จริงหรือไม่!! “กินไข่ทำให้แผลปูด เป็นแผลเป็น”
advertisement
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจปี 2559 พบว่าประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ยังเข้าใจวิธีการดูแลบาดแผลไม่ถูกต้อง โดยร้อยละ 60 เข้าใจผิดว่ากินไข่แล้วทำให้แผลปูดเป็นแผลเป็น โดยพบในคนภาคเหนือมากที่สุด ร้อยละ 74 รองลงมาภาคกลางร้อยละ 69 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 62 กทม.และปริมณฑลร้อยละ 55 กลุ่มอายุที่เชื่อมากที่สุดคืออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 68[ads]
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสบส.มีนโยบายเร่งเผยแพร่ความรู้สุขภาพแก่ประชาชนนำไปใช้ปฏิบัติดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีสุขภาพดี ซึ่งปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อที่ถ่ายทอดกันต่อๆกันมา ซึ่งการปฏิบัติตามความเชื่อจะทำให้บุคคลมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย ถ้าต้องฝืนปฏิบัติในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ จะรู้สึกไม่ปลอดภัย เกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงไม่ส่งผลดีต่อการรักษาของแพทย์
advertisement
นายแพทย์ประภาส กล่าวว่า กรมสบส.ได้ดำเนินการสำรวจความเชื่อด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯปริมณฑลและ 4 ภาค จำนวน 501 คนในเดือนตุลาคม พ.ศ.2559 เกี่ยวกับการดูแลรักษาบาดแผลทั่วๆไป ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ60 มีความเชื่อผิดๆว่าการรับประทานไข่ ทำให้แผลปูดและเป็นแผลเป็น ผู้หญิงเชื่อร้อยละ 61 ส่วนผู้ชายเชื่อร้อยละ 58 กลุ่มอายุที่มีความเชื่อเรื่องนี้มากที่สุดได้แก่กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 68 โดยผู้มีระดับการศึกษาต่ำจะมีความเชื่อเรื่องนี้สูง กล่าวคือระดับการศึกษาประถมศึกษาเชื่อมากที่สุดร้อยละ 63 รองลงมาคือมัธยมศึกษา ร้อยละ 60 ขณะที่ผู้จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเชื่อร้อยละ 46 ภาคที่มีความเชื่อสูงสุดได้ภาคเหนือร้อยละ 74 รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 69 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 62 กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ร้อยละ 55 ส่วนภาคใต้มีความเชื่อต่ำสุดคือร้อยละ 39
advertisement
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า หัวใจสำคัญของการดูแลบาดแผลทุกชนิดไม่ว่าแผลถลอก แผลเล็ก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกและแผลผ่าตัด มี 2 ประการคือ 1.การรักษาความสะอาดแผล ป้องกันการติดเชื้อโรค และ2.การบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยสารอาหารที่ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้นได้แก่1.โปรตีน ซึ่งมีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น โปรตีนจะช่วยสร้างเนื้อเยื่อทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ ประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน 2. วิตามินซี ซึ่งมีมากในผลไม้สดทุกชนิดพบมากในฝรั่ง มะละกอ ส้มต่างๆ และยังพบในผักเช่นบร็อคโคลี่ พริกหวานสีแดง วิตามินซีจะทำหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรงและไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้นและ3.ธาตุสังกะสี ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ถั่วเหลือง ช่วยให้เซลล์จับกับวิตามินกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนั้นไข่จึงไม่ใช่อาหารแสลงหรืออาหารต้องห้ามอย่างที่เข้าใจกันแต่อย่างใด
advertisement
ส่วนแผลเป็นที่ปูดโต ไม่ได้เกี่ยวกับการกินไข่แต่อย่างไร แต่เป็นธรรมชาติของเนื้อหนังของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยกรม สบส.ได้ให้ อสม.ให้ความรู้ประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ ผ่านทางหอกระจายข่าวต่อไป อย่างไรก็ตามในการดูแลบาดแผลทั่วไป[ads]
ขอแนะนำให้ประชาชนทำความสะอาดแผลทุกวัน หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรกหรือเปียกน้ำเพราะอาจทําให้แผลเกิดการอักเสบได้ และควรสังเกตลักษณะบาดแผล หากแผลบวม แดง ร้อน สีของบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง ควรรีบไปพบ อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดูแลรักษาต่อไป
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข