ฟอร์มาลีน..อันตรายใกล้ตัวภัยเงียบทำลายสุขภาพ!!
advertisement
ทุกคนรู้ดีว่าผักผลไม้ทุกอย่างมีประโยชน์มากมายนะคะ ด้วยสารอาหาร วิตามินต่างๆ ที่ช่วยบำรุง ป้องกัน และรักษาโรคภัยต่างๆ ให้แก่ร่างกาย มีผลดีต่อระบบการขับถ่าย ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และสาวๆ ก็ชื่นชอบการทานผลไม้เป็นพิเศษเพื่อให้ผิวสวย แต่ผักผลไม้หากกินไม่ระวังก็จะเกิดโทษได้อย่างมหันต์ สาเหตุมาในรูปแบบภัยแฝงที่เราไม่รู้ตัว นั่นก็คือสารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อนในผักและผลไม้นั้น ไม่ว่าจะเกิดจากกระบวนการเพาะปลูกและการเก็บรักษา หนึ่งในสารเคมีเหล่านั้นก็คือ “ฟอร์มาลีน” สารเคมีที่การแพทย์นั้นใช้ในการดองหรือฉีดศพไม่ให้เน่าเปื่อย!! โดยพบว่ามีการใช้สารฟอร์มาลีนกับอาหารจำพวกผักและผลไม้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและทำลายสุขภาพ!!
ฟอร์มาลิน คือ
ฟอร์มาลิน เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งมีพิษ ประกอบด้วยก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ละลายน้ำด้วยความเข้มข้นร้อยละ 37 โดยน้ำหนัก และมีเมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) ประมาณร้อยละ 10-15 เป็นองค์ประกอบด้วย ลักษณะเป็นน้ำใส มีกลิ่นฉุน แสบจมูกและตา ใช้เป็นน้ำยาทำลายเชื้อโรค
การใช้ฟอร์มาลิน
– ในทาง การแพทย์นั้นใช้ในการดองหรือฉีดศพไม่ให้เน่าเปื่อย ใช้เป็นยาดับกลิ่นฆ่าเชื้อโรคเพราะทำให้โปรตีนแข็งตัว
– ทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอจะใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น
– นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราในการเก็บรักษาธัญพืช หลังการเก็บเกี่ยวและใช้เพื่อป้องกันแมลง
[ads]
การใช้ฟอร์มาลินที่ผิดวิธีและเป็นอันตราย
พบว่ามีการนำฟอร์มาลินผสมน้ำไปราดใส่อาหารบางชนิด เช่น ปลาทู เนื้อหมู เพื่อป้องกันการเน่าเสีย โดยอาหารเหล่านี้จะถูกแช่ฟอร์มาลินก่อนนำมาวางขายเพื่อให้มีความสดได้นาน ไม่เน่าเสียเร็ว นอกจากนี้ยังมีการนำฟอร์มาลินมาใช้กับผักหลายชนิด โดยเฉพาะผักผลไม้ยอดนิยม เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว แตงกวา หน่อไม้ ยอดมะพร้าว และอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการใช้ฆ่าแมลงบนผักได้ดี และยังทำให้ผักสดอยู่ได้นาน ที่สำคัญเหล่าพ่อค้าแม่ค้าหัวใสยังทำเพื่อ ราคาที่ถูกกว่าสารพิษฆ่าแมลงชนิดอื่นๆ ด้วย นอกจากจะใช้ฟอร์มาลินฉีดผักแล้ว บางครั้งฟอร์มาลินอาจมาจากปุ๋ย และสารพิษฆ่าแมลงที่ใช้ด้วย ฟอร์มาลินที่จงใจฉีดหรือแช่ในผักหรือเนื้อสัตว์นั้น หากใช้ปริมาณมากเกินไปและมีตกค้างย่อมเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแน่นอน
อันตรายจากฟอร์มาลิน ฟอร์มาลินนั้นมีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย ดังนี้
1. พิษต่อระบบทางเดินหายใจ หากได้รับในรูปของไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำๆ ถ้ามีการสัมผัสถูกตาจะระคายเคืองตามาก ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม ทำให้แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ทำให้เป็นแผลหรือถึงขั้นตาบอดได้ ถ้าสูดดมเข้าไปมากๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นตายได้ในที่สุด อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมง หลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวดเลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานาน จะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ เป็นต้น
2. พิษร้ายแรงต่อระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมาก มีผลทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะเกิดอาการพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว ถ้าหากได้รับในปริมาณ 60-90 ซีซี จะทำให้การทำงานของตับ ไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง และก่อให้เกิดการปวดแสบปวดร้อนที่คอและปาก เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องอย่างรุนแรง หมดสติได้ นอกจากนี้ยังพบว่าฟอร์มาลินเป็นอันตรายเป็นสารก่อมะเร็งด้วย
3. มีผลต่อผิวหนัง เมื่อสัมผัสโดยตรง จะมีผลทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการของผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษจนถึงผิวหนังไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้
ฟอร์มาลีน-ฟอร์มัลดีไฮด์ สารก่อมะเร็ง ทั้งสองตัวนี้ในทางเคมีคือสารตัวเดียวกัน เพียงแต่ว่าเมื่ออยู่ในรูปของสารละลายจะเรียกว่า ฟอร์มาลีน ที่น่าสนใจคือมีการนำมาใช้กับอาหารกันมาก เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดท้อง ในปากและคอจะแห้ง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก อาจมีการถ่ายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด มีอาการเพลีย เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง ได้มีรายงานว่ามีผู้กินฟอร์มาลิน 2 ช้อนโต๊ะ เพื่อฆ่าตัวตาย พบว่า ตายภายใน 3 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารดังกล่าว และเมื่อผ่าศพผู้ตายพบแผลไหม้ในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
เคยมีรายงานว่า สารฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde) ซึ่งเป็นสารประกอบของฟอร์มาลิน เป็นสารที่กระตุ้นให้ก่อเกิดมะเร็งได้อีกด้วย ฟอร์มาลินในอาหาร ผักหลายชนิดนอกจากจะฉีดสารพิษฆ่าแมลงแล้ว ยังมีการนำไปแช่ฟอร์มาลินก่อนจำหน่ายอีกด้วย เพื่อให้คงความสดอยู่ได้นานๆ ควรระวังในผักต่างๆ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลต่างๆ สังเกตว่าจะคงความสดและอยู่ได้นานเสมอแม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวเพียงใด
หลีกเลี่ยงฟอร์มาลีน-ฟอร์มัลดีไฮด์ ปนเปื้อนในอาหาร
ผักผลไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะมีการตรวจพบ การปนเปื้อนของสารอันตรายอย่างฟอร์มาลีน-ฟอร์มัลดีไฮด์ ก็ไม่ต้องถึงกับงดบริโภคผัก เพราะกลัวสารพิษฆ่าแมลงหรือฟอร์มาลินนะคะ มีข้อควรแนะนำดังนี้ค่ะ การเลือกบริโภคเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและครอบครัว ต้องรู้จักพิถีพิถันเลือกบริโภคให้มากขึ้น เลือกบริโภค และรู้วิธีการเตรียมอาหาร
วิธีสังเกตว่าผักที่ซื้อมามีฟอร์มาลินหรือไม่นั้น แนะนำดังนี้ค่ะ
– ควรดมที่ใบหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกก็อย่าซื้อมาบริโภคอีก สังเกตดูผักที่วางขายว่าสด ใบงาม (เกินความเป็นจริง) ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวันๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อเพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงซึ่งยังไม่หมดฤทธิ์ สะสมอยู่ด้วย
– เลือกบริโภคผักพื้นบ้านให้มากขึ้น เช่น ตำลึง ชะอม กระถิน ผักกระเฉด ฟัก บวบ หัวปลี และผักชนิดอื่นๆ เพราะผักเหล่านี้จะทนโรค ไม่จำเป็นต้องใช้สารพิษฆ่าแมลงหรือถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้น้อย ถ้าจะให้ปลอดภัยก็อาจเลือกบริโภคในช่วงฤดูฝน เพราะช่วงนี้ผักพื้นบ้านเจริญได้ดี อาจไม่ต้องใช้สารพิษฆ่าแมลง แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนและฤดูหนาว ผักเหล่านี้มักถูกแมลงรบกวน ดังนั้นเกษตรกรอาจนำสารพิษฆ่าแมลงและฟอร์มาลินมาใช้
– ทุกครั้งที่ซื้อผักและผลไม้มา จำเป็นต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งเพื่อให้ปลอดจากสารเคมีต่างๆ และสารฟอร์มาลิน โดยนำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่า ฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมด
– ผักที่ปลูกโดยชาวบ้านที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ทำจากสมุนไพร เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้หอม ก็จะทำให้ไม่มีสารพิษตกค้าง การบริโภคผักเหล่านี้คงจะปลอดภัยกว่าผักที่ใช้สารพิษฆ่าแมลง
– การเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตลอดจนปลา คงต้องสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลินวางขายในตลาดสด ถ้าถูกแดดถูกลมนานๆ เนื้อแดงๆ นั้นจะเหี่ยว หรือถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรจะซื้อมาบริโภค เพราะอาจมีการแช่ฟอร์มาลิน
ข้อควรรู้ : ฟอร์มาลินหรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข หากใครใส่สารนี้ในอาหาร จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เพราะสุขภาพของเรานั้นสำคัญที่สุด คุณจึงควรใส่ใจในการเลือกรับประทานและรับประทานอาหาร แม้การหลีกเลี่ยงฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนในอาหารอาจจะดูเป็นเรื่องยาก หากต้องซื้อหาผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่างๆ จากท้องตลาดทั่วไป ทางที่ดีควรหัดสังเกตความเป็นธรรมชาติของอาหาร หากว่ามีความผิดปกติมากเกินไป ไม่ควรเลือกซื้อมารับประทาน และทุกครั้งที่ซื้อมาแล้ว ก็ต้องมีการล้างอย่างสะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com