เก็บเงินเพื่อของที่อยากได้ ฉบับนักศึกษาที่ได้เงินเดือนไม่เกิน 1 หมื่นบาท
advertisement
คุณ สมาชิกหมายเลข 5935479 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปได้ออกมาโพสต์แชร์วิธีการเก็บเงินให้ได้สิ่งของที่ต้องการ ฉบับนักศึกษามหาลัยที่ได้เงินเดือนไม่เกิน 10000 บาท โดยเจ้าตัวได้ออกมาเผยว่า
advertisement
สวัสดีค่ะ เราเป็นนักศึกษามหาลัยอายุ 20 ปีคนหนึ่ง ที่อยากจะแชร์วิธีการเก็บเงินของตัวเอง ไว้เป็นแนวทาง หากเพื่อนๆ สนใจก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยในการเก็บเงินนั้น เราจะขอแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. ประเด็นการกำหนดเป้าหมาย 2. ประเด็นการจัดสรรเงินที่ได้ในแต่ละเดือน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการออม คือ ควรที่จะเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายก่อน ว่าในอนาคตอยากได้อะไร จำนวนเงินกี่บาท ใช้ระยะเวลากี่เดือน และเก็บอย่างไร หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องวางแผนเป้าหมาย ?? นั่นเป็นเพราะว่าเราจะได้สามารถพุ่งเป้าในการเก็บเงินได้อย่างตรงจุด และไม่เสียเงินไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นกับเป้าหมายนั่นเอง
ประเด็นที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย ก่อนอื่นให้วางแผนแบ่งเป้าหมายเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ระยะสั้น คือ เป้าหมายที่เราอยากได้ภายใน 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น อยากเก็บเงินไปดูคอนเสิร์ต K-pop ไปเที่ยวพม่า รับปริญญา เป็นต้น
ระยะกลาง คือ เป้าหมายที่อาจจะใช้ระยะเวลาเก็บเงินมากกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ตัวอย่างเช่น การเก็บเงินซื้อรถยนต์ ค่าแต่งงาน ค่าการศึกษาบุตร เป็นต้น
ระยะยาว คือเป้าหมายที่ใช้เวลาในการเก็บเงินมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างเช่น การซื้ิอบ้าน การเก็บเงินวัยเกษียณ เป็นต้น
เราขอยกตัวอย่างเป้าหมายของตัวเอง โดยจะเขียนในสมุดไดอารี่ หรือสมุดเล่มโปรด เพื่อไว้เตือนความจำตนเอง เริ่มที่
advertisement
1.เป้าหมายระยะสั้น (ภายในอายุ 25 ปี)
– เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน(25 ปี) 100,000 บาท
– ไปเที่ยวพม่า (22 ปี) 10,000 บาท
– รับปริญญา (22 ปี) 5,000 บาท
– ซื้อมอเตอร์ไซค์ (22 ปี) 50,000 บาท
2. เป้าหมายระยะกลาง (ภายในอายุ 32 ปี)
– ซื้อรถยนต์ 500,000 บาท
– ค่าจิปาถะของรถยนต์ 200,000 บาท
3. เป้าหมายระยะยาว
– เกษียณ 5,000,000 บาท
– ซื้อบ้าน 1,000,000 บาท
เมื่อกำหนดเป้าหมายเสร็จ ก็เข้าสู่ ประเด็นที่ 2 การบริหารเงินที่ได้มา ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ แต่เนื่องจากเราเป็นเพียงนักศึกษาที่ไม่ได้มีเงินเดือนมากมาย จึงขอแชร์เพียงแค่การเก็บเงินในเป้าหมายระยะสั้นให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยหาทางจัดการเงินในระยะอื่นต่อไป
#ในการเก็บเงิน เรามีบัญชี 4 บัญชี ไว้สำหรับแบ่งสรรปันส่วนเงินให้ไม่ปะปนกัน ได้แก่
1) บัญชีสำหรับเงินสำรองฉุกเฉิน
2) บัญชีค่ามอเตอร์ไซค์
3) บัญชีค่ารับปริญญา
4) บัญชีสำหรับใช้จ่าย
#เราได้เงินเดือนละ 9,000 บาท ทำการแบ่งเป็น
+ 6,000 บาท สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน
– 2,000 บาท ค่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟ
– 3,000 บาท ค่ากิน แบ่งใช้วันละ 100 บาท
– 200 บาท ค่าโทรศัพท์
– 400 บาท ค่าเดินทาง
– 400 บาท อื่นๆ
+ 3,000 บาท ที่เหลือ สำหรับเงินออม ซึ่งจะเก็บก่อนใช้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน
– 1,500 บาท สำหรับบัญชีสำรองฉุกเฉิน เก็บจนถึงอายุ 25 ปี (5 ปี ได้ 90,000 บาท)
– 1,500 บาท สำหรับเป้าหมายซื้อรถมอเตอร์ไซค์ (2 ปี ได้ 36,000 บาท)
advertisement
#นอกจากนี้เรายังมี "กิมมิกจากการออมเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่าย" โดยแบ่งเป็น 4 กระปุก ได้แก่
– กระปุก 1 เก็บเหรียญ 1,2,5 บาท >> สำหรับค่ารับปริญญา ในอีก 2 ปี ข้างหน้า จะต้องเก็บเงินเดือนละ 250 บาท เทอมหนึ่งนับเงินหนึ่งครั้ง แล้วนำไปออมในธนาคาร
– กระปุก 2 เก็บเหรียญ 10 บาท >> สำหรับซักผ้าหยอดเหรียญ
– กระปุก 3 เก็บแบงก์ 20 บาท >> สำหรับบันเทิง (เราเรียกมันว่ากองplay) ไว้ซื้อของที่อยากได้ โดยกำหนดนำมาใช้ให้หมดเดือนละครั้งกองนี้จะเอามาเก็บก็ต่อเมื่อเหลือจากค่าใช้จ่ายแต่ละวัน
– กระปุก 4 เก็บแบงก์ 50 บาท>> สำหรับไปเที่ยววัดในพม่า เราจะต้องเก็บให้ได้เดือนละ 5 ใบอย่างต่ำ ถ้าเจอให้เก็บแบบไม่มีข้อแม้ * หากสิ้นเดือนมีเงินเหลือในบัญชีให้โอนไปสมทบค่ามอเตอร์ไซค์ * สำหรับแบงก์ 50 หากครบกำหนด 10,000 บาทของเป้าหมายเที่ยวพม่าแล้ว ให้หยุด แล้วนำที่เหลือสมทบค่ามอเตอร์ไซค์ * หากระหว่างเรียนสามารถทำงานหาเงินได้ ให้แบ่ง 75:25 โดย 75% แบ่งเข้าบัญชีมอเตอร์ไซค์ ส่วน 25% สำหรับกอง play * ในแต่ละเทศกาลจะได้เงินจากญาติ ให้ใส่บัญชีสำรองฉุกเฉิน
นี่เป็นวิธีการเก็บเงินฉบับจริงของเรา มันอาจจะยุ่งยากหน่อย แต่สำหรับนี่ นี่คิดว่าสนุกดี เราสามารถประยุกต์การใช้เงินในชีวิตประจำวัน จัดสรรให้เราสามารถทำตามเป้าหมายได้ ทั้งยังมีเงินสำหรับบันเทิงไว้ใช้ด้วย ทำให้การเก็บเงินไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่เคยเป็น
ปล. เราเก็บเงินซื้อมอเตอร์ไซค์แบบซื้อสด เพราะเคยอ่านกระทู้และถามคนรอบข้าง ทุกคนบอกเสียงเดียวเลยว่า ค่าผ่อนรถเหมือนกับซื้อรถได้เพิ่มอีกหนึ่งคัน เลยยอมซื้อสดดีกว่า
ปล.2 เราไม่ชอบการเป็นหนี้ จึงมักจะใช้วิธีการผ่อนลมก่อนผ่อนจริงอยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบว่าเราอยากได้จริงๆ หรือเปล่า
ปล.3 จำไว้นะทุกคน "การออมเงินเป็นการซื้อความมั่นคงในอนาคตให้กับตนเอง" และหัดที่จะเรียนรู้เรื่องการลงทุนไว้ด้วย จะได้ทำเงินให้งอกเงยมากขึ้น
ปล.4 ขอบคุณทริคดีๆ จากคลิป start yourway คลิปจากคุณ Than money trick และคุณนายออม เดอะซีรีส์ ที่ทำให้คนเก็บเงินไม่เป็น ได้มีวิธีดีๆ มาใช้กับตนเองจนถึงทุกวันนี้
สำหรับใครที่มีเป้าหมาย ที่อยากได้ก็ลองนำเอาวิธีนี้ไปลองเก็บออมกันดูนะคะ ยิ่งช่วงนี้ต้องหันมาเก็บออมเงินกันให้มากๆ เพื่อเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เพราะอนาคตไม่นอนนอน ฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังและวางแผนการใช้เงินให้ดี
ขอขอบคุณที่มาจาก : สมาชิกหมายเลข 5935479