เตือนเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็กเล็ก

advertisement
กระทรวงสาธารณสุข เตือนครูและผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปากในเด็กเล็ก หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 1,500 ราย ให้ครู ผู้ปกครองคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน ทุกเช้า หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา และหยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่มีการรายงานข่าว พบเด็ก เสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปากในจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่แล้ว ซึ่งจากการรายงานของสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยได้มีการติดเชื้อที่มีการระบาดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หลังจากนั้นประมาณ 2 อาทิตย์ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ด้วยอาการปวดหัว ปวดท้องรุนแรง และอาเจียนอย่างต่อเนื่อง แพทย์จึงรับผู้ป่วยไว้ดูแล แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงได้ส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด หลังจากนั้นไม่นานอาการของโรคก็มีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก แพทย์พบผู้ป่วยมีตุ่มแดงที่ฝ่ามือและเท้า อาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่ออก ปอดติดเชื้อ และผู้ป่วยเกิดภาวะช็อกอย่างรุนแรง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์จึงลงความเห็นว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ทีมแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ อีวี 71 (เอนเทอโรไวรัส 71) [ads]
advertisement

โดยกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวัง ให้ความรู้การป้องกันโรคแก่ประชาชน และเด็กในสถานศึกษา พร้อมทั้งทำความสะอาดโรงเรียนที่มีการระบาดของโรคเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ขอให้ครู ผู้ปกครองคัดกรองเด็กเล็กทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีอาการป่วย ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ ให้ความรู้ในการป้องกันและคำแนะนำเกี่ยวกับโรคแก่นักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมทั้งให้เด็กล้างมือบ่อยๆ จัดจุดล้างมือพร้อมสบู่และแอลกอฮอล์เจล รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นส่วนรวมเป็นประจำ รวมทั้งหากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดสถานศึกษาเพื่อชะลอการระบาดและการแพร่กระจายเชื้อ
advertisement

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก สายพันธุ์ อีวี 71 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าสายพันธุ์ทั่วไปพบได้มากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ การติดต่อเกิดจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โรคนี้อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือก้น ซึ่งหายได้เอง ใน 7-10 วัน ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีน จะรักษาตามอาการ[ads]
advertisement

ถ้าหากเด็กมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 52,828ราย เสียชีวิต 2 ราย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,597 ราย สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย Chomnapas Wangein ที่มา: สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค