เหงือกบวม เหงือกอักเสบ..เรื่องที่ไม่ควรชะล่าใจ!!
advertisement
อวัยวะในช่องปาก อย่างส่วนเหงือกนั้น นับว่ามีความสำคัญมากๆ ที่เราต้องใส่ใจดูแลให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีอยู่เสมอ เพราะคนเราต้องใช้เหงือกและฟันในการบดเคี้ยวอาหารในทุกๆ วัน วันละหลายๆ ครั้ง ซึ่งหากว่า เราดูแลรักษาความสะอาดช่องปากไม่ดี นอกจากจะส่งผลให้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังจะนำมาซึ่งอาการเจ็บปวด ที่พบได้บ่อยๆ เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย ก็คืออาการเหงือกอักเสบ และอาการเหงือกบวม อาการแรกเริ่มสังเกตได้ว่าเมื่อแปรงฟันแล้วชอบมีเลือดออก ใครที่เป็นอยู่ไม่ควรชะล่าใจนะคะ
[ads]
advertisement
ลักษณะของสุขภาพเหงือก
เหงือกที่มีสุขภาพดี – เหงือกที่แข็งแรงจะมีความกระชับ และไม่มีเลือดออก
เหงือกอักเสบ – เหงือกมีอาการติดเชื้ออ่อนๆ เหงือกจะมีสีแดง บวม และมีเลือดออกขณะแปรงฟัน
เยื่อหุ้มฟันอักเสบ – เหงือกเริ่มร่น และไม่แนบกับฟัน ซึ่งทำให้คราบพลัคสามารถลุกลามไปยังรากฟัน เอ็นปริทันต์ และกระดูก เป็นอันตรายมาก
สัญญาณของอาการเหงือกบวก เหงือกอักเสบ
– มีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน อาการเช่นนี้แสดงว่าเหงือกเริ่มมีการอักเสบแล้ว
– เหงือกมีสีแดง ชมพูเข้ม แดงคล้ำ อาจบวม ดูเป็นมัน
– รู้สึกเจ็บ และปวดเวลาสัมผัสเหงือก
– มีกลิ่นปาก มีกลิ่นมากเมื่อเศษอาหารจะไปตกค้างบริเวณที่เหงือกอักเสบบวม
– สัมผัสได้ว่ามีรสชาติแย่ในปากอยู่ตลอดเวลา
– เหงือกจะเริ่มแยกตัวออกจากฟัน
– รู้สึกว่าฟันตัวเองยาวขึ้น
– เหงือกร่น
– มีหนองไหลออกมาจากร่องของเหงือก
– ฟันเริ่มโยก เพราะมีการละลายของกระดูกที่รองรับฟัน และเหงือกเป็นหนอง ซึ่งอาการฟันโยกนี้ แสดงว่าเป็นโรคเหงือกในระยะที่เป็นมากแล้ว
– เมื่อเคี้ยวอาหารแล้วฟันไม่สบฟันกันเหมือนเดิม
advertisement
สาเหตุของเหงือกอักเสบ
1. ไม่ดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี ไม่ขูดหินปูนเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์และหินปูน ซึ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรค
2. ยาบางชนิดหากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานก็มีผลทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้ เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาระงับชัก และยาโรคหัวใจ
3. เมื่อขาดสารอาหารบางประเภท เช่น แคลเซียม วิตามินบี วิตามินซี ก็อาจทำให้เกิดโรคเหงือกได้เช่นกัน
4. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเหงือกอักเสบที่รุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน
5. พันธุกรรม พบว่าผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ ร้อยละ 30 เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม
6. การสูบบุหรี่ มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 4-6 เท่า นอกจากนี้ สารทาร์ในบุหรี่ยังเป็นตัวเร่งการเกิดคราบหินปูนในผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดรุนแรงมากถึงร้อยละ 60
อันตรายของเหงือกอักเสบ
อันตรายของเหงือกอักเสบนั้น หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เกิดการอักเสบไปนานๆ จากที่อาการและความเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ นั้นก็จะกลับกลายมีความรุนแรงมากขึ้น คือ ฟันจะยื่นยาวมากขึ้น ฟันโยก รู้สึกเจ็บปวดเวลาเคี้ยวอาหาร เพราะเหงือก และกระดูกเบ้าฟันถูกทำลายจนต้องถอนทิ้ง อาจต้องทำการรักษาที่ยุ่งยากมากขึ้น และอาจไม่หายดีเท่าที่ควร
นอกจากนั้นยังอาจส่งผลที่ร้ายแรงยิ่งกว่า จากผลวิจัยชี้ชัดเจนว่า ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ก็ยิ่งจะยิ่งควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก ในหญิงมีครรภ์ก็จะมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้
advertisement
การป้องกันเหงือกอักเสบ
– แปรงฟันให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง
– เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสม มีขนแปรงอ่อนนุ่ม
– หลีกเลี่ยงการอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เพื่อถนอมฟัน แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ดื่มน้ำหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง เพื่อลดกรดในช่องปาก
– ไม่ควรแปรงฟันหลังทานอาหารทันที ควรรออย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากผิวฟันยังอ่อนนุ่มอยู่ อาจทำให้ฟันสึกได้
– ไม่ควรแปรงฟันนาน และรุนแรงเกินไป เพราะจะทำให้เหงือกเกิดการอักเสบได้
– พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก ๆ 6 เดือน
advertisement
การรักษาโรคเหงือกอักเสบ
– โรคเหงือกอักเสบในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาได้โดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีคราบพลัคสะสมเกิดขึ้น
– การทำความสะอาดโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือทันตแพทย์เป็นวิธีการเดียวที่จะสามารถกำจัดคราบพลัคที่แข็งตัวเป็นหินปูนได้ โดยทันตพทย์จะทำความสะอาด หรือขัดหินปูนในบริเวณด้านบนและด้านล่างของรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก ในกรณีที่อาการหนักมาก อาจจะต้องมีการวางแผนรักษารากฟัน ซึ่งแผนรักษารากฟันนี้จะลดการเกิดความระคายเคืองต่อรากฟัน ซึ่งจะทำให้คราบพลัคก่อตัวในบริเวณรากฟันได้ยากขึ้น
[ads]
จะเห็นได้ว่าเหงือกอักเสบ อันตรายกว่าที่คิดจริงๆ เลยนะคะ ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติใดๆ ในช่องปาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลรักษาช่องปาก และเพื่อให้แพทย์แก้ไขปัญหาให้ และอย่าลืมว่าโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพภายในช่องปาก อย่างไรก็ป้องกันดีกว่าแก้ไขนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : Kaijeaw.com