล้เคียงกับผลมะนาว เปลือกหนา เปลือกนอกเป็นสีเขียวอมน้ำตาล เปลือกตุ่มขรุขระ เนื้อในเป็นกรด มีรสขม เล็กน้อย เมล็ดมีจำนวนมาก เนื้อในคล้ายส้มโอ รสเปรี้ยวอมหวาน
advertisement

ส้มซ่ามีการใช้ประโยชน์โดยใช้ผิวแต่งกลิ่นทะเลอาหาร เช่น หมี่กรอบ ปลาแนม น้ำคั้นจากผล ใช้ปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร ใช้เป็นยาแก้ไอ กัดเสมหะ ใช้เป็นน้ำกระสายยา ในตำรายาจีนเรียก จื๋อเบอ (ภาษาจีนกลาง) หรือจี๋ปัก (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ใช้เป็นยาเจริญอาหาร เปลือกผล รสปร่าหอมใช้ทำยาหอมแก้ลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ น้ำในลูก รสเปรี้ยวอมหวาน กัดฟอก เสมหะ แก้ไอ ฟอกโลหิต ใบ รักษาโรคผิวหนัง
สำหรับ ส้มสา ชื่อวิทยาศาสตร์ : Myrica esculenta Buch.-Ham ex D.Don สมุนไพรชนิดนี้ในประเทศไทยพบอยู่ในพื้นที่เป็นภูเขาเท่านั้น จากชื่อท้องถิ่นดูเหมือนว่ามีการกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ตุด เม็ดชุนตัวผู้ (พังงา) ถั่ว ฤาษีเสก หว้าโละ (ชัยนาท) ส้มสา ส้มส้าอินสัมปัดถา (เลย) เส่ข่อโผ่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) หม่อนอ่อน (เงี้ยว เชียงใหม่) เอี๊ยบ๊อย (จีน)
advertisement

ส้มสามีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Bayberry, Box myrtle มีรายงานว่าเป็นพืชพื้นเมืองในแถบหุบเขาของเนปาล และพื้นที่สูงของอินเดียโดยเฉพาะรัฐปัญจาบ พบในเอเชียใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือของกว่างตงและกวางสี ทางตอนใต้และตะวันตกของกุยโจวและทางตอนใต้ของเสฉวนและยูนนาน ของประเทศจีน คาบสมุทรอินโดจีน คาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบในภูฏาน อินเดีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม
ส้มสาเจริญเติบโตได้ดีในป่าเบญจพรรณ ที่อยู่บนภูเขาที่สูง 300-2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 4-10 เมตร เป็นพืชที่ไม่ผลัดใบ มีการแตกกิ่งจำนวนมากหรือลำต้นสั้นและคดงอ เปลือกลำต้นอ่อน สีเทาหรือสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยแตกตามยาว เปลือกชั้นในสีแดงอมส้ม มีรสขม แผ่นใบเป็นรูปรี แคบ หรือเป็นรูปหอก ใบอ่อนมีขนสีออกชมพู ใบแก่เหนียว สีเขียวเป็นมัน มีจุดน้ำยางเหนียวกระจายทั่วผิว ดอกขนาดเล็กมาก เป็นช่อแน่น ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ดอกตัวผู้สีแดง ดอกตัวเมียสีเขียว
advertisement

[ads]
ข้อมูลจากการแพทย์อายุรเวท ยังจำแนกว่าส้มสามี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีดอกสีขาวและดอกสีแดง ผลมีเนื้อนุ่ม ผิวมีตุ่มเล็กๆ ขรุขระเมื่อสุกมีสีแดง ผลรสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้หรือใช้ทำน้ำผลไม้ได้เช่นกัน ในจีนใช้เปลือกไม้เป็นแหล่งของแทนนินในการฟอกหนัง น้ำต้มเปลือกแก้ท้องเสีย หลอดลมอักเสบและลำไส้อักเสบ เปลือกใช้เป็นยาสมาน ป้องกันแผลเน่า รักษาโรคบิด รูมาติก ท้องร่วง ใช้เบื่อปลา ทำฟืน ไขที่หุ้มผลแยกออกได้โดยการต้ม ใช้ทำเทียนและสบู่ ในเปลือกมีสารสีเหลืองจำพวก myrisetin, myricitrin และ glycoside ใช้ทำสีย้อมผ้าโดยย้อมผ้าฝ้ายได้สีเหลืองอมน้ำตาล
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ส้มซ่าและส้มสา เป็นพืชที่ควรแก่การศึกษาและพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ในสังคมให้กว้างขวางต่อไป
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : thaihealth.or.th, เรื่องโดย : saowalak pisitpaiboon, โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย, แหล่งที่มาจาก : มติชนสุดสัปดาห์