เพกา..(ลิ้นฟ้า) หวานเป็นลม ขมเป็นยา!!
advertisement
เพกาหรือลิ้นฟ้า พรรณไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสขม ชาวบ้านนิยมนำยอดออนและฝักอ่อนมารับประทาน โดยจะเผาหรือลวกสุกก่อน เพื่อทำให้ความขมลดลง เผาแล้วขูดเอาผิวออกให้หมดก่อนนำมารับประทานกับน้ำพริกต่างๆ ส่วนเมล็ดเพกา ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำจับเลี้ยง ที่คนจีนนิยมดื่มกัน และด้วยความขมของเพกาหรือลิ้นฟ้านี่เอง ที่เข้ากับสำนวนไทยโบราณที่ว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา!! เพราะมีสรรพคุณเป็นยา ดังนี้ค่ะ
ลักษณะของต้นเพกาหรือลิ้นฟ้า : เป็นไม้ต้น สูง 3-12 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทา แตกกิ่งก้านน้อย
ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้ามรวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-12 ซม.
ดอก : ดอกช่อจะออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่ มี 20-35 ดอก กลีบดอกสีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หนาย่น บานกลางคืน
ผล : เป็นฝักแบนยาว รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดแบนจำนวนมาก สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
[ads]
สรรพคุณ :
– ส่วนราก ใบ ดอก ผล ต้น ซึ่งจัดเป็นสมุนไพร “เพกาทั้ง 5” รวมกันจะมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณสมานแผล แก้อักเสบบวม แก้ท้องร่วง บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้เพื่อลม เพื่อเลือด
– รากมีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร เจริญอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต
– รากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการอักเสบ ฟกบวม
– ฝักอ่อน รับประทานเป็นผัก ช่วยในการขับผายลม บำรุงธาตุ
– เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ
– เปลือกต้น รสฝาดเย็น และขมเล็กน้อย เป็นยาสมานแผล ทำน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับเลือดดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ แก้บิด แก้อาการจุกเสียด
– เปลือกต้นตำผสมกับสุรา ใช้เป็นยากวาดประซะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง แก้ละองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้ ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ
– เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม ซึ่งได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์ รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
– นอกจากนี้เปลือกเพกา ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น แก้เบาหวาน แก้โรคมานน้ำ เปลือกต้มรวมกับสมุนไพรหลายชนิด แยกเอาน้ำมันมาทาแก้องคสูตร รักษาริดสีดวงทวารหนัก ทวารเบา แก้ฟกบวม แก้คัน
[yengo]
ข้อควรระวัง : ถ้ากินมากอาจทำให้เป็นต้อเนื้อที่ดวงตา, หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานฝักอ่อนของเพกา เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากฝักของเพกามีฤทธิ์ร้อนมาก !
เรามักจะไม่พบเห็นต้นเพกาปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากฝักของเพกามีรูปร่างคล้ายดาบหรือปลายหอก ตามความเชื่อโบราณ อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเลือกตกยางออกได้ และเพกายังเป็นชื่อเรียกของเหล็กประดับยอดพระปรางค์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายฝักของเพกา จึงถือว่าเป็นของสูงไม่คู่ควรแก่การนำมาปลูกไว้ในบ้าน แต่หากต้องการใช้ประโยชน์จากเพกา อาจเลือกปลูกไว้ตามไร่ตามสวนก็ดีหรือจะเลือกผลิตภัณฑ์ในรูปของยาสมุนไพรสำเร็จรูป หรือที่เรียกว่า แคปซูลเพกา ก็เป็นทางเลือกที่สะดวกอีกวิธีค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : ไข่เจียว.com