8 ข้อปฏิบัติ..ห่างไกลโรคข้อเข่าเสื่อม!!
advertisement
โรคข้อเข่าเสื่อมที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเกิดได้เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย เพราะในปัจจุบันพบว่ากลุ่มวัยกลางคนขึ้นไปก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ สังเกตได้ว่าจะมีอาการปวดในข้อเข่าบริเวณรอบๆ ลูกสะบ้าหรือในข้อพับเข่ามีเสียงดังเวลาขยับเคลื่อนไหวข้อ มีอาการฝืดหรือคล้ายข้อยึด กระดูกอ่อนของเข่ามีการเสื่อมสภาพ ทำให้กระดูกอ่อนนั้นไม่สามารถรองรับน้ำหนัก ในรายที่เป็นรุนแรงจะเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถ ยืน เดิน นั่ง หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ นับว่าเป็นโรคที่สร้างปัญหาได้ไม่น้อย ทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันตนจากโรคข้อเข่าและจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ตาม Kaijeaw.com มาค่ะ
โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากการ สึกกร่อนของผิวกระดูกข้อเข่า ที่เกิดความเสื่อมตามวัย และจากการใช้งานหนัก ทำให้เกิดการเสียดสี และถลอกของผิวกระดูก เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และเดินลำบาก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพ และรักษา ซึ่งแพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด
[ads]
1. ควบคุมน้ำหนักให้พอดี
การที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วนมากเท่าไหร่ มีผลทำให้ข้อต่างๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น โดยเฉพาะข้อเข่า สะโพก และ หลัง ที่เป็นกำลังหลักในการรับน้ำหนักของร่างกาย เช่นนี้แล้วจึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี รวมถึงไม่ผอมจนเกินไปด้วย
2. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิค ที่ช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยง เกิดอันตรายต่อข้อกระดูก ก็ควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน หรือปั่นจักรยาน (ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง)
3. อยู่ในอิริยาบถที่ถูกต้องเหมาะสม
อิริยาบทที่ผิดท่า ไม่ว่าจะชอบนั่งยองๆ นั่งกับพื้น ผุดลุกผุดนั่งบ่อยๆ หรือการขึ้นบันไดเป็นประจำ เหล่านี้ก็ทำให้ข้อเข่าเสียได้ บางคนชอบยืนทิ้งน้ำหนักข้างเดียวก็ทำให้ข้อข้างนั้นต้องทำงานหนัก จึงควรลงน้ำหนักทั้งสองขาเท่าๆ กัน การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอวเช่นกัน ควรนั่งในท่าที่ถูกต้อง โดยนั่งหลังตรง นั่งพิงพนักเก้าอี้ ไม่ควรก้มคอนานๆ และทางที่ดี ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินขยับตัวบ้าง ยืดแขนยืดขาเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ
4. เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ บริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แต่ก็ระวังไม่ออกกำลังกายที่หนักเกินไป เลือกกีฬาที่ปลอดภัยกับข้อกระดูก การป้องกันโรคข้อเสื่อมจากการออกกำลังกาย สามารถทำได้โดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยแบกรับน้ำหนักของข้อต่อ เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อ ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออกกำลังแทบทุกประเภท นอกจากนี้การมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดีจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระน้อยลง ซึ่งลดความเสี่ยงต่อความเสื่อมได้มาก ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มออกกำลังฝึกกล้ามเนื้อใดๆ ควรอยู่ภายใต้การแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและได้ผลดี
5. อาหารและยา
การรับประทานยาจำพวก กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน มีส่วนช่วยการเสริมสร้างน้ำไขข้อและกระดูกอ่อนเคลือบผิวข้อได้ แต่ไม่ยืนยันว่าได้ประโยชน์มากเท่าใด และต้องใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อกระดูก โดยเฉพาะสเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อนั้น ถ้าใช้บ่อยๆ ก็ทำให้ข้อเสียได้ แต่ถ้าเป็นสเตียรอยด์แบบรับประทานก็จะไม่มีผลต่อข้อ แต่มีผลต่อกระดูกโดยรวมเพราะจะทำให้กระดูกบางลงได้
6. ลดการใช้เข่าหนัก
ลดการใช้เข่าที่เกินความจำเป็น เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ คุกเข่า นั่งขัดสมาธิ หลีกเลี่ยงการเดิน ขึ้น-ลงบันได หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ลงแรงกระแทกมากๆ และใช้ข้อหนัก
7. สวมใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ
ที่รองรับน้ำหนักที่ดี ลดแรงกระแทก โดยเฉพาะการเล่นกีฬาควรมีการใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมสวมใส่รองเท้ากีฬาทุกครั้ง
8. บริหารข้อเข่าให้แข็งแรง
แนะนำท่ากายบริหารสำหรับข้อเข่าเสื่อม เริ่มจากนั่งหลังพิงเก้าอี้แบบสบายๆ จากนั้นก็ยืดขาไปข้างหน้ากระดกปลายเท้าขึ้นแล้วเกร็งไว้ จากนั้นขยับลงทำข้างละ 10 ครั้ง และหลังจากที่กล้ามเนื้อคุ้นชินกับท่านี้แล้ว สามารถเพิ่มน้ำหนักที่ข้อเท้าด้วยถุงทราย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น
[yengo]
แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
– ในกรณีที่อาการปวดข้อเข่าไม่รุนแรง คุณควรลดกิจกรรมในชีวิตประจำวันลง พักผ่อนให้มากขึ้น ใช้ข้ออย่างระมัดระวัง และรับประทานยาตามกำหนด ร่วมกับการประคบอุ่น ประคบร้อน
– ใช้ยาระงับปวดอย่างพาราเซตามอลหรือยาบำรุงกระดูกอ่อน เช่น กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน ร่วมด้วย หากไม่ได้ผลแพทย์อาจสั่งยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน แต่แพทย์จะไม่แนะนำให้รับประทานยาแก้อักเสบเป็นระยะเวลานานๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างแผลในกระเพาะอาหาร หรืออาจมีปัญหาต่อการทำงานของไต
– การรักษาเมื่อมีอาการมาก หากผู้ป่วยมีอาการข้อเสื่อมอย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน
โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจึงไม่ใช่โรคไกลตัวเลยนะคะ อวัยวะทุกส่วนมีความเสื่อมเมื่ออายุเราเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือการหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่ ออกกำลังกายให้แข็งแรงทุกสัดส่วนในร่างกาย และอย่าลืมอวัยวะที่สำคัญอย่างข้อเข่าด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com