เตือน!! ฤดูหนาวระวัง 3 โรคและ 1 ภัยสุขภาพ
advertisement
กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 3 โรคและ 1 ภัยสุขภาพที่ควรระวังในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าช่วงหนาวนี้อาจมีผู้ป่วยสูงถึงเดือนละ 24,000 ราย
advertisement
วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2559) นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งช่วงนี้จะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าช่วงเวลาอื่นของปี และอากาศที่เย็นจะทำให้เชื้อโรคบางชนิดสามารถมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น จึงทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่าในฤดูกาลอื่น กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชนในช่วงฤดูหนาว และเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2559 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งโรคที่มีแนวโน้มจะระบาดในฤดูหนาว โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ[ads]
1.กลุ่มโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคมือ เท้า ปาก
2.ภัยสุขภาพ ได้แก่ ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส
advertisement
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – ต.ค. 2559 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในเด็ก อายุแรกเกิด – 5 ปี รวม 248,375 ราย เสียชีวิต 3 ราย(เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี) ซึ่งเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำรุนแรง ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ มีผู้ป่วย 137,096 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 2 เท่า เสียชีวิต 47 ราย จากการคาดการณ์พบว่าจำนวนผู้ป่วยในช่วงฤดูหนาวในปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว โดยคาดว่าตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 – ก.พ. 2560 จะมีผู้ป่วยประมาณ 16,500 – 24,000 รายต่อเดือน ซึ่งอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย สุดท้ายคือโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 72,534 ราย เสียชีวิต 3 ราย อายุ 9 เดือน ถึง 5 ปี
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการป่วยด้วยโรคติดต่อ ซึ่งติดต่อโดยการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัด ก่อนถ่ายเหลว โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรง แต่บางรายอาจขาดน้ำรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สำหรับการดูแลรักษา เมื่อเด็กป่วยผู้ปกครองควรให้อาหารเหลวแก่เด็ก ถ้าเด็กยังถ่ายบ่อยควรผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ให้เด็กดื่มทีละน้อย หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนการป้องกัน ควรกินอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
advertisement
โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้ง่ายโดยการหายใจเอาเชื้อที่ฟุ้งกระจายในอากาศ และแพร่กระจายได้กว้างขวางในที่ๆคนอยู่แออัด หากป่วยให้รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ และดูแลร่างกายให้อบอุ่น ต้องพักผ่อนให้มากๆ หยุดเรียน หยุดทำงาน สวมหน้ากากอนามัย ถ้าไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน และเสี่ยงมีอาการแทรกซ้อนให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว อีกโรคที่สำคัญคือโรคมือ เท้า ปาก โรคนี้ส่วนมากพบในทารกและเด็กเล็ก เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปทางปากโดยตรงจากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลหรืออุจจาระของผู้ป่วย ส่วนการป้องกันโรค ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในชุมชน ในช่วงที่มีการระบาด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ที่สำคัญ หากพบเด็กป่วยหรือสงสัย ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้หยุดพักที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ
advertisement
นอกจากนี้ ภัยสุขภาพที่ควรระวังในช่วงฤดูหนาวคือ ภัยจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ซึ่งการเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆช่วงอากาศหนาวเย็น อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการป่วยและเสียชีวิตจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐาน จากข้อมูลระหว่างปี 2551 – 2559 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊ส พบว่ามีรายงานทั้งสิ้น 16 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 6 ราย ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ภาคเหนือ ข้อแนะนำในการปฎิบัติ คือให้ตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นแบบใช้ระบบแก๊สให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยติดตั้งในห้องที่มีการระบายอากาศที่เพียงพอ ติดป้ายเตือนและบอกถึงวิธีใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นไว้อย่างชัดเจน รวมถึงสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับแก๊สระหว่างอาบน้ำในห้องน้ำ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบออกจากห้องน้ำ หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น และออกจากห้องน้ำทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
[ads]
“ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศฉบับนี้แจ้งเตือนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รวมถึงสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ทั้งด้านการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ การควบคุมโรคในกรณีมีการระบาดของโรคติดต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ การป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคในฤดูหนาว สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ ประชาชนควรสวมเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อรักษาร่างกายให้อบอุ่น หากป่วยแล้วอาการไม่ดีขึ้นให้รีบพบแพทย์ ประชาชนขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : กรมควบคุมโรค