เทียบชัดๆ!! แอดมิชชั่น กับ ระบบใหม่ “ทีแคส” แบบไหนดีกว่ากันอ่านแล้วเคลียร์
advertisement
สำหรับน้องนักเรียนที่กำลังเตรียมตัวสอบเข้าเรียนอุดมศึกษาน้องหลายคนอาจจะเตรียมตัวเป็นอย่างดีในการที่จะเข้าเรียน และในตอนนี้สรุปการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนแล้วว่า สำหรับระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยเริ่มใช้ระบบใหม่ “ทีแคส” หรือ TCAS (Thai university Central Admission System) ในปีการศึกษา 2561 นี้ และหลายคนก็อาจจะอยากรู้ว่าความแตกต่างของมันคืออะไร วันนี้ไข่เจียวจึงมีความรู้ด้านนี้มาฝากหวังว่าคงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อน้องนักเรียน และท่านผู้ปกครองที่ติดตามการเรียนของลูกๆ
advertisement
แอดมิชชั่น (Admissions) เป็นระบบกลางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยจะมีคะแนนทั้งหมด 4 ส่วน
1. เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ เทียบเท่า (GPAX)
2. การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
3. การทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT)
4. การทดสอบความถนัดทางวิชาการวิชาชีพ (PAT)
และนำคะแนนทั้ง 4 ส่วนมาคิดเป็นองค์ประกอบแอดมิชชั่น
GPAX = 20% O-NET = 30% GAT/PAT = 50% (* สัดส่วน GAT/PAT แตกต่างกันไปตามกลุ่มวิชา) ทั้งหมด 100% หรือ 30,000 คะแนน
นำคะแนนที่ได้มายื่นในระบบแอดมิชชั่น โดยสามารถเลือกสาขา/คณะ/มหาวิทยาลัย ได้ 4 อันดับ การเลือกเข้าเรียนหากคะแนนไม่ถึงอันดับที่ 1 ก็จะหลุดมาอันดับที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ หากหลุดทั้ง 4 อันดับ คือแอดมิชชั่นไม่ติด
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับตรงและโควตาต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเอง โดยเกณฑ์การคัดเลือกแล้วแต่มหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีทั้งสัดส่วนคะแนน GPAX, O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ, สัมภาษณ์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นคือ มหาวิทยาลัยต่างแห่กันเปิดรับตรงและโควตามากขึ้น ทำให้เด็กติดรับตรงหลายแห่ง และมีการยืนยันสิทธิ์ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาทุกแห่งที่สอบติด และไม่ยอมแจ้งสละสิทธิ์ จากนั้นมายื่นคะแนนแอดมิชชั่นต่อ ทำให้เกิดการ “กั๊ก” ที่นั่งขึ้น เด็กหลายคนไม่มีที่เรียน ขณะที่มหาวิทยาลัยมีที่นั่งว่างจำนวนมาก
จึงได้แก้ปัญหาโดยการใช้ระบบเคลียริ่งเฮาส์เข้ามาช่วย โดยการรวบรวมและประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบรับตรงและโควตาของสถาบันต่างๆ ที่มีข้อตกลงในการใช้ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งนักเรียนที่สอบติดรับตรงมีสิทธิ์เลือกยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาได้เพียง 1 ที่เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะถูกส่งรายชื่อเพื่อตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นหากไม่ดำเนินการใดๆ จะถือว่าผู้นั้นสละสิทธิ์การเข้าศึกษาในระบบตรง
advertisement
ทีแคส (TCAS) จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ลดการวิ่งรอกสอบ ลดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องค่าใช้จ่าย รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กที่ไม่ผ่านรอบต่างๆ ได้มีโอกาสแก้ตัวในรอบต่อๆ ไปได้ ซึ่งทีแคสจะรวมวิธีการรับทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบนี้ โดยจะแบ่งเป็น 5 รอบ คาดว่าจะรับเด็กได้ประมาณ 206,506 คน
รอบที่ 1 รอบรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ยื่นผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง ไม่มีการสอบข้อเขียน แต่ใช้ผลงานที่สะสมมา เช่น อัดคลิปการรำ การร้อง ความสามารถพิเศษอื่นๆ ยื่นผลงานสมัครโดยตรงกับมหาวิทยาลัยนั้น โดยคาดว่าจะรับได้ 44,258 คน
รอบที่ 2 รอบรับด้วยระบบโควตา ยื่นผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง โควตาพื้นที่ โควตาภาคต่างๆ โควตาโรงเรียนในเครือข่าย โดยการคัดเลือกจากผลคะแนนกลางของ ข้อสอบกลาง 9 วิชาสามัญ, ข้อสอบความถนัดทั่วไป (GAT), ข้อสอบความถนัดทางวิชาชีพ (PAT) นอกจากนี้ แต่สาขาวิชาต่างๆ สามารถจัดสอบวิชาเฉพาะเพิ่มเองได้ แต่ต้องไม่ใช่วิชาที่การสอบกลางมีอยู่แล้ว ยื่นสมัครโดยตรงกับมหาวิทยาลัยนั้น โดยคาดว่าจะรับได้ 68,050 คน
รอบที่ 3 รอบรับตรงร่วมกัน ยื่นผ่าน ทปอ. เปิดรับนักเรียนโครงการ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) โครงการอื่นๆ และนักเรียนทั่วไป โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับสมัครผ่านเว็บไซต์ของ ทปอ. http://a.cupt.net ผู้สมัครสามารถเลือกสาขา/คณะ/มหาวิทยาลัย ได้ 4 อันดับ โดยคาดว่าจะรับได้ 44,390 คน
รอบที่ 4 รอบรับด้วยระบบแอดมิชชั่นกลาง ยื่นผ่าน ทปอ. รับนักเรียนทั่วไปคล้ายกับระบบเก่า แต่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะเป็นหน่วยงานกลางในการรับสมัคร ซึ่งผู้สมัครยื่นผลคะแนนรวมทั้งหมดจากการคำนวนเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX), การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) 5 วิชา, ข้อสอบความถนัดทั่วไป (GAT), ข้อสอบความถนัดทางวิชาชีพ (PAT) และเลือกสาขา/คณะ/มหาวิทยาลัย ได้ 4 อันดับ โดยคาดว่ารับได้ 34,744 คน
รอบที่ 5 รอบรับตรงอิสระ ยื่นผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง เป็นการเปิดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับนิสิตนักศึกษาโดยตรง ด้วยวิธีการของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยคาดว่าจะรับได้ 15,064 คน
แต่อย่างไรก็ตาม การรับสมัครแต่ละรอบ เมื่อผู้สมัครสอบได้และยืนยันสิทธิ์ในรอบหนึ่งรอบใดแล้ว จะถูกตัดสิทธิ์ในรอบต่อไปคือรอบที่ 2 3 4 5 ได้ เว้นแต่ว่า จะสละสิทธิ์ให้ทันเวลาตามที่ระบบกำหนดไว้ ก่อนที่ ทปอ. จะส่งรายชื่อให้มหาวิทยาลัย ซึ่งรายละเอียดและกระบวนการการสละสิทธิ์ใดๆ นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วยเช่นกัน
advertisement
เคลียร์แล้วใช่ไหมค่ะไข่เจียวหวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่น้องๆๆและทุกๆท่านนะคะ อย่างไรแล้วเวลาที่สมัครตรวจสอบรายละเอียดให้ดีนะคะ เพื่อว่าจะไม่เป็นการเสียสิทธิ์ในการเขาศึกษานะจ้ะ
ขอขอบคุณทีมาจาก: thairath