เพร็พ-เป๊ป กัน-แก้ เอชไอวี
advertisement
อารมณ์และความรู้สึกอยู่เหนือเหตุผลและการควบคุม ความหลงใหลและอารมณ์ใคร่ เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมานั่งเครียดในตอนนี้ เพียงเพราะคำพูดเดียว….. “ขอสดได้ไหม”
advertisement
ช : ขอสดได้ไหม?
ญ : ใส่ถุงเหอะ
ช : ผมกินเพร็พอยู่ ไม่ต้องกลัวหรอก นะนะนะ
ญ : จะดีเหรอ
ช : เอาเหอะ สนุก ๆ
ญ : อื้อ ก็ได้ . . . .
"ประโยคที่ดังข้างหู ประกอบกับอารมณ์ที่พุ่งพล่าน ทำให้ชั้นยอมเขาแต่โดยดี การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน นำมาซึ่งความสุขเพียงชั่วครู่ แต่สิ่งที่ตามมา ไม่มีใครรู้จนกว่าจะมานั่งทบทวนเรื่องราวอีกครั้งเมื่อมีสติ"
advertisement
ความสนุกเพียงชั่วคราวไม่กี่นาที กับสิ่งที่ต้องแลกมันคุ้มกันหรือไม่?
เมื่อผิดพลาดไปแล้วสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งกังวล…เครียด…หรือทุกข์ใจ แต่ควรหาวิธีการแก้ไข และเรียนรู้จากเหตุการณ์ดังกล่าว นั่นคือสิ่งที่ต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอ
สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมา คือ “ตั้งสติ” จึงจะเกิด “ปัญญา” ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่เผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้องเอชไอวีสามารถทานยาเป๊ป เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี โดยนายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ ประเทศไทย (PATH : path2health foundation) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเป๊ปเอาไว้ว่า
ยาเป๊ป (PEP ย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัส สำหรับผู้ที่เพิ่งผ่านการสัมผัสกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ถุงยางที่ใช้เกิดฉีกขาด หรือใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น โดยจำเป็นจะต้องทานให้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง และต้องทานติดต่อกันประมาณ 1 เดือน
advertisement
นอกจากนี้ ยังมียาเพร็พ (PrEP ย่อมาจาก PreExposure Prophylaxis) ที่เป็นอีกหนึ่งตัวยาสำคัญที่สามารถป้องกันเชื้อเอชไอวีในกลุ่มผู้ที่ไม่มีเชื้อแต่มีความเสี่ยงสูง ยาเพร็พ คือ ยาต้านไวรัสที่ให้ทานเป็นประจำเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เหมาะกับผู้ที่มีแฟนติดเชื้อเอชไอวี และต้องการมีเพศสัมพันธ์กับแฟน ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และผู้ที่ใช้ยาเสพติดบางกลุ่ม
ผู้ที่รับประทานยาเพร็พ ไม่ควรมองว่าเป็นวิธีแรกที่จะป้องกันเอชไอวี แต่ให้มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ เมื่อทานยาเพร็พเป็นประจำควบคู่ไปกับการใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะช่วยทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เป็นอย่างดี
นายแพทย์วัชระ กล่าวถึงผลกระทบของยาเพร็พที่เมื่อทานติดต่อกันเป็นประจำอาจจะส่งผลต่อการทำงานของไต ผู้ที่ทานยานี้ควรเช็คการทำงานของไตทุก 3-4 เดือนเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตามยังสนับสนุนให้คนไทยกินเพร็พเป็นประจำ เพราะกรณีเมาแล้วลืมสวมถุงยางอนามัย หรือเกิดฉีกขาด ก็ยังมีตัวยาเพร็พคอยป้องกันไว้อีกขั้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกินเพร็พแล้วก็ยังต้องใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคแผลริมอ่อน โรคเริม โรคหูดหงอนไก่ เป็นต้น
advertisement
“รู้จักยานี้จากเพื่อนครับ ที่กินก็เพราะว่ามีความเสี่ยง เพราะตนเองรักสนุก และเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้บังเอิญไปพลาดกับคนที่ใช้สารเสพติดมา เพื่อนเลยแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ และขอรับยาเป๊ปเพื่อป้องกันไว้ก่อน” คุณพีช นามสมมติ ผู้เคยทานยาเป๊ป เล่าประสบการณ์ตรงที่เคยกินยาเป๊ปเมื่อครั้งนานมาแล้วให้ฟังต่อว่า
“พอรู้ว่าสิ่งที่ทำไปมันเสี่ยง ก็วิตกกังวลมาก แต่ก็ปรึกษาเพื่อนสนิทและได้คำแนะนำให้ไปตรวจ ตอนอยู่หน้าคลินิกคิดอย่างเดียวเลยว่าถ้าเราอาย เราจะไม่ปลอดภัย ทำยังไงก็ได้ แต่เราจะต้องไม่เปนโรค วินาทีนั้นเลยสลัดความอายทิ้ง ขอแค่ตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน”
ในขณะเดียวกัน คุณโอ๊ต นามสมมติ ผู้ทานยาเพร็พ เล่าถึงการตัดสินใจที่กินยาเพร็พว่า มีเพศสัมพันธ์กับแฟนที่ติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าทุกครั้งจะสวมถุงยางอนามัย แต่ก็ต้องการหาวิธีป้องกันเพิ่ม เพราะจะรู้สึกอุ่นใจหากเกิดอะไรผิดพลาด และทำให้เราเต็มที่กับการมีเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ในยุคปัจจุบัน การมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วคราวเป็นเรื่องปกติ แต่รู้หน้าไม่รู้ใจ การรู้จักป้องกันเอาไว้ก่อนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
“อยากให้มองการเจาะเลือดตรวจเอชไอวีเป็นเหมือนการตรวจรักษาโรคเบาหวาน” นายแพทย์วัชระกล่าวเสริมว่าสนับสนุนให้ทุกคนตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยสามารถขอรับบริการเจาะเลือดตรวจเอชไอวีได้ที่โรงพยาบาลรัฐฯทั่วไป ซึ่งหากผลเลือดเป็นบวกก็จะได้รีบทำการรักษา แต่หากเป็นลบก็จะได้ปรึกษาเรื่องการกินยาเพร็พ
advertisement
กรณีผู้ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน แต่ต้องการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ติดต่อขอรับยาเพร็พ – เป๊ป หรือขอคำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์เลิฟแคร์สเตชั่น www.lovecarestation.com ผ่านทางห้องแชท โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มุ่งให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา และสังคม โดยเอชไอวีเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ยังไม่มียารักษา ดังนั้นการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถือเป็นการดูแลให้สุขภาพของตนเองปลอดภัย ห่างไกลจากเอชไอวี
ความสนุกชั่วครู่ อาจส่งผลต่ออนาคตของคุณ อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล เพราะมันอาจนำมาซึ่งภัยร้ายที่เราไม่ทันรู้ตัว การตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ และการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศได้ “รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะความสนุกเพียงชั่วคราว ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นายแพทย์วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ ประเทศไทย (Path2Health Foundation) / คุณโอ๊ต นามสมมติ ผู้ทานยาเพร็พ และคุณพีช นามสมมติ ผู้เคยทานยาเป๊ป