แพทย์แนะวิธีเยียวยา ‘เส้นเลือดขอด…ภัยความงาม’
advertisement
ภาวะเส้นเลือดขอดพบมากในคนไทย บางรายอาจมีอาการไม่มากเห็นเพียงเส้นเลือดแดงฝอยไปจนถึงโป่งมากขึ้นถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่ถ้าปล่อยไว้นาน อาจส่งผลกระทบตามมา แพทย์แนะวิธีดูแลปลอดจากเส้นเลือดขอด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หลอดเลือดดำที่บริเวณขา ประกอบด้วยลิ้นของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนในหลอดเลือดเป็นปกติ เมื่อเกิดภาวะที่ลิ้นเหล่านี้ทำงานผิดปกติจากปัจจัยต่างๆ เช่น อายุที่มากขึ้น กรรมพันธุ์ การยืนนานๆการตั้งครรภ์ หรือสาเหตุอื่นๆ ผนังของลิ้นหลอดเลือดจะมีการยืดตัวทำให้การไหลเวียนเลือดผิดปกติ เกิดการเพิ่มความดันในหลอดเลือดดำจนทำให้ขยายตัวมากขึ้น [ads]
advertisement
มีลักษณะเป็นเส้นเลือดฝอยแดง เส้นเลือดขอด ขาบวม สีคล้ำมากขึ้น ผื่นผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง จนเกิดเป็นแผล ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย แสบร้อนและมีตะคริวร่วมด้วย การรักษาเส้นเลือดขอดจำเป็นต้องตรวจเพิ่มโดยวิธีอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือด และวางแผนการรักษาของแพทย์ การรักษาภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติ อาจจะใช้เวลานานขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และรอยโรคตามผิวหนัง หรืออาการต่างๆ ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ทันที การรักษามีหลายวิธี [ads2]
advertisement
1. การผ่าตัดเส้นเลือดดำที่บริเวณต้นขา เหมาะในรายที่เส้นเลือดดำมีลักษณะขดมากไม่สามารถรักษาด้วยวิธี ผ่าตัดเล็กได้ ผลการรักษาดีแต่มีระยะเวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน
2. การรักษาโดยใช้สายสวนหลอดเลือดร่วมกับคลื่นความถี่วิทยุ หรือเลเซอร์ ใช้รักษาหลอดเลือดดำที่มีปัญหาลิ้นผิดปกติ จะมีแผลขนาดเล็กไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
3. การฉีดสารทำลายหลอดเลือดในรูปแบบโฟมภายใต้การอัลตราซาวนด์ ใช้รักษาในรายที่หลอดเลือดมีลักษณะขดไปมาไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีสายสวนได้
4. การรักษาด้วยเลเซอร์และสารทำลายหลอดเลือด ใช้ในการรักษาหลอดเลือดดำฝอย และเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เหมาะกับผู้ที่ไม่มีภาวะลิ้นหลอดเลือดดำผิดปกติ หรือผ่านการรักษาลิ้นหลอดเลือดมาแล้ว
advertisement
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดดำผิดปกติ คือไม่ควรยืนหรือนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานาน ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หรือขยับข้อเท้าหากไม่สามารถลุกออกจากที่นั่งได้ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเต็มที่ [ads3]
ควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจในเวลาพัก เช่น เอาหมอนหนุนที่บริเวณขาในท่านอน ยกขาสูงอย่างน้อย 10 นาที 1-2 ครั้งต่อวัน ออกกำลังกายตามสภาพอายุ เช่น เต้นแอโรบิค เล่นโยคะ เดินเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ช่วยให้ลิ้นของเส้นเลือดดำมีการเปิดปิดได้สะดวก และระบบเลือดในร่างกายหมุนเวียนดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หลีกเลี่ยงการอยู่ในภาวะที่กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เช่น ซาวน่า อบไอน้ำ โยคะร้อน อาบน้ำร้อนจัด
advertisement
นอกจากนี้ควรงดการใส่รองเท้ามีส้นสูง หรือใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป และที่สำคัญควรใส่ ถุงน่องที่มีความดันที่ปลายเท้าประมาณ 20-40 มิลลิเมตรปรอท จะทำให้หลอดเลือดดำสามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดี ลดภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำ ลดภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษา เช่น เส้นเลือดอักเสบลิ่มเลือดอุดตัน รอยดำ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และทำการวัดขนาดที่ถูกต้องก่อนการใช้งาน เพื่อให้ได้ความดันที่บริเวณข้อเท้า ที่เหมาะสมในการรักษา
ขอขอบคุณที่มาจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข