เปราะหอม..ว่านศักดิ์สิทธิ์เป็นยาดี สรรพคุณไม่ธรรมดา!!
advertisement
“เปราะหอม” จัดเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งค่ะ มีทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง เป็นไม้ลงหัวจำพวกมหากาฬ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า “เหง้า” เนื้อภายในของเหง้ามีสีเหลืองอ่อน และมีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดขม พบได้มากทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่นิยมนำหัวและใบของเปราะหอมมาปรุงเป็นอาหาร ใบกินเป็นผักสดแกล้มอาหาร หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกง หั่นใส่อาหารจำพวกผัดเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำราดข้าวมันไก่ ทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก น้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม อีกทั้งคนไทยโบราณเชื่อว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจต่างๆ นำใส่ลงไปน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ เรามาดูสรรพคุณของต้นเปราะหอมกันค่ะ น่าสนใจมากทีเดียวเลยค่ะ
เปราะหอมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia galanga L. มีชื่อสามัญว่า Sand Ginger, Aromatic Ginger, Resurrection Lily จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE
สมุนไพรเปราะหอม มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ ว่า เปราะหอมขาว เปราะหอมแดง หอมเปราะ (ภาคกลาง), ว่านหอม ว่านแผ่นดินเย็น ว่านตีนดิน (ภาคเหนือ), เปราะ (ภาคใต้), ว่านนกยูง ว่านหาวนอน (เชียงใหม่), ซู (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น [ads]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสมุนไพรเปราะหอม เป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า เนื้อภายในสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก มีกลิ่มหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน 2-3 ใบ แผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย มีขนอ่อนบริเวณท้องใบ บางครั้งอาจพบขอบใบมีสีแดงคล้ำ เนื้อใบค่อนข้างหนา ตัวใบมีขนาดกว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ก้านใบเป็นกาบยาว 1-3 ซม.ดอกออกรวมกันเป็นช่อ ยาว 2-4 ซม.มี 4-12 ดอก ออกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูแต้มสีม่วง แต่ละดอกมี กลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ ซึ่งใบและต้นจะเริ่มแห้งเมื่อมีดอก ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ พบมากทางเหนือ ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วแผ่ราบบนหน้าดิน ต้นหนึ่งๆ มักมี 1 – 2 ใบ ใบมีรูปร่างทรงกลมโตยาว ประมาณ 5 – 10 ซม. หน้าใบเขียว เปราะหอมแดงจะมีท้องใบสีแดง เปราะหอมขาวจะมีท้องใบสีขาว มีกลิ่นหอม หัวกลมเหมือนหัวกระชาย ใบงอกงามในหน้าฝน และจะแห้งไปในหน้าแล้ง
ส่วนที่ใช้ประโยชน์ : ดอก ต้น หัว ใบทั้งสดและแห้ง
สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอม
มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ว่านเปราะหอม หรือ เปราะหอม มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ สารสำคัญที่ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระ ต้นเหตุของโรคร้ายและความเจ็บป่วยต่างๆ
– มีสรรพคุณใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ แก้คลายเครียด หมอยาโบราณใช้ทั้งหัวและใบนำมาโขลก ใส่น้ำพอชุ่ม แล้วเอาไปชุบนำมาใช้คลุมหัว หรือจะใช้เฉพาะหัวนำมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้ง หรือว่านหูเสือ ก็จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับแก้อาการปวดศีรษะได้
– ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ด้วยการใช้หัวผสมลงในยาหอม
– หัวเปราะหอมนำมาต้มหรือชงกิน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดี และยังช่วยคลายความเครียดได้อีกด้วย
– น้ำคั้นจากใบและเหง้านำมาใช้ป้ายคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
– น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ล้างศีรษะเพื่อช่วยป้องกันการเกิดรังแค รักษาอาการหนังศีรษะแห้ง
– น้ำมันหอมระเหยจากหัวมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดได้ คนสมัยก่อนจึงนำมาทาที่ท้องเด็กเช่นเดียวกับมหาหิงคุ์
– กินเป็นอาหารช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้
– หัวนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยอาการอักเสบได้ดี
– มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย
– เปราะหอมใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาเขียวหอม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ [yengo]
สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอมขาว
ดอก – แก้เด็กนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา
ต้น – ขับเลือดเน่าของสตรี
ใบ – ใช้ปรุงเป็นผักรับประทานได้
หัว – แก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ ใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับแกง สุมศีรษะเด็ก แก้หวัด คัดจมูก รับประทานขับลมในลำไส้
สรรพคุณทางสมุนไพรของเปราะหอมแดง
ใบ – แก้เกลื้อนช้าง
ดอก – แก้โรคตา
ต้น – แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
หัว – ขับเลือด และหนองให้ตก แก้ลมพิษ แก้ผื่นคัน แก้ไอ แก้บาดแผล
หัวและใบ – ใช้ในการปรุงเป็นอาหารได้
วิธีและปริมาณการใช้
ทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง ใช้ใบเปราะหอมสด 10-15 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัวสดใช้ 1/2-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 ครั้ง
ประโยชน์ของสมุนไพรเปราะหอม
1) หัวและใบ กินได้ นำมาปรุงเป็นอาหาร ใบกินเป็นผักแกล้มมีกลิ่นหอม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกง ซึ่งทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม
2) ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาว นำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม และความเชื่อที่ว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์ ช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ และเป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่
ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาวมีประโยชน์อยู่มากมายค่ะ ปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางค์ ยาสระผม ผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิวพรรณ ฯลฯ ซึ่งคุณสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม มีกลิ่นหอมช่วยให้ผ่อนคลาย ถือเป็นไม้มงคลหรือว่านศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อโบราณ และที่สำคัญคือนำมาใช้ประกอบอาหารได้ดี มีคุณค่าทางสมุนไพรอีกมากเลยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com