เตือนภัย!!ระวังแมลงด้วงก้นกระดก ทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบ
advertisement
หมอเตือนพิษจากด้วงก้นกระดก ทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ถ้ามีอาการโรคติดเชื้อรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง ระบุพิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต แนะอย่าวิตกกังวลมากเกินไป[ads]
advertisement
นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ภาพผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นแหลมชนิดหนึ่ง ในสื่อสังคมออนไลน์ ยิ่งแชร์กันมาก ความรุนแรงของโรคก็จะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีข่าวถึงกับว่า แมลงชนิดนี้ทำให้เสียชีวิต กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแมลงด้วงก้นกระดก และโรคผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดก ว่า อาการผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดกเกิดจากการสัมผัสสารพีเดอริน (Paederin) จากตัวแมลงก้นกระดกสารนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน เมื่อด้วงก้นกระดกมาเกาะตามร่างกายแล้วเผลอปัด หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส พิษจากด้วงก้นกระดก ทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ถ้าสัมผัสสารพิษจำนวนมากจะเป็นหนอง ผื่นวางเรียงตัวเป็นแนวยาว เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีอาการโรคติดเชื้อรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามพิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลมากเกินไป
advertisement
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแมลงด้วงก้นกระดกว่า แมลงนี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่า ด้วงก้นกระดก ชื่อเรียกอื่น ๆ คือ แมลงก้นกระดก ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน ด้วงกรด หรือแมลงเฟรชชี่(เพราะพบบ่อยในหมู่นักศึกษาใหม่ที่อยู่หอปีแรก) เป็นต้น แมลงชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paederus fuscipes Curtis และมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Rove beetles ตัวเต็มวัยมีสีดำสลับส้ม ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร หัวสีดำ อกส่วนหน้าแบนยาว ส่วนท้องมี 6 ปล้อง 4 ปล้องแรกสีส้มอมน้ำตาล ส่วนที่เหลือสีดำ ขาทั้ง 3 คู่มีสีน้ำตาลแดงปีกแข็งด้านบนสีน้ำเงินเข้มและปีกอ่อนข้างใต้ เป็นแมลงที่มีอายุอยู่ได้ยาวนาน มีความว่องไว ไต่ไปตามต้นข้าว บินได้เร็วและว่องไว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องตั้งขึ้นคล้ายแมงป่องจนเรียกว่า “ด้วงก้นกระดก” ด้วงก้นกระดกจะมีสารพิษชื่อว่า พีเดอริน (Paederin) สารชนิดนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนสามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ ด้วง 1 ตัว จะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณร้อย 0.025 ของน้ำหนักตัว โดยตัวเมียจะมีปริมาณสารพิษมากกว่าตัวผู้มาก ทำให้อาจเป็นเหตุให้เข้าใจผิดได้ว่า แมลงชนิดนี้ไม่มีอันตรายมาก หากเคยโดนด้วงตัวผู้ ซึ่งผู้โดนจะไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากมีสารพิษจำนวนน้อย
advertisement
อาการผิวหนังอักเสบจากด้วงก้นกระดกเกิดจากการสัมผัสสารพีเดอริน ซึ่งมักเกิดจากการที่มีแมลงมาเกาะตามร่างกายแล้วเผลอปัด หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส โดยอาการจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะมีอาการหลังสัมผัสแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง ทำให้อาจจะไม่ได้ประวัติการสัมผัสแมลงที่ชัดเจนจากผู้ป่วยรอยโรค พบมากบริเวณนอกร่มผ้า โดยมีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ทิศทางหลากหลาย(ตามรอยปัด) ผื่นมีขอบเขตชัดเจน ในระยะต่อมาจะมีตุ่มน้ำพองใสและตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาในเวลา 2-3 วัน อาการคันมีไม่มากนัก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย เมื่อสัมผัสกับสารพีเดอรินในบริเวณรอยพับต่าง ๆ อาทิ พับข้อศอก ข้อเข่า มักกระจายไปสัมผัสทั้งสองด้าน จะเกิดผื่นสองผื่นที่ลักษณะคล้ายกันในแต่ละด้าน เป็น mirror images หรือ kissing lesions หากสารพีเดอรินกระจายถูกบริเวณดวงตา ก็จะเกิดอาการตาบวมแดงและอาจทำให้ตาบอดได้ อาการที่ตานี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ตาอักเสบแบบไนรูบี” (Nairobi eye” or “Nairobi conjunctivitis”) เพราะแมลงเหล่านี้ก็พบได้บ่อยแถวแอฟริกาด้วยเช่นกัน
ผื่นบริเวณใบหน้า รอบดวงตา หรือบริเวณผิวอ่อน มักจะมีอาการรุนแรงมากกว่าที่อื่น ส่วนบริเวณฝ่ามือซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่สัมผัสสารพิษเป็นแห่งแรก กลับไม่ค่อยมีอาการเนื่องจากบริเวณนี้มีผิวหนากว่าผิวส่วนอื่น[ads]
คุณหมอมิ่งขวัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการอักเสบเหล่านี้จะหายไปในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจจะมีรอยดำหลังการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ แต่มักจะไม่เป็นแผลเป็น โดยทั่วไป อาการจะไม่รุนแรง และไม่มีอาการระบบอื่นนอกจากตาและผิวหนัง ยกเว้นในรายที่ได้รับพิษจำนวนมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรง ก็จะมีไข้สูง และอาการทางระบบหายใจได้
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : กรมการแพทย์