แพทย์ย้ำ “รู้เร็ว รักษาทัน” ห่างไกลอัมพฤกษ์ อัมพาต
advertisement
กรมการแพทย์แนะหลัก “F.A.S.T.” ช่วยห่างไกลโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ชี้หากพบอาการพูดไม่ชัด พูดไม่ได้หรือฟังไม่รู้เรื่อง แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก ทรงตัวลำบาก ที่มีอาการแบบทันทีทันใด ต้องรีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หรือโดยเร็วที่สุด
นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือชา ที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ถือเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามสาเหตุของการเกิด คือโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันพบประมาณร้อยละ 70–75 ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากการหนาตัวจนเกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและควบคุมได้ไม่ดี เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดในหัวใจและหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตก ถึงแม้จะพบน้อยกว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบ แต่มีความรุนแรงมากกว่า โดยพบโรคหลอดเลือดสมองแตกประมาณร้อยละ 25-30 อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือด และตำแหน่งที่ลิ่มเลือดอยู่ โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี หรือในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของผนังหลอดเลือดทำให้มีหลอดเลือดโป่งพองจนเกิดการแตก เมื่อมีเลือดออกในสมอง จะทำให้เกิดการกดเบียดเนื้อสมองข้างเคียง หรือทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับอาการเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แต่อาจจะมีอาการมากกว่า ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนพุ่ง ความรู้สึกตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากรักษาช้า อัตราความพิการหรือเสียชีวิตก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น[ads]
advertisement
นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ[ads]
advertisement
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และสังเกตอาการโดยใช้วิธีการจดจำอย่างง่ายจากอักษรย่อ “F.A.S.T.” ซึ่ง F = Face มุมปากตกหนึ่งข้างเวลาอยุ่เฉยๆหรือเวลายิ้ม A = Arms ยกแขนไม่ขึ้นหรืออ่อนแรง 1 ข้าง S = Speech ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้หรือฟังไม่รู้เรื่อง T = time ผู้มีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาลภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งหรือโดยเร็วที่สุด เพราะการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงของความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นและรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ได้ ทั้งนี้ หากมีอาการดังกล่าวสามารถโทรสายด่วน 1669 ให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ นอกจากนี้ ควรบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งด/ลดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และการตรวจสุขภาพประจำปี
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข